ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงบประมาณออกหนังสือด่วนที่สุดแจ้งหน่วยรับงบประมาณ แจงงบประมาณปี 2564 ล่าช้ากว่ากำหนด ขอให้ใช้งบประมาณจากปีก่อนหน้าไปพลางก่อน ฟาก 'วิษณุ' แจง ล่าช้า 1 เดือนไม่มีปัญหา เทียบงบประมาณปี 2563 กว่าจะออกมาใช้ล่าช้า 6 เดือน

ตามที่สำนักงบประมาณ มีหนังสือเรื่อง 'หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อนและวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรรการบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปพลางก่อน' หนังสือลงวันที่ 10 ก.ย. 2563 โดย เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ 

โดยมีใจความระบุว่า "ด้วยพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ 2564 ซึ่งกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 141 บัญญัติให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน 

ประกอบกับ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายขจ่ายประจำปีงบประมาฯที่ล่วงแล้วไปพลางก่อนได้ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดโดยอนุมัตินายกรัฐมนตรี

บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปพลางก่อน ตามที่ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกำหนดแล้ว และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณได้กำหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรร การบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป" 

พร้อกกันนี้ สำนักงบประมาณ เผยแพร่หนังสือราชการ 3 ฉบับ ได้แก่

อย่างไรก็ตาม หนังสือราชการดังกล่าวนำมาสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์ความวิตกกังวลของหน่วยรับงบประมาณ ข้าราชการ นักธุรกิจที่ทำโครงการของรัฐถึงความล่าช้าของงบประมาณประจำปีที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ ยอดขาย การดำเนินกิจการ

รองนายกฯ วิษณุ แจงล่าช้า 1 เดือนไม่มีปัญหา งบปีก่อนล่าช้า 6 เดือน

ขณะที่ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กำลังเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 ในวันที่ 16-18 ก.ย.นี้ และจะเข้าวุฒิสภาพิจารณาในวันที่ 21 ก.ย. หลังจากนั้นจะใช้เวลาอีก 7 วัน ในการพิมพ์ร่างกฎหมายก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งอาจจะช้าไป 1 เดือนจากปีงบประมาณใหม่ หากเทียบกับงบประมาณฯ ปี 2563 ที่ล่าช้าไปถึง 6 เดือน      

ดังนั้นการล่าช้าไป 1 เดือนไม่น่ามีปัญหามาก อะไรที่เป็นโครงการต่อเนื่องและอะไรที่ซ้ำกับปี 2563 สามารถใช้งบฯ ปี 2563 ไปพลางก่อน

ส่วนเรื่องของการเบิกจ่ายขึ้นอยู่กับสำนักงบประมาณ จะกำหนดว่าใช้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ ยืนยันว่าไม่เป็นปัญหาอะไรเลย ส่วนประเด็นเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยยังชีพคนชราและผู้พิการ คณะกรรมาธิการงบประมาณ ได้ชี้แจงต่อกระทรวงการคลังและกรมบัญชีกลางแล้ว ว่าไม่ได้เป็นปัญหาอะไรมาก

ทั้งนี้จะกระทบกับการเลือกตั้งท้องถิ่นในปลายปีด้วยหรือไม่ วิษณุ กล่าวว่า สำหรับงบฯ เลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ได้แบ่งเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรกตั้งไว้ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งงบฯไว้ 800 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้มีอยู่แล้ว แต่อีกส่วนจำนวนหลายหมื่นล้านบาท กระจายอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งถ้าเลือกตั้งเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ก็ใช้งบประมาณจำนวน 2,400 ล้านบาท และทางอบจ.ต้องใช้งบฯ ของตัวเองที่รัฐบาลจัดสรรให้ ซึ่งส่วนนี้อาจจะไม่มี หากเลือกตั้งในเดือน ต.ค. อาจจะกระทบ แต่ถ้าไม่ใช่ช่วงเวลาดังกล่าวก็ไม่มีปัญหา เพราะหากเลือกตั้งเดือนพ.ย. เป็นต้นไป งบประมาณปี 2564 ก็ออกแล้ว