กลุ่ม 24 มิถุนาประชิปไตย จำนวน 20 คน นำโดย เจษฎา ศรีปลั่ง และเพลง ทับมาลัย เดินทางมาที่ทำการพรรคก้าวไกล โดยมีชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม และพลตำรวจตรีสุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคให้การต้อนรับ
เพลง ทับมาลัย และเจษฎา ศรีปลั่ง ได้อ่านแถลงการณ์กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย แสดงการชื่นชม พลตำรวจตรี สุพิศาล ที่ได้ออกมาน้อมรับความผิดพลาดจากการจับกุมอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง โดยจะใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในการแก้ไขมาตรา 112 และออกกฎหมายเอาผิดผู้พิพากษาที่บิดเบือนกฎหมายในการกลั่นแกล้งประชาชน
เพลง กล่าวว่า การยอมรับความผิดในอดีตนับเป็นความกล้าหาญทางจริยธรรมอย่างยิ่ง เป็นแบบอย่างของนักการเมืองที่มีสัจจะและตั้งมั่นที่จะทำงานรับใช้สังคม มุ่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำมาใช้เครื่องมือทำลายล้างทางการเมืองและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ปัจจุบันมีผู้ถูกจับกุมกว่า 92 รายแล้ว
ขณะที่เจษฎา เป็นตัวแทนกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ได้มอบรูปภาพของอำพล ตั้งนพคุณ หรืออากง ที่มีข้อความของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ที่ระบุว่า กรณีอากง ไม่มีใครมีความกล้าหาญทางคุณธรรมอย่างเพียงพอ คำนึงแต่ตำแหน่ง ทั้งที่เรื่องความถูกผิดเป็นเรื่องง่ายๆ ของความเป็นคน แต่ก็ทำให้คนแก่คนหนึ่งที่ไม่ใช่ผู้เล่นการเมืองอะไรทั้งสิ้น จบชีวิตลงอย่างน่าสงสารที่สุด
เจษฎา เปิดเผยว่า จากนี้กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย จะเดินสายพบพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้ทำการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และจะได้เข้าร่วมกับคณะราษฎรในการจัดชุมนุมใหญ่วันที่ 24 มิถุนายน 2564 เพื่อการยกเลิกมาตรา 112 ต่อไป
ด้านรังสิมันต์ กล่าวว่า อุปสรรคสำคัญการนำเสนอการแก้ไขมาตรา 112 นั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่เห็นด้วย โดยอ้างว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งทางพรรคก้าวไกล จะยืนยันต่อไปอีกว่า ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และยังจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการแก้ไขมาตรา 112 ในวงกว้างต่อไปเพื่อให้เกิดกระแสการเรียกร้องมาจากประชาชน
แถลงการณ์ กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย เรื่อง ชื่นชมกับความกล้าหาญน้อมรับผิดในอดีตเดินหน้าแก้ไข ม.112 ในปัจจุบัน
ตามที่ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะอดีตผู้บังคับการกองปราบปราม ระบุถึงกรณีที่เคยจับกุมคดีนายอำพล ตั้งนพกุล หรืออากง ผู้ถูกกล่าวหาในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อมาเสียชีวิตในเรือนจำ จนถูกสังคมมองว่า เป็นการใช้กฎหมาย ม.112 ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้ประกาศขอน้อมรับความผิดจากการจับกุมนายอำพลและการใช้กฎหมายดังกล่าว ว่า “ขอน้อมรับผิด ขออภัยต่อดวงวิญญาณอากงและครอบครัว และขอใช้เวลาทั้งชีวิตเพื่อทำงานแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวในอดีตเดิมที่อยู่ในวังวนของการครอบงำ” ทางกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ขอแสดงความชื่นชมในการยอมรับความผิด เพราะสังคมในปัจจุบันหากจะเข้าสู่การปรองดองได้นั้น ผู้ที่มีส่วนในที่ทำให้เกิดความสูญเสีย จำเป็นต้องยอมรับความจริงและขอโทษต่อผู้สูญเสียและครอบครัว การออกมายอมรับผิดในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรมของนักการเมือง ที่จะเป็นแบบอย่างให้นักการเมืองคนอื่น ที่ในอดีตมีส่วนร่วมทำให้ประชาชน ผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจากการเรียกร้องประชาธิปไตยออกมาแสดงความรับผิดชอบและออกมาขอโทษ เฉกเช่นเดียวกับ พล.ต.ต.สุพิศาล เพื่อไม่ให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด
กฎหมายมาตรา 112 ในปัจจุบันถึงถูกนำมาเป็นคู่ขัดแย้งระหว่างภาครัฐที่นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการกำจัดศัตรูทางการเมืองเพื่อให้ถูกจองจำ กล่าวคือกลุ่มราษฎร ผู้ที่เรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย กฎหมายมาตรา 112 นี้ ส่งผลให้เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ถูกรัฐบาลฟ้องเอาผิดอย่างน้อย 92 ราย และการประกันตัวในคดีนี้ ส่วนมากต้องยอมรับเงื่อนไขจำกัดเสรีภาพเพื่อไม่ให้กระทำความผิดซ้ำตามที่ถูกกล่าวหา ทางกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยจึงได้เห็นปัญหาของการบังคับใช้และการมีอยู่ของกฎหมายดังกล่าว คือ กฎหมายนี้ ผู้ฟ้องร้องจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย รวมทั้งบทลงโทษนั้นหนักเกินไป กล่าวคือ จำคุกไว้ที่สามถึงสิบห้าปี เมื่อศาลตัดสินว่ากระทำความผิดจริงหนึ่งครั้ง โทษอย่างน้อยที่สุดที่ศาลจะลงโทษได้ คือ สามปี แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่เล็กน้อยเพียงใดศาลก็ไม่อาจลงโทษต่ำกว่านั้นได้ และไม่มีขอบเขตชัดเจนละถูกตีความหมายกว้างเกินไป อย่างกรณีนายสุทธิพงศ์ ทัดพิทักษ์กุล หรือฮาร์ท นักร้องชื่อดัง ถูกรัฐบาลเข้าแจ้งความ คดี ม.112 เพราะโพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาคำว่า “เจ้านาย” เป็นต้น
ปัญหาดังกล่าวข้างต้น ทำให้กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย สนับสนุนการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ตามที่พรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของเยาวชนคนหนุ่มสาวในปัจจุบัน และข้อเสนอเหล่านี้จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ร่วมกับสถาบันประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยบนสิทธิเสรีภาพอย่างผาสุก