ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลแห่งประเทศไทย จี้รัฐให้เร่งหาตัวฆาตกรและผู้อยู่เบื้องหลังเหตุฆาตกรรม "บิลลี่" พร้อมขอให้สร้างสวัสดิภาพและคุ้มครองครอบครัว "บิลลี่" อย่างเป็นรูปธรรม

เครือข่ายกะเหรี่ยงและชาวเลแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ตามที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และองค์กรที่เป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ หรือ กคพ. ได้ร่วมกันแถลงข่าววานนี้ (3 ก.ย.) ยืนยันว่าสารพันธุกรรมชิ้นส่วนกระดูกที่พบใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน ตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักปกป้องสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอุ้มหายไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการพิจารณาจากสถานที่เกิดเหตุ พยานหลักฐานอื่นประกอบ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษจึงเชื่อว่า "วัตุดังกล่าวเป็นกระดูกของนายพอละจี ที่เสียชีวิตแล้ว โดยไม่ทราบวิธีที่ทำให้ตาย แต่นำมาเผาทำลายเพื่ออำพรางคดี อีกทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษยังได้ชี้ว่า พฤติการของกลุ่มคนร้ายที่กระทำผิดครั้งนี้เข้าข่ายลักษณะเป็นการฆาตกรรมโดยการทรมาน และการบังคับบุคคลให้สูญหายที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ"

เครือข่ายฯ ซึ่งได้ร่วมประชุมเพื่อผลักดันมติคณะรัฐมนตรี 3 ส.ค. 2553 และ 2 มิ.ย. 2553 ให้มีผลในเชิงปฏิบัติเพื่อปกป้องและคุ้มครองวิถีของทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย ณ สถานที่แห่งนี้ ขอแถลงท่าทีและข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. ขอชมเชยและเป็นกำลังใจกับเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และองค์กรที่เป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ ทุกท่านที่ทุ่มเทการทำงานด้วยความานะพยายามจนสามารถชี้วัตถุพยานหลักฐานสำคัญประกอบการสอบสวนในคดีอุ้มหาย "บิลลี่" อันจะมาซึ่งการคืนความเป็นธรรมให้แก่ครอบครัวและชุมชน รวมถึงเครือข่ายกะเหรี่ยงและทุกกลุ่มชาติพันธุ์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมทั้งถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายกรณีและถูกลิดรอนสิทธิด้านต่างๆ

2. จากความคืบหน้าอันเกิดจากพยานหลักฐานชิ้นสำคัญดังกล่าว เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดดำเนินการนำเอาตัวผู้กระทำผิดและผู้อยู่เบื้องหลังมาลงโทษ โดยเร่งด่วนและให้เร่งดำเนินคดีกรณีการวางเพลิงเผาทรัพย์ชุมชนบ้านใจแผ่นดิน-บางกลอยบนกว่า 100 หลัง รวมทั้งบ้านปู่คออี้ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการใดๆ เลย

3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 และ 2 มิ.ย. 2553 ในการคุ้มครองวิถีชีวิตกะเหรี่ยงและชาวเลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดกรณีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมบ้านใจแผ่นดิน - บางกลอยบน ซึ่งบิลลี่ เป็นผู้ประสานงานในการฟ้องร้องดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจนได้รับชัยชนะในคดีศาลปกครองสูงสุด

4. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลมีกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษชนอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการออกกฎหมายว่าด้วยการกระทำทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญ ตามหลักสากลของสหประชาชาติว่าด้วยอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายสาบสูญโดยถูกบังคับซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามแล้วเมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2555 แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีจึงไม่มีสภาพบังคับอย่างใด

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ จะได้ติดตามความคืบหน้ากรณี "บิลลี่" ถูกอุ้มหายจนพบหลักฐานสำคัญว่าเขาได้เสียชีวิตไปแล้วอย่างโหดเหี้ยม ให้ได้รับความเป็นธรรมโดยเร่งด่วน ทั้งการนำคนผิดมาลงโทษ การเยียวยาครอบครัวและออกกฎหมายคุ้มครองนักปกป้องสิทธิให้เกิดขึ้นโดยเร็วต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง