ไม่พบผลการค้นหา
หลังจากการลุกฮือขึ้นประท้วงทั่วประเทศของประชาชนจีน เนื่องจากความไม่พอใจในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของรัฐบาลภายใต้การนำของ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบัน รัฐบาลจีนกำลังเผชิญหน้ากระแสการเมืองสั่นคลอนในประเทศอีกครั้ง หลังจากตายของ เจียงเจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีจีน เมื่อช่วงวานนี้ (30 พ.ย.)

ในฐานะประธานาธิบดีจีนคนใหม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย บริเวณจัตุรัสเทียนอินเหมินอย่างแยกไม่ออก เจียงขึ้นมาบริหารประเทศในช่วงที่จีนไม่พบกับการประท้วงที่รุนแรงเท่าเหตุการณ์เทียนอันเหมิน แต่เหตุการณ์นองเลือดในปี 2532 กลับถูกนำมาเทียบกับการลุกฮือขึ้นประท้วงของประชาชนทั่วประเทศจีนในตอนนี้อีกครั้ง ซึ่งนับเป็นการประท้วงในจีนที่รุนแรงที่สุด เท่าเที่เคยเกิดขึ้นมาในรอบ 3 ทศวรรษ

การตายของเจียงยังก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ผู้นำคนปัจจุบันอย่างสีแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความย้อนคิดถึงช่วงเวลาในอดีตที่มีเจียงเป็นประธานาธิบดีจีน เปรียบเสมือนการประณามเสียดสีผู้นำจีนอย่างสีในตอนนี้ ชาวจีนจำนวนมากเลือกวิธีการแสดงความไว้อาลัยต่อการตายของเจียง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบกับความล้มเหลวในการบริหารประเทศของสี ทั้งนี้ มีรายงานการค้นหาเพลงชื่อ “เสียดายไม่ใช่เธอ” ถูกเซ็นเซอร์ในบางช่องทาง ในขณะที่ผู้ใช้บางเว็บไซต์แสดงความคิดเห็นเรียกอดีตประธานาธิบดีจีนว่า “อากงเจียง” เพื่อวิจารณ์สีไปในตัว

ถึงเจียงจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงในช่วงเหตุการณ์เทียนอันเหมิน แต่แม้กระทั่งก่อนที่เจียงจะเสียชีวิต เขาได้รับความสนใจอย่างผิดหูผิดตาในหมู่คนรุ่นใหม่ชาวจีน ที่มีความทรงจำเกี่ยวกับการปกครองที่แท้จริงของเจียงเพียงเล็กน้อย และคนรุ่นใหม่จีนต่างมองว่า เจียงเป็นคุณปู่ที่น่ารักและขี้หงุดหงิด โดยความคิดส่วนหนึ่งอาจมาจากบุคลิกที่มีสีสันของเจียงในช่วงที่เขายังมีชีวิต ซึ่งตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์ที่ดูจืดชืดของสี ที่ถูกสร้างมาอย่างพิถีพิถันผ่านการกำกับภาพลักษณ์ของประธานาธิบดีจีนคนปัจจุบันต่อสาธารณชนโดยรัฐบาล

เจียงถูกจดจำในฐานะคนช่างพูดและคล่องแคล่ว อดีตประธานาธิบดีจีนรายนี้ไม่รังเกียจที่เขาจะแสดงตัวในทางการเมือง ในการเดินทางเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการ อดีตประธานาธิบดีในขณะนั้นตัดสินใจไปว่ายน้ำตอนเช้าโดยไม่ได้วางแผนที่หาดวาอิกิกิของมลรัฐฮาวาย เพื่อแสดงความมีชีวิตชีวาในขณะที่เขาเผชิญหน้ากับข่าวลือว่าตนกำลังมีสุขภาพที่ไม่ดี

ในปี 2543 เจียงโด่งดังจากการที่เขาพุ่งตัวออกมาจากที่นั่งในมหาศาลาประชาชน ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงปักกิ่ง ระหว่างการถ่ายรูปกับสื่อมวลชน โดยเจียงเดินเข้าไปหาผู้สื่อข่าวที่ถามคำถามไม่ถูกใจตน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เจียงวิจารณ์ผู้สื่อข่าวจีนในขณะนั้นว่าไม่มีความเป็นมืออาชีพอย่างผู้สื่อข่าวตะวันตก พร้อมวิจารณ์เป็นภาษาอังกฤษว่า “too simple, sometimes naive” (ตื้นเขินเกินไป บางครั้งก็ไร้เดียงสา)

ความฉุนเฉียวที่ไม่ผ่านการกลั่นกรองของเจียงในครั้งนั้น เป็นเรื่องที่เหนือจินตนาการว่าจะเกิดขึ้นกับสี โดยภาพวิดีโอขณะเจียงวิจารณ์ผู้สื่อข่าว ยังคงถูกส่งต่ออยู่บนโลกออนไลน์ไปตลอดกาล ซึ่งทำให้เกิดมีมตลกขบขันมากมายต่อเจียง ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น "โมฮาเหวินฮัว" หรือ "ลัทธิบูชาคางคก" เนื่องจากชาวเน็ตจีนเปรียบเทียบว่าเจียงมีลักษณะหน้าตาและบุคลิกคล้ายคางคก คล้ายกันกับกรณีของสีที่ถูกเปรียบว่าหน้าตาและบุคลิกเหมือนหมีพูห์

ในขณะที่จีนตอนนี้ต้องต่อสู้กับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลง ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นกับชาติตะวันตก และแรงต่อต้านที่หนักอึ้งจากประชาชนต่อข้อจำกัดมาตการโควิดเป็นศูนย์ การเสียชีวิตของเจียงได้เพิ่มความย้อนคิดถึงในยุคอดีตก่อนการขึ้นมาสีให้รุนแรงขึ้น จีนในยุคเจียงเป็นจีนที่โดดเด่นด้วยความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเติบโตทางภาคเศรษฐกิจที่พุ่งสูงและเปิดกว้าง เนื่องจากจีนในตอนนั้นเข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) และความพยายามในการรื้อฟื้นภาพลักษณ์ของตนในระดับสากลหลังจากเหตุนองเลือดเทียนอันเหมิน

เจียงพยายามปรับความสัมพันธ์ของจีนกับสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ผ่านทางการทูต โดยเฉพาะหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐฯ และเขาเองมักเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการบ่อยๆ เพื่อเข้าพบกับ บิลล์ คลินตัน และ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น

สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปรียบเทียบเจียงกับสี คือมุมมองที่ว่าสีในตอนนี้กำลังคลี่คลายการปฏิรูปของเจียงในอดีต ในขณะที่สีพยายามควบคุมเศรษฐกิจและพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างเข้มงวด “แม้ว่า เจียงเจ๋อหมิน จะมีบทบาทสำคัญในการยกระดับ สีจิ้นผิง ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำสูงสุด แต่ สีจิ้นผิง ก็ดำเนินตามแนวนโยบายเศรษฐกิจและการเมืองค่อนข้างตรงกันข้ามกับนโยบายของ เจียงเจ๋อหมิน และเติ้งเสี่ยวผิง” วิลลี หลั่ม ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเจียงระบุ

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สีจิ้นผิง ถูกมองว่าเขากำลังฟื้นฟูกลยุทธ์และปรัชญาที่เข้มงวดของ เหมาเจ๋อตุง ดังนั้นในแง่หนึ่ง เราสามารถพูดได้ว่า เจียงเจ๋อหมิน ทำผิดพลาดครั้งใหญ่ที่เลือก สีจิ้นผิง (ขึ้นมาเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน)” หลั่มระบุกับสำนักข่าว BBC

แต่มีคำเตือนจากผู้ร่วมสมัยเหตุเทียนอันเหมินไม่ให้มองเจียงผ่านกรอบที่โรแมนติกเพื่อด่วนตำหนิสี และยังมีความพยายามในการตอกย้ำว่าเจียงเองก็เคยปฏิเสธการปฏิรูปการเมืองจีน หลังเหตุนองเลือดเทียนอันเหมิน “ตอนนี้ เพราะ สีจิ้นผิง หลายคนคิดถึงยุค เจียงเจ๋อหมิน นี่เป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจประวัติศาสตร์” หวัง ต้าน อดีตผู้นำนักศึกษาเทียนอันเหมินทวีตข้อความเตือนคนรุ่นใหม่ในจีน ที่กำลังชื่นชมเจียงเพื่อประชดประชันสี โดยเมื่อเทียบกับสีแล้ว เจียง “ดีกว่ามาก” แต่ “คนหนุ่มสาวไม่เข้าใจว่า หูเย่าปัง และ จ้าวจื่อหยาง เป็นใคร หากเทียบกับพวกเขา (เจียง) นั้นแย่กว่ามาก” หวังกล่าวถึงผู้นำจีนแนวปฏิรูป 2 คนจากช่วงยุคเทียนอันเหมิน

อย่างไรก็ดี ความรักของสาธารณชนที่มีต่อเจียงยังคงไม่ลดลง โดยไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการประกาศการเสียชีวิตของเจียง ผู้คนออกมาไว้อาลัยด้วยการวางช่อดอกไม้นอกบ้านในวัยเด็กของเจียง บริเวณเมืองหยางโจว ในวันนี้ (1 ธ.ค.) ผู้คนหลายร้อยคนในเซี่ยงไฮ้ต่างตื่นตระหนก เมื่อเห็นยานพาหนะที่คิดว่ากำลังลำเลียงร่างของเจียงออกจากโรงพยาบาลที่เขาเสียชีวิต ส่งผลให้ตำรวจต้องปิดถนนบางสาย

แต่เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา การเฝ้าวางศพของเจียงที่จัดขึ้นในเมืองกลับล้มเหลว ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้  เซี่ยงไฮ้เป็นพื้นที่ฐานอำนาจเดิมของเจียง และเป็นที่ที่เขาเสียชีวิต เซี่ยงไฮ้ยังเป็นศูนย์กลางของการชุมนุมต่อต้านมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ถึงกระนั้น ทุกสายตายังคงจับจ้องไปที่เซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ของจีน เนื่องจากหลายฝ่ายรอดูว่า จะมีการแสดงความไว้อาลัยในที่สาธารณะจำนวนมากต่อเจียง ซึ่งอาจกลายเป็นการประท้วงรัฐบาลสีหรือไม่

ย้อนกลับไปในปี 2532 หนุ่มสาวชาวจีนหลายพันคนรวมตัวกันบนถนนในกรุงปักกิ่ง เพื่อไว้อาลัยต่อการจากไปอย่างกะทันหันของ หูเย่าปัง ผู้นำจีนหัวปฏิรูป ซึ่งนำไปสู่การปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่ลุกลามกลายเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ การตายของเจียงเป็นอีกครั้งที่ผู้นำผู้เป็นที่รักเสียชีวิต ในช่วงเวลาที่จีนกำลังเกิดข้อเรียกร้องการปฏิรูปและเสรีภาพจากประชาชน ทั้งนี้ ความทรงจำต่อเหตุการณ์เทียนอันเหมินกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งอย่างมากมายหลังการตายของเจียง


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-china-63803963?fbclid=IwAR15D8BPBYiFXGv5KJozWA5lKQLs_PXeaove3Sk0hM0cDfUKH-vkm3YYn6U