ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจฮ่องกงบุกจับผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลใน ม.โพลีเทคนิค ซึ่งถูกปิดล้อมข้ามคืน มีการยิงธนู-ขว้างระเบิดขวดใส่ ตร. แต่เจอสวนกลับด้วยแก๊สน้ำตากับกระสุนจริง ด้านทหารจีนแผ่นดินใหญ่อาสาเก็บกวาดที่ชุมนุมเผยแพร่ 'พลังบวก'

ซีเอ็นเอ็นระบุ ดัชนีฮั่งเส็งของตลาดหุ้นฮ่องกงเปิดตลาดโดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.3 เปอร์เซ็นต์ช่วงเช้าวันนี้ (18 พ.ย.) หลังตำรวจหน่วยปราบปรามจลาจลฮ่องกงปิดล้อมมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคฮ่องกงตลอดคืนที่ผ่านมา ก่อนจะระดมกำลังบุกจับกุมผู้ที่อยู่ด้านในและรอบสถาบันการศึกษาดังกล่าวนับร้อยคน ทั้งยังมีผู้ที่ติดอยู่ในอาคารอีกเป็นจำนวนมาก

ตำรวจฮ่องกงเผยแพร่คลิปวิดีโอการล้อมปราบผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ปฏิบัติการครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อระงับการก่อเหตุของผู้ก่อจลาจล เนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลได้รวมตัวกันต่อเนื่อง 5 วันในย่านธุรกิจใจกลางฮ่องกง และมีการเผชิญหน้ากันเกิดขึ้น ผู้ชุมนุมบางรายใช้ธนู ระเบิดขวด และของแข็งต่างๆ โจมตีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำไปสู่การตอบโต้ด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนจริงในบางเหตุการณ์ ทั้งยังมีชายวัย 70 ปี เสียชีวิตเพราะถูกของแข็งกระแทกใกล้กับพื้นที่ชุมนุมอีกด้วย

สื่อต่างประเทศรายงานด้วยว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน หรือ PLA ซึ่งประจำการในฮ่องกง ได้ออกมาทำกิจกรรมนอกค่ายทหารเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี เมื่อ 16 พ.ย.ที่ ผ่านมา โดยทหารหลายสิบนายได้ออกมาเก็บกวาดพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มต่อต้านรัฐบาล และให้สัมภาษณ์กับสื่อในท้องถิ่นว่าพวกเขาต้องการ 'เผยแพร่พลังบวก' เพื่อยุติความรุนแรงและเหตุการณ์ไม่สงบ

AFP-สภาพ ม.โปลิเทคนิคฮ่องกงหลังถูกตำรวจบุกปราบผู้ชุมนุม.jpg
  • สัมภาระของผู้ชุมนุมถูกทิ้งไว้หน้าสหภาพนักศึกษามหาวิทยาลัยโพลิเทคนิคฮ่องกงหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าจับกุม

เดอะการ์เดียนรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อผู้สื่อข่าวท้องถิ่นถามถึง 'พลังบวก' ที่กองทัพต้องการเผยแพร่คืออะไรบ้าง เพราะคำพูดดังกล่าวสอดคล้องกับถ้อยคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ระบุว่าผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงเป็นผู้ก่อกวนความสงบ นายทหารคนดังกล่าวจึงตอบว่า เขาไม่ให้สัมภาษณ์สื่อแล้ว ส่วนทหารอีกนายหนึ่งใช้มือปิดหน้ากล้องที่ช่างภาพใช้บันทึกการสนทนาดังกล่าว


ทหารจีน'เก็บกวาด' ถนนฮ่องกง หมายความว่าอย่างไร?

'สตีฟ จาง' นักวิชาการของมหาวิทยาลัย SOAS ในกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการปกครองของจีน แสดงความกังวลต่อการปรากฏตัวของทหารจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกง โดยระบุว่า ทหาร PLA ที่ประจำการในฮ่องกง เป็นหน่วยที่ขึ้นชื่อเรื่องความมีวินัยเคร่งครัด ทั้งยังเป็นศูนย์รวมของหน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ จึงเป็นไปไม่ได้ที่ทหารเหล่านี้จะ'อาสา' ออกมาทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองด้วยตัวเอง แต่น่าจะรับคำสั่งมาจากผู้บังคับบัญชามากกว่า

จางมองว่าการปรากฏตัวตามท้องถนนของทหารจีนแผ่นดินใหญ่เหล่านี้ 'ไม่ใช่' การเผยแพร่พลังบวก แต่น่าจะเป็นการเตือนให้ผู้ชุมนุมตระหนักว่า จีนพร้อมส่งทหารเข้าแทรกแซงหรือควบคุมสถานการณ์ในฮ่องกงได้ทุกเมื่อ

นอกจากนี้ จางยังเกรงว่าการส่งทหาร PLA ออกมานอกค่ายจะยิ่งเป็นการยั่วยุให้ผู้ชุมนุมฮ่องกง 'สู้ตาย' เพราะช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมที่เป็นคนรุ่นใหม่หลายรายได้เขียนพินัยกรรมเตรียมเอาไว้ในกรณีเกิดเหตุถึงชีวิต โดยพวกเขาได้แสดงเจตจำนงในการต่อสู้ของตัวเองเอาไว้แล้ว การออกมาเคลื่อนไหวของทหาร PLA จะยิ่งทำให้ผู้ชุมนุมรู้สึกโกรธเกรี้ยวและตอบโต้อย่างรุนแรงมากกว่าจะหวาดกลัวและสลายการชุมนุม

อย่างไรก็ตาม หนังสือพิมพ์ 'โกลบัลไทม์ส' สื่อกระบอกเสียงรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ รายงานอ้างอิงแห่งข่าวที่ใกล้ชิดกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องตีความไปไกลว่ากองทัพจีนจะทำอะไรต่อไป เพราะการที่ทหาร PLA ปรากฏตัวบนท้องถนนที่ฮ่องกงเป็นเพียงความตั้งใจที่จะ 'ทำความสะอาด' เท่านั้น


การประท้วงที่เริ่มด้วยความหวัง-ยกระดับสู่ความรุนแรง

การชุมนุมของชาวฮ่องกงในครั้งนี้ เริ่มต้นจากการรวมตัวประท้วง 'ร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจากฮ่องกงไปยังจีนแผ่นดินใหญ่' เมื่อกลางปีที่ผ่านมา และช่วงแรกเป็นการชุมนุมอย่างสงบ เพื่อกดดันให้รัฐบาลฮ่องกงถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกไป เพราะผู้ชุมนุมมองว่าร่าง กม.ดังกล่าวเป็นภาพสะท้อนการใช้อำนาจแทรกแซงฮ่องกงของจีนแผ่นดินใหญ่

AFP-18112019 ตำรวจจับผู้ประท้วงฮ่องกงหลังบุกโปลิเทคนิค.jpg
  • ผู้ชุมนุมและนักศึกษาถูกตำรวจฮ่องกงควบคุมตัว

ผู้ชุมนุมจำนวนมากระบุว่า จีนกำลังจะทำให้ฮ่องกงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของจีน และขัดขวางไม่ให้มีการปฏิรูประบบการเมืองฮ่องกง ไม่เคารพข้อตกลงในอดีตตอนที่อังกฤษส่งมอบฮ่องกงคืนให้จีนเมื่อปี 1997 ที่ระบุว่าฮ่องกงจะต้องเป็นเขตบริหารพิเศษภายใต้กรอบ 'หนึ่งประเทศ สองระบบ' ซึ่งมีสิทธิที่จะปกครองตัวเองด้วยระบบการเมือง กฎหมาย เศรษฐกิจ และการเงินที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมเป็นระยะเวลา 50 ปีหลังจากฮ่องกงกลับคืนสู่จีน

อย่างไรก็ตาม ชาวฮ่องกงจำนวนมากไม่รู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนจีนหรือเป็นหนึ่งเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะหลายคนเติบโตมาในยุคที่อังกฤษส่งเสริมเรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองและพยายามผลักดันการเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน พวกเขาจึงไม่พอใจที่จีนแผ่นดินใหญ่พยายามแทรกแซงระบบการเมืองและกฎหมายของฮ่องกงในช่วง 22 ปีที่ผ่านมา เช่น การพยายามแทรกแซงหลักสูตรการศึกษาในฮ่องกงให้มีการเรียนรู้เพิ่มเติมเรื่องจีนแผ่นดินใหญ่

ก่อนหน้านี้เคยมีการรวมตัวครั้งใหญ่ที่นำโดยนักเรียน-นักศึกษาและอาจารย์ในฮ่องกงเมื่อปี 2014 เพื่อกดดันให้มีการปฏิรูประบบการเมือง และเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารฮ่องกงโดยตรง ทำให้เกิดการปักหลักยืดเยื้อหลายเดือน และการชุมนุมครั้งนั้นได้ถูกเรียกว่า 'อ็อกคิวพายเซ็นทรัล' หรือ 'การปฏิวัติร่ม' แต่จีนและรัฐบาลฮ่องกงไม่ได้ทำตามข้อเสนอของผู้ชุมนุม หลังจากนั้นแกนนำหลายคนก็ถูกจับกุมตั้งข้อหาและถูกลงโทษจำคุก

ส่วนการชุมนุมครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. เพื่อต่อต้านร่าง กม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน ก่อนจะยกระดับเป็นการต่อต้านจีนแผ่นดินใหญ่ที่แทรกแซงรัฐบาลฮ่องกง ต่อจากนั้นเป็นการกดดันให้ 'แคร์รี่ หล่ำ' ผู้บริหารฮ่องกง ลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงเรียกร้องให้ลงโทษตำรวจที่ใช้กำลังกับผู้ชุมนุมจนบาดเจ็บ แต่รัฐบาลฮ่องกงปฏิเสธข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็น 'ผู้ก่อจลาจล' และยืนยันว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่ง


ไม่รู้จะจบอย่างไร และอาจจะเลี่ยงความรุนแรงไม่ได้

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงในครั้งนี้ไม่มีแกนนำชัดเจน ผู้ชุมนุมมักสื่อสารและนัดชุมนุมกันผ่านเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์หรือแอปพลิเคชันสมาร์ตโฟน และการชุมนุมจะกระจายไปยังจุดต่างๆ ก่อนที่จะแยกย้ายกันไป โดยไม่ได้เป็นการปักหลักชุมนุมที่ใดที่หนึ่งยาวนานเหมือนตอนปี 2014 การชุมนุมในครั้งนี้จึงไม่มีชัยภูมิที่ชัดเจนและยากที่จะรับมือ

แม้ผู้ชุมนุมจำนวนมากจะพยายามจำกัดพื้นที่และสื่อสารกับคนในสังคมอยู่บ่อยๆ แต่การชุมนุมในระยะหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ารุนแรงเกินกว่าเหตุ เพราะมีการปิดสถานีรถไฟ ท่าอากาศยานและห้างสรรพสินค้า ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านรัฐบาลในฮ่องกง สะท้อนความขัดแย้งที่บานปลายไปสู่ระดับปัจเจกบุคคล ทั้งยังกระทบต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวฮ่องกงหนักที่สุดนับตั้งแต่ปี 1997 เป็นต้นมา

AFP-ภาพมุมกว้างตำรวจปราบผู้ชุมนุมประท้วงฮ่องกง-18112019.jpg
  • ภาพมุมสูงแสดงการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจฮ่องกง

ด้าน 'เจอโรม เอ. โคเฮน' นักวิชาการด้านจีนศึกษาของมหาวิทยาลัย NYU เผยกับ SCMP ว่าการชุมนุมครั้งนี้มาไกลมากแล้ว หากรัฐบาลจีนและฮ่องกงต้องการหลีกเลี่ยงความรุนแรงก็ควรตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย พร้อมระบุว่า ผู้ชุมนุมไม่ไว้วางใจทั้งรัฐบาลจีนและฮ่องกง เพราะเหตุการณ์ในอดีตหลายครั้งบ่งชี้ว่าข้อเรียกร้องของพวกเขาไม่เคยได้รับการตอบสนองอย่างแท้จริง

ส่วนรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ได้กล่าวหา 'ต่างชาติ' ว่าพยายามยุยงปลุกปั่น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความไม่สงบในฮ่องกง พร้อมยืนยันสนับสนุน 'แคร์รี หล่ำ' ให้ทำหน้าที่ผู้บริหารฮ่องกงต่อไป ขณะที่สื่อกระบอกเสียงของรัฐบาลหลายสำนักระบุว่า ผู้ชุมนุมฮ่องกงเป็นผู้ก่อความไม่สงบ เข้าข่าย 'ก่อการร้าย' และ 'หัวรุนแรง'

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ที่ให้สัมภาษณ์สื่อ มักจะเป็นเพียงนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป แต่ก็มีผู้ชุมนุมบางกลุ่มเช่นกันที่ประกาศใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่ ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าการชุมนุมอาจจบลงด้วยการใช้กำลังอาวุธเข้าล้อมปราบเหมือนกับที่จีนแผ่นดินใหญ่เคยสังหารผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989

นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศ รวมถึงไทย เตือนพลเมืองของตนที่อยู่ในฮ่องกง หรือมีกิจธุระต้องไปยังฮ่องกง ให้ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ประท้วงอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งย้ำให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ชุมนุมเพื่อป้องกันอันตราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: