ไม่พบผลการค้นหา
ติดโควิดใหม่พุ่งทำลายสถิติระลอกใหม่ 2,070 ราย คร่าชีวิตหญิงวัย 29 ปี โฆษก ศบค.ติงโซเชียลถล่มภาพแชร์สายด่วน บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน ยอมรับหากยอดติดเชื้อยังพุ่งต่อเนื่องจะกระทบวิกฤตเตียงรักษาแน่ เผยทั้งประเทศมีเตียงรักษา 1,000 เตียงใช้ได้อีก 3 สัปดาห์

เวลา 11.30 วันที่ 23 เม.ย. 2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงชี้แจงกรณีมีการแชร์ข้อมูลว่าวันที่ 23 เม.ย. จะมีการประกาศเคอร์ฟิวในกรุงเทพฯ นั้นเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง แม้ตัวเลขวันนี้จะมีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศจะอยู่ที่ 2,070 ราย ถือเป็นยอดสูงสุดในระลอกนี้ ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ที่ 50,183 ราย หายป่วยแล้ว 30,189 ราย ส่วนเสียชีวิตสะสม 121 ราย

สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตใหม่ 4 รายนั้นเป็นผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อรายที่ 118 ชายไทย 72 ปี อยู่กรุงเทพฯ ปฏิเสธโรคประจำตัว รายที่ 119 ชายไทย 74 ปี จ.สงขลา มีโรคความดันโลหิตสูง

รายที่ 120 เป็นหญิง 29 ปี จ.สมุทรปราการ โรคอ้วน และรายที่ 121 ชายไทย อายุ 83 ปี จ.สมุทรปราการ โรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไตเรื้อรัง และโรคหัวใจ

นพ.ทวีศิลป์ระบุว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมรับทราบถึงการพยากรณ์เรื่องเตียงที่รักษาผู้ป่วยติดโควิด-19 โดยมีความห่วงใยเรื่องเตียงไอซียูของ กทม. มีจำนวน 262 เตียง และอาจมีการเพิ่มเตียง โดยเตียงไอซียูว่าง 69 เตียง ห้องแยกความดันลบมีเพียง 479 เตียงใช้ไป 410 เตียง ถ้ามีการติดเชื้อ 1,500 รายต่อวันจะเกิดการใช้เตียงจำนวนมาก โดย กทม.มีการใช้เตียงต่อวัน 12-15 เตียงต่อวันหรือใช้ได้อีก 8 วัน เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขต้องบริหารจัดการในกทม.

ส่วนประเทศไทยมีเตียงทั้งหมด 1,000 เตียงใช้ได้อีกประมาณ52 เตียงต่อวัน โดยจะรองรับได้ 19 วันหรือเกือบ 3 สัปดาห์ทั้งประเทศ โดยกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องเตียงรักษาผู้ป่วย ส่วนบุคลาการทางการแพทย์ต้องทำงานอย่างหนัก

รับหากยอดติดเชื้อยังพุ่งจะกระทบวิกฤตเตียงรักษาแน่

ส่วนกรณีที่มีความกังวลยอดติดเชื้อ 2,070 รายจะมีแผนรองรับอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ ยอมรับว่ามีผลกระทบแน่นอน โดยการประเมินสถานการณ์ในเชิงภาวะวิกฤตรุนแรงมากนั้น ถ้ามีเตียงไอซียูใน 1 สัปดาห์ก็ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่มตรงนี้ให้มากขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยกับทุุกภาคส่วนได้แบ่งเตียง และเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิม โดยคนไข้ต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม และต้องเกิดการใช้พื้นที่ไอซียูที่กว้างขึ้น

นพ.ทวีศิลป์ระบุว่าถึงปัญหาสายด่วน 1668 1669 และ 1330 เพื่อประสานเตียงให้กับผู้ป่วยติดโควิด-19 ว่า เลขาธิการ สมช.ได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงสาธารณสุุขให้มาบูรณาการเรื่องสายด่วน โดยสายด่วนจำนวนมากระบบก็ยังไม่เพียงพอ โดยวันนี้ขอให้ปรับระบบขอให้ผู้ที่โทรเข้ามาในรายที่ป่วยจริงๆ ที่ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 จริงๆ โดยให้ฝากข้อมูลที่สำคัญและชุดการตรวจไว้ ทั้งนี้จะจัดชุุดคู่สาย 1 ทีม 50 เบอร์เก็บข้อมูลให้ชุดที่ 2 ที่มี 50สาย โดยขณะนี้มีผู้ป่วยรอเตียงนั้น มีคนรออยู่ 1,423 ราย ยืนยัน 1423 รายที่มีการติดต่อมานั้นจะได้รับการติดต่อกลับไปอย่างแน่นอน

"มีข่าวที่ออกมาไม่สบายใจอย่างมาก เราทำงานอย่างเต็มที่มีหลายท่านออกภาพนี่หรือสายด่วนสุขภาพทำไมมีโต๊ะเอกสาร ในภาพเป็นจริงมีหลายมุมที่บั่นทอนกำลังใจคนทำงาน เราพยายามดูแลซึ่งกันและกัน มีแต่กำลังใจเท่านั้นที่ต้องให้กัน ไม่มีใครจะมีเจตนาไม่ดี" นพ.ทวีศิลป์ ระบุ