ไม่พบผลการค้นหา
ถ้อยแถลง ‘ประยุทธ์’ ต่อบัตรทองบนเวทียูเอ็น สวนทางข้อเท็จจริง - กางเอกสารสำนักงบประมาณพบงบหลักประกันสุขภาพ 12 ปีเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.8 ต่อปี ครอบคลุม 48 ล้านคน งบต่อหัวเพิ่มไม่ถึง 2 พันบาท เทียบงบสวัสดิการขรก.พุ่งร้อยละ 15 ครอบคลุม 5 ล้านคน ปี 2570 งบจ่ายเฉลี่ยต่อหัว ยังห่าง ข้าราชการได้ 1.36 หมื่น บัตรทองเพียง 5 พัน

ถ้อยแถลงบนเวทีสมัชชาสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในการประชุมเต็มคณะหัวข้อ "หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า" ยังคงเต็มไปด้วยความสงสัยงุนงงราวกับพล.อ.ประยุทธ์มีหลายตัวตน 

เพราะยามอยู่ประเทศไทยแสดงออกอย่างไม่กระมิดเมี้ยนว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของคนจนคือ ภาระงบประมาณ ไม่ต่างจากประชานิยม ทวงบุญคุณวางตนคือผู้จัดหารายได้ และขอร้องให้เลิกเชิดชู 'ไอ้คนริเริ่ม' ซึ่งเป็นคนเดียวกับ 'ไอ้คนที่อยู่เมืองนอก'

ทว่าเมื่อขึ้นเวทีโลก พล.อ.ประยุทธ์กลับกลายเป็นคนละคน อวดอ้างนำเสนอสถาปนาตนเป็นผู้รู้ บอกให้ประชาคมโลกดูไทยเป็นตัวอย่าง พร้อมให้ยินดีให้บริการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ 

ประยุทธ์ หลักประกันสุขภาพ ยูเอ็น 040000000.jpg


ขณะที่ เนื้อหาสาระบนเวทีก็ทำให้ต้องสงสัยว่า 'ข้อมูล' ที่พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอ้างราวผู้รอบรู้นั้นมาจากไหน เพราะ 'ข้อเท็จจริง' ในสังคมไทยนั้น คนละเรื่องกับเรื่องราวสวยหรูตามที่ป่าวประกาศ ดังนี้ 

  • งบหลักประกันสุขภาพแค่ร้อยละ 9.8 ครอบคลุม 48 ล้านคน

พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า "รัฐบาลไทยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จัดสรรงบประมาณร้อยละ 15"

แต่ในรายงานวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 7/2560 ระบุว่า 'ข้อมูลรายจ่ายด้านสุขภาพย้อนหลังตั้งแต่ปี ‪2550-2561‬' เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนี้

1B8E50E6-F732-4E4B-BAC1-3C25E08BAB89.jpeg

ข้อมูลจาก: รายงานวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 7/2560

ปี 2550 วงเงิน 148,704.5 ล้านบาท 

ปี 2551 วงเงิน 154,140.1 ล้านบาท 

ปี 2552 วงเงิน 169,633 ล้านบาท 

ปี 2553 วงเงิน 178,432.4 ล้านบาท 

ปี 2554 วงเงิน 208,093.4 ล้านบาท 

ปี 2555 วงเงิน 220,411.3 ล้านบาท 

ปี 2556 วงเงิน 254,793.5 ล้านบาท 

ปี 2557 วงเงิน 252,996.3 ล้านบาท 

ปี 2558 วงเงิน 261,113.1 ล้านบาท 

ปี 2559 วงเงิน 274,231.2 ล้านบาท 

ปี 2560 วงเงิน 295,582.6 ล้านบาท

ปี 2561 วงเงิน 303,517.1 ล้านบาท 

แต่ตลอด 12 ปีที่ผ่านมานี้ มีสัดส่วนค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างร้อยละ 9.8 ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี ไม่ถึงร้อยละ 15 อย่างที่พล.อ.ประยุทธ์ว่าไว้แต่อย่างใด   

  • 15 ปี งบต่อหัวเพิ่มไม่ถึง 2 พันบาท ยุคคสช. ไร้สิทธิประโยชน์-คงค่าใช้จ่าย

งบประมาณหลักแสนล้านบาทสำหรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพนี้ ดูแลครอบคลุมประชาชนมากที่สุด ในบรรดาทุกกองทุนที่ 48 ล้านคนในปัจจุบัน เมื่อแจกแจงออกมาเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัวนั้นจึงอยู่เพียงหลักพัน

ในรายงานพบว่า นับจากแรกเริ่มโครงการในปี 2545 อัตราเหมาเฉลี่ยต่อหัว 1,202.40 บาท จนถึงปี 2559 อัตราเหมาเฉลี่ยต่อหัว 3,028.94 ตลอด 15 ปี อัตราเหมาเฉลี่ยต่อหัวเพิ่มมาเพียง 1,826.54 บาทเท่านั้น

ระหว่างปี 2557 - ปี 2558 ซึ่งอยู่ในยุครัฐบาลทหาร ที่พล.อ.ประยุทธ์ หัวหน้าคสช.ยึดอำนาจนั้น ไร้การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ และงบอัตราเหมาเฉลี่ยต่อหัวไม่มีการเพิ่มขึ้น โดยคงอยู่ที่ 2,895.09 บาท

ทั้งนี้ งบอัตราเหมาจ่ายรายหัว ยังหมายรวมถึงเงินเดือนของบุคลากรทางการแพทย์ด้วย เกิดผลกระทบสถานพยาบาลภาครัฐได้รับงบประมาณสำหรับผู้ป่วยลดลง กลายเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกและไม่เคยมีใครได้เห็นแนวทางการแก้ไขในยุครัฐบาลคสช.ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งที่ไม่มีฝ่ายค้านเลย   

  • คาด 9 ปีข้างหน้า งบก็ไม่เกินร้อยละ 10 เทียบเท่า งบ ‘สังคมสงเคราะห์-ป้องกันประเทศ’

รายงานฉบับดังกล่าว ยังประมาณการค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอีก 9 ปีข้างหน้า หรือระหว่างปี ‪2562-2570‬ ว่า ในปี 2570 งบประมาณด้านสุขภาพจะขึ้นไปสูงสุดที่ 588,532.7 ล้านบาท คาดว่า ยังมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายในแต่ละปี

62BB78C8-055F-41EF-B52A-D0767577AF50.jpeg

ข้อมูลจาก: รายงานวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 7/2560

นอกจากนี้ จำนวนงบประมาณไม่เกินร้อยละ 10 สำหรับการสาธารณสุขนั้น ยังมีการนำไปเทียบตามลักษณะงานอื่นๆ ก็จะพบว่า สัดส่วนสููงเป็นลำดับที่ 3 รองจากการบริหารงานทั่วไปของรัฐ และการเศรษฐกิจ ซึ่งใกล้เคียงกับ การสังคมสงเคราะห์ และการป้องกันประเทศ ที่หลายฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่า การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์นั้นไม่ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด 

D56EC18E-A395-4111-8094-0B8E93161649.jpeg

ข้อมูลจาก: รายงานวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 7/2560

  • สุดเหลื่อมล้ำ งบสวัสดิการขรก.พุ่งร้อยละ 15 ครอบคลุมแค่ 5 ล้านคน 

สำหรับคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า "ความเท่าเทียม รัฐบาลไทยได้พัฒนาระบบสาธารณสุขเพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง" นั้น ข้อมูลจากรายงานฉบับเดียวกัน ก็สวนทางเช่นคำกล่าวของพล.อ.ประยุทธ์ 

0EDDCFF2-9D4B-4E60-997F-FD929E67EC80.jpeg

ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม จากรายงานของคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พบว่า ระหว่างปี 2546-2556 งบระบบบริการสุขภาพของ 'สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ' ที่ดูแล 5 ล้านคน จาก 22,686 ล้านบาท เป็น 59,558 ล้านบาท กับ 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' ดูแล 48 ล้านคน จาก 55,810 ล้านบาท เป็น 141,540 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวทั้งสองระบบ 

0AB9C286-B91A-41AF-8229-4FCB81C9985C.jpeg

เมื่อแยกเป็นรายจ่ายต่อหัวจะพบว่ามีความแตกต่างกัน โดย 'สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ' นั้น จาก 5,663 บาท เป็น 12,534 บาท ส่วน 'หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า' จาก 1,202 บาท เป็น 2,922 บาท

ขณะที่ รายงานฉบับสมบูรณ์งานวิจัย การคลังสุขภาพสำหรับระบบบริการสุขภาพพึงประสงค์ สำนักวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ระบุว่า อัตราการขยายตัวของแต่ละระบบนั้นต่างกัน โดย สวัสดิการข้าราชการขยายตัว ร้อยละ 14.90 สูงกว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ ร้อยละ 10.80 

  • ย้อนทศวรรษ 40 พุ่ง 6 เท่า เบิกจ่ายสูงเกินจริง ค่าเฉลี่ยต่อหัว ทิ้งหลักประกันสุขภาพ 4 เท่า หรือ 1 หมื่นบาท 

"ระบบสวัสดิการข้าราชการ มีผู้ใช้สิทธินี้ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนประชากร แต่ช่วงระยะเวลาเพียง 13 ปี ระหว่าง 2531-2544" ค่าใช้จ่ายของระบบรักษาพยาบาลนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 6 เท่า และมีค่าใช้จ่ายจริงสูงกว่างบประมาณที่ตั้งไว้ทุกปี" รายงานสำนักงบประมาณของรัฐสภาระบุ 

เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายอัตราเฉลี่ยต่อหัว ข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อคนต่อ ปี 2553-2561 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ประกอบกับข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550-2561 พบว่า ย้อนหลัง 5 ปี นั้น งบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จาก 3,120 บาท ในปี 2557 เป็น 3,625 บาทในปี 2561 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.82 ส่วน สวัสดิการข้าราชการนั้น แม้ช่วงเดียวกันจะมีค่าคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นหรือลดลง แต่งบต่อหัวนั้นอยู่ที่ 13,600 บาท ห่างกันราว 10,000 บาท หรือคิดเป็นเกือบ 4 เท่า 

  • ปี 2570 งบต่อหัวยังห่าง ข้าราชการ 1.36 หมื่น บัตรทองแค่ 5 พัน 


308FE66B-EE14-439F-8072-68D27A59DB03.jpeg

ความเหลื่อมล้ำนี่ยิ่งตอกย้ำว่าจะยังดำรงอยู่ต่อไปในอนาคต เมื่อรายงานจากสำนักงบประมาณของรัฐสภา คำนวณต่อยอดจากข้อมูลข้างต้น ตั้งแต่ปี 2562 - 2570 พบว่า งบข้าราชการต่อหัวซึ่งคงที่อยู่ที่ 13,600 บาทนั้น จะยังมากกว่า งบหลักประกันสุขภาพ ที่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องดังนี้

ปี 2562 งบต่อหัวอยู่ที่ 3,763 บาท

ปี 2563 งบต่อหัวอยู่ที่ 3,906 บาท

ปี 2564 งบต่อหัวอยู่ที่ 4,055 บาท

ปี 2565 งบต่อหัวอยู่ที่ 4,209 บาท

ปี 2566 งบต่อหัวอยู่ที่ 4,347 บาท

ปี 2567 งบต่อหัวอยู่ที่ 4,513 บาท

ปี 2568 งบต่อหัวอยู่ที่ 4,685 บาท

ปี 2569 งบต่อหัวอยู่ที่ 4,863 บาท

ปี 2570 งบต่อหัวอยู่ที่ 5,048 บาท

ดังนั้นในอีก 9 ปีข้างหน้า งบสุขภาพที่ดูแลประชากร 48 ล้านคน ก็ยังห่างจาก งบสวัสดิการข้าราชการ ที่ดูแลประชากร 5 ล้านคน โดยมีส่วนต่างค่าเฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 8,552 บาท หรือคิดเป็นราว 3 เท่า ความเหลื่อมล้ำทางงบประกันสุขภาพก็ยังคงความเหลื่อมล้ำต่อไป

ข้อมูลจาก:

รายงานวิชาการสำนักงบประมาณของรัฐสภา ฉบับที่ 7/2560

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม จากรายงานของคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

ข้อมูลค่าใช้จ่ายต่อคนต่อ ปี 2553-2561 จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ประกอบกับข้อมูลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550-2561

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: