ไม่พบผลการค้นหา
ประชุมร่วมรัฐสภาเปิดให้ ส.ส.-ส.ว.อภิปรายร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ในขั้นรับหลักการ ‘เพื่อไทย’ ชี้ใช้บัตร 2 ใบ เบอร์เหมือนกันไม่ขัด รธน. ซัดใช้บัตรเบอร์ต่างกันทำลายประชาธิปไตย ด้าน พปชร.ดันใช้บัตร 2 ใบแต่เบอร์ไม่ตรงกัน ไม่ทำให้ประชาชนสับสน ยก ‘แอปฯ เป๋าตัง’ ยังเข้าใจได้

วันที่ 24 ก.พ. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาเรื่องด่วน ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 4 ฉบับ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 6 ฉบับ รวมเป็น 10 ฉบับ ในวาระที่1 ขั้นรับหลักการ ประกอบด้วย 

1.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) 

2.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (คณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ) 

3.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

4.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (นพ.ชลน่านศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

5.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (นพ.ชลน่าน กับคณะ เป็นผู้เสนอ)              

6.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (วิเชียรชวลิต  ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารีฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

7.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (วิเชียร กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

8.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่...) พ.ศ.... (พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

9.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (พิธา กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

10.ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่...) พ.ศ.... (อนันต์ ผลอำนวยส.ส.กำแพงเพชร พรรคพลังประชารัฐ กับคณะ เป็นผู้เสนอ) 

ชลน่าน ประชุมรัฐสภา -642C-4414-814F-58CB1276418C.jpegชวน ประชุมรัฐสภา -798F-40BB-AB8A-47491F04466A.jpeg


'ชลน่าน'  ชี้ผลเสียบัตร 2 ใบ เบอร์ต่างกันสร้างความสับสน-เอื้อทุจริต 

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. อภิปรายหลักการและเหตุผลของร่างกฏหมายว่า ร่างของพรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากการแบ่งเขตในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 ได้สร้างปัญหาเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนและ ส.ส. ทุกคนเองก็ทราบดีว่ากลไกการแบ่งเขตนี้ไม่เป็นธรรม เช่นการแบ่งเขตติดต่อ ที่แบ่งอย่างลากยาวเว้าแหว่งตามอำเภอใจ โดยเฉพาะจำนวนประชากรที่บางเขตต่างกันเกือบ 50,000 คน จึงส่งผลต่อการลงคะแนนเสียงเป็นอย่างยิ่ง จึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 7 ต้องจัดให้มีจำนวนประชากรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน ทั้งนี้ต้องให้มีผลต่างของประชากรในทุกเขตเลือกตั้ง ให้ไม่เกินร้อยละ 10 เพื่อไม่ให้ต่างกันอย่างลักลั่นเกินไป 

สำหรับการกำหนดหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครนั้น มีความแตกต่างแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับร่างของ ครม. ที่บังคับให้พรรคการเมืองส่ง ส.ส.แบบเขต เพื่อนำคะแนนของการเลือกตั้งแบบเขตมาคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญ ทางพรรคเพื่อไทยจึงเสนอว่า การส่งบัญชีรายชื่อให้ ส่งแบบเขตก่อนในวันแรก แต่ยังไม่จำเป็นต้องจับหมายเลข แล้ววันที่สองจึงให้พรรคการเมืองส่งสมัครแบบระบบบัญชีรายชื่อ จากนั้นจึงจับหมายเลขผู้สมัคร แล้วกระจายหมายเลขนี้ไปให้ทุกเขต โดยการเสนอนี้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาที่หมายเลขผู้สมัครและหมายเลขพักเป็นคนละหมายเลขกัน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความสับสน 

"เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจงใจให้มีการใช้อามิสสินจ้างเพื่อตัวเองโดยไม่คำนึงถึงภาพรวม ระบบการเมืองจึงถูกทำลายย่อยยับตั้งแต่วินาทีแรกที่เข้าสู่คูหาการเลือกตั้ง เราต้องการการเมืองระบอบประชาธิปไตยและสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง แต่เราปฏิเสธการมีส่วนร่วมจากพี่น้องประชาชนโดยการสร้างความสับสนให้เขา" 

นพ.ชลน่าน ระบุว่า ข้ออ้างของ กกต. ที่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์หากใช้ระบบบัตรใบเดียว ถือเป็นการประพฤติมิชอบ เนื่องจากระบบพรรคใบเดียวจะทำให้ทุกพรรคได้ประโยชน์ เพราะทำให้ประชาชนเห็นหมายเลขพรรคและผู้สมัครแต่ละเขตเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ดี ในส่วนของพรรคการเมืองก็ไม่มีความยากลำบากในการหาเสียงคนจะมาลงคะแนนเสียงกันมากขึ้น ความบกพร่องดังกล่าวนี้เคยเกิดขึ้นในปี 2550 แล้ว ภายหลังได้มีการแก้ไขให้ดีขึ้น แล้วเหตุใดจึงย้อนกลับไปหาระบบที่สับสนแบบเดิม พร้อมย้ำว่า การปรับไปสู่ระบบบัตรใบเดียวจึงจะเป็นการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง 

"เจตจำนงที่จะใช้บัตร 2 ใบคิดเป็นอื่นไม่ได้ ก็เพื่อให้มีความเข้มแข็ง แต่การให้หมายเลขประจำตัวพรรคการเมืองและผู้สมัครแตกต่างกัน เจตจำนงคืออะไร ก็สรุปได้ดูอนุมานว่า ท่านต้องการทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และระบบรัฐสภา"

ชลน่าน ประชุมรัฐสภา -3DE2-4ED5-820B-85EA57798F2B.jpeg

'ก้าวไกล' ชงผู้สมัคร-พรรคการเมืองเบอร์เดียวกัน 

ขณะที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มอบหมายให้ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล อภิปรายสาระสำคัญของการแก้ไขว่า พรรคก้าวไกลเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พูดถึงการเลือกตั้งเท่านั้น โดยไม่คำนึงถึงบริบทเรื่องการจัดสรรอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจของ สว. หรือกกต. ที่เกี่ยวโยงกับการเลือกสรรของยุคสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ถือเป็นการแก้ไขที่ยังไม่ได้ตอบโจทย์ แต่ในเมื่อเราจำเป็นต้องเข้าสู่การเลือกตั้งไม่ช้าก็เร็ว ร่างของ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลนั้นเป็นการแก้ไขขั้นต่ำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังขาดเจตจำนงในการแก้ไขกติกาที่บิดเบี้ยว และเป็นข้อครหาในการเลือกตั้งปี2562 

"อยากให้ กกต. ได้ทบทวนบทบาทของตัวเองด้วย ในฐานะองค์กรอิสระ คงไม่ต้องทำเพียงแค่สิ่งที่รัฐบาลต้องการ แต่ต้องเป็นผู้นำว่าจะทำกฎหมายอย่างไรที่จะทำให้พี่น้องประชาชนอุ่นใจได้ว่า การเลือกตั้งรอบหน้ายังมีความหวังอยู่" 

ปดิพัทธ์ ย้ำว่า หากไม่ได้ปรับปรุงหลักของ ครม. ปัญหาซ้ำๆจะเกิดขึ้น เช่นปัญหาบัตร 2 ใบ ที่หมายเลขมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะเกิดความสับสน ซึ่งทางนี้ไม่ได้ดูถูกประชาชน แต่ตามหลักการของการเลือกตั้งทั่วโลกที่มีประสิทธิภาพต้องมีความเรียบง่าย มีบัตรเสียน้อย ทุกคนทุกระดับการศึกษาเข้าใจตรงกัน  และตรงไปตรงมาที่สุด อีกปัญหาคือการปกปิดผลคะแนนเลือกตั้ง ที่ยังไม่พบการแก้ไข รวมทั้งการขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน  สภาควรถามประชาชนว่าอยากเห็นการเลือกตั้งแบบไหน หากมัวแต่คิดว่าพรรคการเมืองไหนจะได้เปรียบเสียเปรียบ พรรคไหนจะคุมระบบได้ เรื่องนี้จะยึดโยงกับประชาชนน้อยลงเรื่อยๆ

ปดิพัทธ์ ก้าวไกล ประชุมรัฐสภา -DF6A-413D-AACF-4ECF7C88AE61.jpeg

'ชินวรณ์' หนุนบัตร 2 ใบสุดตัว เชื่อลดซื้อเสียงได้ 

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร่วมเสนอร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งอภิปรายว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอให้การแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะทราบดีว่าปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งปี 2562 นั้น มีประเด็นอะไรบ้าง แต่การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้เป็นไปตามใจเรานั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. วันนี้เสร็จไม่ทันเปิดสมัยการประชุมสามัญ พรรคประชาธิปัตย์ยินดีร่วมลงชื่อเสนอต่อประธานสภาเพื่อเปิดสมัยการประชุมวิสามัญ 

สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ประเด็นหลักอยู่ที่มาตราการเลือกตั้งระบบบัตร 2 ใบนั้น จะทำอย่างไรให้มีความสุจริตเที่ยงธรรม โดยยังเน้นย้ำว่า การเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ จะทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง และช่วยลดอิทธิพลของการซื้อเสียงได้ อันเป็นหลักการที่พรรคประชาธิปัตย์ขับเคลื่อนมาโดยตลอด

ชินวรณ์ -F11D-4838-AB52-522DACD7F160.jpegวันชัย สมาชิกวุฒิสภา -BA8E-41F0-9F42-D6B10234A796.jpegคารม -CE78-47D3-923D-6BD9DB817965.jpeg

‘วันชัย’ หนุน กกต.ระงับเลือกตั้งได้

ขณะที่ วันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) อภิปรายว่า หัวใจสำคัญของการแก้กฎหมายที่ตนสนใจนั้น รัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม ปราศจากธุรกิจ ซึ่งตนมองว่าการแก้ไขมาตรา 137 ระบุว่า ก่อนหรือในวันเลือกตั้งให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะดำเนินการสอดส่องสืบสวนไต่สวนหรือแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อตรวจสอบให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากพบการทุจริต คณะกรรมการมีอำนาจยุติ หรือระงับการเลือกตั้งได้ ถือเป็นการใช้กฏหมายที่ฉกาจฉกรรจ์ และสามารถใช้ป้องกันการทุจริตเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด 

ขณะที่การเลือกตั้งปัจจุบันนั้น ด้วยความที่กฏหมายและผู้ใช้กฏหมายยังอ่อนแอ จึงพบปัญหาว่ามีการใช้เงินจำนวน12-14 ล้านบาท จนมีผู้เสียดสีว่า 'เงินไม่มา กาไม่เป็น' ดังนั้น สาระสำคัญของการแก้กฎหมายจึงไม่ได้อยู่ที่จะนับคะแนนอย่างไร บัตรใบเดียวหรือ 2 ใบ แต่อยู่ที่การให้อำนาจ กกต. ทำงานเชิงรุก เพื่อควบคุมการเลือกตั้งให้ปราศจากทุจริตจึงจะเป็นการดี 

"มาตรการผู้ตรวจการที่เห็นทุกวันนี้สักแต่ว่าตรวจไปตรวจมา ไม่ได้เห็นอะไรเลย ดังนั้น ผมอยากให้กฎหมายฉบับนี้แรง เร็ว คนทำผิดจะถูกตัดสินก็ปีกว่า หรือ 6-8 เดือน ลืมไปแล้ว มันต้องสดๆ ร้อนๆ จึงขอสนับสนุนกฎหมาย โดยเฉพาะมาตรการการป้องกันทุจริตซื้อสิทธิ์ขายเสียงเชิงรุกนี้ และขอให้กรรมาธิการนำไปพัฒนาปรับปรุง ให้มีพัฒนาที่เข้มและดำเนินการได้ด้วยการจัดการที่รวดเร็วให้สัมฤทธิ์ผล" 

จากนั้น คารม พรพลกลาง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประท้วงเพื่อขอให้ วันชัย ถอนคำพูด ส่วนที่กล่าวถึงการใช้เงิน 12-14 ล้านบาทในการเลือกตั้ง ซึ่งแม้จะเป็นการสันนิษฐาน แต่ก็อาจทำให้ทั้ง กกต. และรัฐสภาเสียหายได้ไม่ใช่ว่าผู้พูดเป็น ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากระบบเลือกตั้งแล้วจึงไม่ใช้เงิน 

โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาที่กำลังทำหน้าที่ประธานการประชุมวินิจฉัยว่า เป็นการอภิปรายไม่ระบุถึงผู้ใด จึงไม่มีประเด็นใดที่ต้องถอน

วันชัย ลุกขึ้นตอบว่า ตนนับถือการวินิจฉัยของท่านประธาน จึงไม่อยากโต้เถียงกับผู้ประท้วง แต่ขอให้ผู้ประท้วงพิจารณาให้รอบคอบ และหาพรรคอยู่ให้ได้เสียก่อน ในกรณีนี้ ประธานสภาจึงขอให้ วันชัย ถอนคำพูดส่วนนี้เพราะถือเป็นการเสียดสี แม้ คารม จะตอบโต้ว่าจะไม่ถอนก็ได้หากไม่มีวุฒิภาวะ ส่วนตนหาพรรคอยู่เองได้ ซึ่ง วันชัย ก็ยอมถอนคำพูดในเวลาต่อมา 

และ ชวน กล่าวต่อว่า บางครั้งในการพูดภาพรวม แต่ต้องระลึกอยู่เสมอว่าในทุกองค์กรมีส่วนที่ดีและไม่ดีเสมอ ทุกองค์กรมีทั้งส่วนที่สุจริตและไม่สุจริต แต่เมื่อใดที่ไปเจาะจงบุคคลก็จำเป็นจะต้องไม่พาดพิงถึงใคร ตามข้อบังคับ

บริโภคนิยม-ปลาดิบ อาหารญี่ปุ่น.jpg


'เพื่อไทย' ร่ายข้อเสียบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ ทำการเมืองขาดเสถียรภาพ 

จากนั้น นิยม เวชกามา ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายสนับสนุนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ของพรรคเพื่อไทย ถึงกรณีว่าในระบบบัตรใบเดียว และใช้เบอร์เดียวกันนั้น มีข้อดีอย่างไร ข้อแรกคือประหยัดงบประมาณในการพิมพ์บัตรครั้งเดียว ไม่จำเป็นต้องคิดแทนประชาชนหรือสร้างวาทกรรมว่าหากใช้บัตรเบอร์เดียวกัน จะเป็นการโกยเสียงเข้าพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นการคิดถึงประโยชน์ของประชาชน ช่วยให้ประชาชนเข้าใจง่าย และลดจำนวนบัตรเสียลงนอกจากนี้ หากพรรคการเมืองและ ส.ส. เป็นคนละเบอร์ อาจจะส่งผลกระทบต่อ ความสามัคคีของผู้สมัคร ส.ส. ทำให้ผู้สมัครไม่ยอมหาเสียงให้พรรคของตน 

ด้าน คมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ชี้ให้เห็นผลจากรัฐธรรมนูญและกฏหมายเลือกตั้งที่กระทบทางเศรษฐกิจของไทย และความเชื่อมั่นของไทยในสายตานานาประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมานั้น ประชาชนไม่ได้เลือก เป็นเพียงปาหี่ทางการเมือง เพราะมีอำนาจของ 250 ส.ว. เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นำมาสู่ความล้มเหลวย่อยยับทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะการที่นายกฯ ขาดวิสัยทัศน์ในการบริหารประเทศ สถานการณ์ช่วง 2 เดือนหลังการเปิดสภา เป็นปรากฏการณ์ที่มีการรวบรวมพรรคการเมืองไว้มากที่สุด แต่มีเสถียรภาพน้อยที่สุด เห็นได้จากการที่สภาล่มถึง 18 ครั้ง เหตุมาจากการเลือกบัตรคนละเบอร์ ทำให้เกิดบัตรเสียนับล้าน นับได้ว่าผลการเลือกตั้งจึงไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง

วีระกร พลังประชารัฐ -D4B7-45E1-8A21-5A8D9E2A2F66.jpeg


พปชร.เชื่อเบอร์ผู้สมัครฯ ไม่ตรงกันกระจายความนิยม มั่นใจไม่สับสน 

วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ การแก้ไขจากระบบบัตรใบเดียวมาเป็นบัตร 2 ใบ บัตรใบเดียวเป็นระบบสัดส่วนผสมซึ่งมีความยุ่งยาก ประชาชนบางคนชอบ ส.ส.แต่ไม่ชอบพรรคการเมือง บางคนชอบพรรคการเมืองแต่ไม่ชอบตัว ส.ส. แต่จำเป็นต้องเลือกเพราะเป็นบัตรใบเดียวกัน และหาก ส.ส.โดนตักเตือนก็อาจจะต้องเปลี่ยนตัวอีก ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงไม่คงที่ เพราะฉะนั้นระบบเดิมที่ควรแก้ไขมาเป็นบัตร 2 ใบ จึงถูกต้องแล้ว 

สำหรับประเด็นว่า ส.ส.เขตเลือกตั้งและส.ส.แบบบัญชีรายชื่อควรใช้เบอร์เดียวกันหรือไม่ ดังที่พรรคเพื่อไทยและก้าวไกลเสนอว่าควรเป็นเลขเดียวกัน ขณะที่พรรคพลังประชารัฐและ ครม. เห็นตรงกันข้าม โดยส่วนตัวมองว่าระบบการเลือกตั้งนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีของการใช้เบอร์เดียวกันคือ ทำให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งง่าย ลดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ไม่จำเป็น ขณะที่ข้อเสียคือ จะไม่เกิดการแบ่งแยกความนิยมระหว่างคนและพรรค อาจมีความโน้มเอียงให้การเลือกตั้งไม่สมประโยชน์กับการใช้บัตร 2 ใบ 

สำหรับประเด็นที่ห่วงว่าประชาชนจะเกิดความสับสนนั้น ไม่เป็นความจริง ปัจจุบันที่ประชาชนรู้จักการใช้ แอปพลิเคชันเป๋าตัง และแอปพลิเคชันอื่นๆ แล้ว จึงมั่นใจได้ว่าประชาชนสามารถหาข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถเลือกเบอร์ได้ถูกโดยไม่มีความสับสนคลาดเคลื่อน เว้นแต่ประชาชนส่วนน้อยมากๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ระบบแบบบัตร 2 ใบจะทำให้พรรคการเมืองเก่าแก่ เช่น พรรคเพื่อไทย หรือพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบ เนื่องจากมีชื่อพรรคที่ประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้ว

เสรี สมาชิกวุฒิสภา -4A41-43EB-8D8B-1A380E94B773.jpeg

'เสรี' ย้ำกฏหมายแก้ซื้อเสียงไม่ได้ก็ควรยกเลิก ให้ใช้จิตสำนึกแทน 

ด้าน เสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)  อภิปรายเสนอข้อคิดเห็นแนวทางการแก้ไขกฏหมาย ว่า ในการแก้ไขควรต้องระมัดระวังว่า ต้องแก้ให้ตรงกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่นร่างของพรรคเพื่อไทย ที่ นพ.ชลน่าน และคณะเป็นผู้เสนอนั้น มีหลักการและเหตุผลเป็นอย่างไร เสนอประเด็น และประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่วนนี้จึงต้องระมัดระวังว่าที่เกี่ยวข้องมีอะไรบ้าง ส่วนร่างที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ก็มาในแนวทางเดียวกัน ว่าต้องการจะแก้ปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม แต่ก็เป็นการประเมินอย่างกว้างเช่นเดียวกัน ฉะนั้นในส่วนของ สมาชิกรัฐสภาต้องพิจารณาอย่างสมเหตุสมผลว่าเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่ร่างของ ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลนั้น มีการกำหนดประเด็นมาอย่างชัดเจนดี 

ส่วนปัญหาเกี่ยวกับความสุจริตเที่ยงธรรมนั้น ก็มีการพูดถึงมาตลอด แต่ไม่มีใครกล้าพูดความจริง นั่นคือปัญหาของการซื้อเสียง จึงขอฝากให้แก้ไขกฎหมายที่สามารถสาวตัวไปยังผู้กระทำผิดได้ จึงจะสามารถแก้ปัญหาจากต้นเหตุ 

อย่างไรก็ตาม หากจะพูดความจริงว่าปัญหาซื้อเสียงนั้นคงแก้ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็มีการซื้อเสียงกันทั้งนั้น ก็ควรยกเลิกเสียเลย ให้แต่ละคนใช้จิตสำนึกของตัวเอง ว่าอยากจะลงทุนเท่าไหร่อย่างไร ก็ไม่มีความผิด องค์กรใช้หลักนี้ ที่จะยกเป็นตัวอย่างก็มี เช่น การเลือกตั้งนายกสภาทนายความและกรรมการสภาทนายความ สามารถติดสินบนกันได้ระหว่างการหาเสียงโดยเป็นอิสระ จึงขอฝากเป็นข้อคิดไว้ให้บรรดานักการเมืองทั้งหลายยอมรับข้อเท็จจริง 

นอกจากนี้ ในมาตรา 73 ที่มีข้อห้ามการจัดเลี้ยงหรือมหรสพนั้น เห็นควรให้ตัดออกไป เพราะที่ผ่านมาก็ยังเห็นจัดเลี้ยงกันได้ ไม่ควรสร้างเงื่อนไขมาก ร่างกฏหมายควรตั้งให้อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง