ไม่พบผลการค้นหา
เสวนานวนิยาย พุทธศักราชอัสดงฯ ชวนตั้งข้อสงสัย ประวัติศาสตร์ชาติไทยเขียนอย่างไร เชื่อถือได้แค่ไหน และเราคือใครในแผ่นดินนี้

เมื่อเปิดนวนิยาย ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ออกอ่านไปเพียงไม่กี่หน้า หลายคนน่าจะสะดุดใจด้วยงุนงงสงสัยว่า ใครกำลังเล่าเรื่องของใครอยู่ บางจุดคล้าย ‘ดาว’ กำลังเล่าความทรงจำของตัวเอง บางจุดก็คล้ายเป็น ‘ยายศรี’ กำลังเล่าเรื่องราวให้ดาวฟัง หรือมุมมองของ ‘ใคร’ กันที่กำลังเล่าเรื่องของทุกๆ คนอยู่ แล้วประวัติศาสตร์ไทยล่ะ ถูกเขียนและบอกเล่าโดยใคร ปะติดปะต่อโดยมีเหตุการณ์ใดแหว่งวิ่น หรือถูกเลือกลืมไปบ้าง ‘เสวนาพุทธศักราชอัสดงฯ กับการเมืองของทรงจำ’ ได้ชวนเราไปหาคำตอบที่อาจทำให้ต้องตั้งคำถามกับชุดเรื่องเล่าของชาติมากกว่าเดิม


ชาติไทยกับประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจไว้วางใจ

พุทธศักราชอัสดงฯ ใช้วิธีการเล่าแบบที่ทำให้เราตั้งคำถามว่า เรากำลังฟังเรื่องเล่าของใคร ผ่านสายตาของใคร เพราะทุกเรื่องเล่าล้วนถูกตีกรอบ และตัดปะอย่างมีเล่ห์ โดยมุมมองส่วนตัวของผู้เล่าเสมอ ประวัติศาสตร์ของชาติเองก็เป็นไปในลักษณะนั้นเช่นกัน

ในประเด็นนี้ ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นล้วนมีหลายมุมมอง มุมมองของภาครัฐเป็นส่วนหนึ่ง ภาครัฐที่ต่างสมัยกันก็เล่าเรื่องเดียวกันต่างกันไป มุมมองของประชาชนก็ต่างกันไป ประชาชนแต่ละชนชั้นเล่าเรื่องเดียวกันก็ไม่เหมือนกัน มุมมองของคนในประเทศก็แตกต่างจากมุมมองต่างประเทศ

ทุกคนล้วนมีชุดเรื่องเล่าเป็นของตัวเอง การค้นคว้าเอกสารทางประวัติศาสตร์อย่างหนังสืองานศพ หรือเรื่องเล่าของครอบครัวก็มีความเหลื่อมกันระหว่างการเป็นบันทึกความทรงจำที่มีการใส่มุมมองส่วนบุคคลในการเล่าเรื่องเยอะกับการเป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นวิชาการ





DSC01813.JPG
  • ผศ.ดร.วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เธอออกปากว่า พุทธศักราชอัสดงฯ น่าประทับใจมาก เพราะขณะที่ประเทศไทยผูกติดกับประวัติศาสตร์ชุดเดียวของรัฐชาตินับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น นวนิยายกลับเรื่องนี้ไม่ได้บอกเล่าว่า ความจริงในประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร แต่เล่าเรื่องผ่านมุมมองของคนหลายคนที่ทำให้ผู้อ่านต้องตั้งคำถามตลอดเวลาว่า สามารถเชื่อเรื่องเล่าแต่ละเรื่องได้ไหม ผู้เล่าหลอกหรือปิดบังความจริงบางอย่างอยู่หรือเปล่า

“จริงๆ แล้วพื้นฐานของคนเรียนประวัติศาสตร์คือ อ่านอะไรต้องไม่เชื่อทั้งนั้นโดยสิ้นเชิง นิยายเล่มนี้ก็อ่านแล้วทำให้รู้สึกอย่างนั้นด้วย คือเชื่อไม่ได้ ต้องตั้งคำถามตลอดเวลา”


ความเชื่อที่เหนือกว่าความจริง

ผศ.ดร.วาสนา ยังเปิดประเด็นอีกว่า ในหลายๆ ครั้งก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่า อะไรมีอิทธิพลมากกว่ากันระหว่างสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ กับสิ่งที่คนเชื่อว่าเกิด แม้ความเชื่อนั้นอาจจะมหัศจรรย์เสียจนยากจะยอมรับ และไม่มีหลักฐานชัดเจน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าเรื่องนั้นเกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังคงมีคนเชื่อตาม และก่อให้เกิดอิทธิพลสืบมา

“ประวัติศาสตร์ที่คนเชื่อว่าเกิดมันก็มีความสำคัญ และมีอิทธิพลกับชีวิตเราไม่น้อยไปกว่าประวัติศาสตร์ที่ควรจะเป็นข้อเท็จจริงด้วยซ้ำไป ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอด้วย และเหตุผลว่าคนจะเชื่อหรือไม่เชื่อว่ามันเกิด เขาก็มีเหตุผลของเขา”


ในฐานะชาวคริสต์คนหนึ่ง เธอยกตัวอย่างถึงเรื่องเล่าอภินิหารของพระเยซู ตั้งแต่การปฏิสนธินิรมลที่ทำให้พระนางมารีย์คลอดบุตรเป็นพระเยซูได้แม้ตัวเองจะยังคงเป็นพรหมจรรย์ หรือการฟื้นคืนชีพของพระเยซูหลังถูกตรึงกางเขนนั้น ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังคงมีคนจำนวนมากที่เชื่อ และความเชื่อนี้ก็ส่งอิทธิพลต่อโลกอย่างยิ่งเมื่อสังเกตจากจำนวนประชากรโลกที่นับถือศาสนาคริสต์

“ความเชื่อนี้ก็มีอิทธิพลใหญ่หลวงมากต่อโลกใบนี้ โดยเราไม่มีวันพิสูจน์ได้เลยว่ามันจริงหรือไม่จริง จะมีคนที่ไม่เชื่อแล้วไปบอกคนที่เชื่อว่ามันไม่จริง มันก็ไม่เกิดผลอะไรขึ้นมา”

เธอขยายความต่อว่า ความเชื่อชวนสงสัยลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกันว่า เหตุการณ์บางเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงหรือไม่ แต่หลายๆ คนก็เชื่อเช่นนั้น แม้จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ รวมถึงไม่สามารถโน้มน้าวด้วยตรรกะ เหตุผล หรือวิทยาศาสตร์ เป็นเหตุให้ต้องคิดว่าจะจัดการความขัดแย้งของชุดเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์อย่างไร จะจัดการความขัดแย้งของเรื่องเล่าที่มีหลักฐานและตรรกะรองรับกับเรื่องที่คนอื่นเชื่อ และอยากจะเชื่อเช่นนั้นอย่างไร เมื่อความเชื่อนั้นมีอิทธิพลด้วย ในแง่นี้เธอจึงมองว่า การที่พุทธศักราชอัสดงฯ ยั่วล้อให้ตั้งคำถามกับการเล่าเรื่องหลากมุมมองจึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

“อ่านแล้วจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองตลอดว่า คุณเชื่ออะไรได้บ้าง แล้วสิ่งที่คุณเชื่อมันมีผลยังไงกับโลกทัศน์ของคุณ มีผลยังไงกับสังคมรอบข้าง มีผลยังไงกับความเชื่อของคนอื่น งานชิ้นนี้สำหรับนักเรียนประวัติศาสตร์นี่ต้องอ่านเลย ท้าทายความคิดของตัวเองมาก”


ความไม่ทรงจำ เรื่องเล่าที่ถูกเลือกลืม

ในฐานะที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าถึงความสำคัญของชาวจีนต่อการเติบโตของเมืองหลวงของไทยว่า “กรุงเทพฯ เป็นไปได้ด้วยการเข้ามาของคนจีน”





DSC01830.JPG
  • ดร.ธร ปีติดล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชาวจีนเข้ามาตอบโจทย์เรื่องการขาดแคลนแรงงาน และการฟื้นฟูระบบศักดินา โดยคนจีนเป็นหน้าด่านให้ระบบเจ้าภาษีนายอากร และเป็นแรงงานที่เข้ามาสร้างหลายๆ สิ่งที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

อำนาจทางเศรษฐกิจของคนจีนในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นั้นมากเกินกว่าจะกีดกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นปฏิบัติการณ์ด้านความทรงจำ ชนชั้นนำสยามทำให้ชาวจีนจดจำตัวเองว่าเป็นไทย ไทยสร้างความเป็นชาติ สร้างความทรงจำร่วม และบีบให้คนจีนใช้อัตลักษณ์ความเป็นไทย ซึ่งวรรณกรรมเกี่ยวกับคนจีนส่วนใหญ่เล่าเรื่องอย่างสอดคล้องกับปฏิบัติการณ์นี้ โดยวรรณกรรมก่อนช่วงการเติบโตของชนชั้นกลางจีนเป็นวรรณกรรมที่ชนชั้นนำไทย หรือนักเขียนไทยพยายามพูดตักเตือนคนจีนให้รู้จักรับเอาความเป็นไทย แต่เมื่อถึงยุคที่ชนชั้นกลางจีนเติบโตตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั้น ดร.ธร เรียกยุคนี้ว่าเป็นยุค ‘ลอดลายมังกร’ ตามชื่อนวนิยายของ ประภัสสร เสวิกุล ซึ่งเป็นเรื่องราวการต่อสู้ตั้งตัวของชาวจีนตามแบบฉบับ

“ยุคที่อำนาจเศรษฐกิจของคนจีนเติบโตขึ้นมาได้ เรียกว่าวางเท้าลงบนแผ่นดินนี้ และชูคอมาบอกได้ว่าฉันคือคนมั่งคั่ง สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาได้ในประเทศนี้ มีอำนาจต่อรอง ชนชั้นนำปฏิเสธไม่ได้แล้วว่าต้องหาที่ทางให้เศรษฐีจีนอยู่ เมื่อนั้นแหละที่ความทรงจำแบบลอดลายมังกร ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมอำนาจเศรษฐกิจพวกนี้ เราอาจจะบอกได้ว่า พุทธศักราชอัสดงฯ เป็นคู่ไฟต์ลอดลายมังกร”

เขาชี้ว่า วรรณกรรมคนจีนในเมืองไทยมักเล่าถึงเรื่องราวแบบ ‘เสื่อผืนหมอนใบ’ เป็นการดิ้นรนต่อสู้ เติบโต และประสบความสำเร็จ พร้อมซาบซึ้งพระคุณของแผ่นดินไทย นี่คือชุดเรื่องราวของชาวจีนที่มักเลือกจดจำกันเป็นหลัก

ขณะที่วรรณกรรมของคนที่มีบริบทเป็นการย้ายไปอาศัยในถิ่นอื่นมักจะถูกเล่าในลักษณะของการพลัดพรากจากลา เจ็บปวดที่ต้องเป็น ‘คนอื่น’ แปลกแยกอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่ประเทศตัวเอง นี่เป็นสิ่งที่วรรณกรรมลูกจีนในไทยไม่ค่อยพูดถึง ความแตกต่างที่ถูกพบมากในพุทธศักราชอัสดงฯ จึงเป็นการพูดเรื่องปฏิบัติการณ์ความทรงจำ มีเรื่องราวของชาวจีนที่คิดถึงบ้านเกิดซึ่งเป็นสิ่งถูกชนชั้นนำไทยกลบให้หายไป นี่คือความไม่ทรงจำอย่างแรก

ยังอาจกล่าวได้อีกว่า ประวัติศาสตร์แบบลอดลายมังกรไม่ใช่ภาพสะท้อนเส้นทางล่าสุดของจีนในสยาม เพราะเศรษฐกิจไทยหลัง วิกฤตเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ที่จบความทรงจำแบบเสื่อผืนหมอนใบลง และเศรษฐกิจหลังจากนั้นไม่ใช่เศรษฐกิจที่จะเล่าถึงการสร้างเนื้อสร้างตัวของคนจีนแล้วบอกว่ารู้สึกดีที่ได้อยู่บนแผ่นดินนี้อีกแล้ว เพราะกลายเป็นเศรษฐกิจอีกแบบที่มีทุนใหญ่เชื่อมโยงกับอำนาจทางการเงิน และที่เหลือก็เป็นทุนเล็กที่ต้องคอยดิ้นรนโดยยังไม่มีโอกาสอะไรมากมาย

อีกหนึ่งความไม่ทรงจำคือ บทบาทของปรากฏการณ์ ‘ลูกจีนรักชาติ’ ที่แสดงมุมกลับความล้นเกินของความภูมิใจ คือมีความเป็นไทยยิ่งกว่าไทยกระทั่งดูมีปัญหา

“หากจะว่าไปนี่คือบริบทที่งานพี่แหม่ม-วีรพร เกิดขึ้น มันคือบริบทที่เราต้องการมุมใหม่ที่กลับไปมองลูกจีน ประวัติศาสตร์คนจีนในไทย แล้วถามใหม่ว่าเราคิดแบบอื่นได้ไหม คิดแบบที่ไม่ต้องเป็นชุดเรื่องเล่าหลักอันเดียวคือเรื่องเล่าแบบเสื่อผืนหมอนใบ พึ่งพระบรมโพธิสมภาร เราอยากให้มาลองคิดแบบอื่นกัน”

ดร.ธร. ทิ้งทายว่า พุทธศักราชอัสดงฯ เป็นตัวจุดประกาย และหวังว่าวรรณกรรมจากลูกจีนในประเทศนี้จะมีขึ้นอีกและมาช่วยกันพูดคุยเพื่อสร้างความทรงจำของลูกจีนในอีกหลายๆ แบบ


เมื่อการเมืองเคลื่อนผ่านไป ลูกจีนกับสถานะชายขอบการเมืองไทย

ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่าพุทธศักราชอัสดงฯ ไม่ใช่นิยายแบบ ‘สี่แผ่นดิน’ โดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หรือ ‘ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน’ โดย วินทร์ เลียววาริณ ที่พูดถึงเหตุการณ์ทางการเมืองโดยการที่ตัวละครเข้าไปเกี่ยวพัน หรือมีบทบาททางการเมือง กลับกัน นวนิยายเรื่องนี้เพียงใช้การเมืองไทยเป็นฉากหลัง สอดแทรกเหตุการณ์เข้ามาอย่างไร้ที่มาที่ไป ไม่ปะติดปะต่อ คล้ายประวัติศาสตร์เพียงเคลื่อนผ่านไปเอง บางเหตุการณ์ก็เหมือนเป็นอุบัติเหตุที่ตัวละครเข้าไปเกี่ยวข้อง





DSC01816.JPG
  • ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เขายกตัวอย่างการร่วมเป็นยุวชนทหารในสมัย จอมพล ป. ที่มีการเกณฑ์เยาวชนไปช่วยรัฐต่อสู้สงคราม โดยปกติแล้วการเลือกจะเป็นทหารมักถูกมองว่าเป็นความรักชาติ แต่ตัวละครในเรื่องที่เป็นยุวชนทหารในเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับความรักชาติ แต่เป็นเหตุผลในฐานะปัจเจก คืออยากพิสูจน์ตัวเองให้พ่อภูมิใจ และยังมีตัวละครอีกตัวหนึ่งที่พ่ออยากให้เป็นทหาร และสุดท้ายก็เป็นทหารเรือ ทั้งที่ผู้เป็นพ่อไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรักชาติ แต่ตระหนักว่าการเป็นคนจีนก็เสมือนเป็นผู้อาศัย อย่างไรก็ถูกมองเป็นคนนอก การมีลูกรับราชการนั้นสำคัญมากเพราะเหมือนเป็นการยกสถานะ แปลงตัวเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ได้รับการนับหน้าถือตามากขึ้น และอาจได้รับคอนเนกชันที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในอนาคต

“ผมรู้สึกว่าสุดท้ายมันสะท้อนการเมืองไทยได้ดีกว่านิยายที่เล่าประวัติศาสตร์การเมืองไทยแบบเข้าไปต่อสู้ ไปทำนู่นทำนี่ จริงๆ แล้ว ผมว่าเรื่องนี้เล่าความจริงได้ดีที่สุด เพราะว่าถ้าคุณเป็นครอบครัวจีน ยิ่งไปอยู่ต่างจังหวัด แล้วฐานะก็ไม่ได้ดีมาก คุณเป็นชายขอบของชายขอบของการเมืองไทยยุคนั้น เพราะฉะนั้นมันก็ถูกแล้ว คุณมีบทบาทแค่นี้แหละ เป็นเหยื่อบ้าง ถูกพัดพาเข้าไปบ้าง โดนลูกหลงบ้าง”

ผศ.ดร.ประจักษ์ สำทับว่า ในยุค 2475 จนถึงยุคของจอมพลสฤษดิ์ การเมืองยังคงเป็นการเมืองของชนชั้นนำในพระนคร ในกรุงเทพฯ บทบาทในทางการเมืองของคนจีนนั้นยากจะมี วิธีที่ครอบครัวในเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ก็เหมือนว่าเรื่องราวนั้นห่างไกลตัวพวกเขามาก และไม่มีสิ่งใดที่พวกเขาจะเข้าไปกำหนดได้เลย

ยุคสมัยที่ลูกจีนเข้าไปมีบทบาททางการเมืองคือยุค 14 ตุลาฯ 6 ตุลาฯ แล้ว เป็นยุคที่ลูกจีนชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งได้เรียนหนังสือโดยเฉพาะในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้ความคิดใหม่ๆ ที่ตั้งคำถามกับรัฐและชาติ และในพุทธศักราชอัสดงฯ ก็บอกเล่าเรื่องนี้ผ่านตัวละครรุ่นหลานที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ด้วย


เรื่องเล่าอันไม่ปะติดปะต่อ จากความทรงจำแหว่งวิ่นของคนอื่น

การที่ผู้อ่านได้พบเรื่องราวไม่ปะติดปะต่อที่ถูกเล่าผ่านตัวละคร ‘ดาว’ ซึ่งก็ฟังมาจากตัวละครอื่นอีกที คือสิ่งที่ผศ.ดร.ประจักษ์ มองว่าเป็น ‘ทรงจำของทรงจำ’ ในชื่อเรื่อง เพราะเป็นการเล่าความทรงจำซึ่งฟังมาจากความทรงจำของผู้อื่นอีกทีหนึ่ง

“เรื่องเล่าที่เขาเล่าให้เราฟังก็ไม่ปะติดปะต่อ เพราะสิ่งที่เขาได้ฟังมามันก็ไม่ปะติดปะต่อ หรือบางเรื่องเล่าๆ แล้วมันก็หยุดไป ไม่ถูกเล่าต่อ บางเรื่องเหมือนเล่าแล้วถูกเซนเซอร์ว่าให้รู้แค่นี้พอ อ่านไปอ่านมาจนจบเรื่อง พอผมกลับไปอ่านรอบที่สองก็ไม่ได้กระจ่างชัดกว่าเดิมมาก (หัวเราะ) แล้วผมก็รู้สึกว่าตัวละครที่ชื่อดาวนี่แหละคือสังคมไทย ก็คือเราโตมากับประเทศที่ปลูกฝังความทรงจำแบบกระท่อนกระแท่นให้เราแบบนี้แหละ แบบตัดตอน แบบแหว่งวิ่น”

เขากล่าวต่อว่าหากใครโชคดีได้ขวนขวายข้อมูลและต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ แม้จะไม่สามารถเข้าถึงความจริงได้ แต่ก็จะพอเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ทว่าถ้าไม่ขวนขวายเลยก็จะอยู่กับชุดความทรงจำที่ถูกกล่อมเกลาและสร้างขึ้นมา โดยรัฐน่าจะเป็นตัวที่มีบทบาทมากที่สุด

“ผมรู้สึกว่าถึงที่สุดแล้วสิ่งที่รัฐไทยเก่งที่สุดก็คือการควบคุมความทรงจำของคน”

ผศ.ดร.ประจักษ์ มองว่า คนรุ่นลูกศิษย์ของเขาน่าจะอินกับหนังสือเล่มนี้ เพราะพวกเขาโตมากับความทรงจำที่ไม่ปะติดปะต่อ จับต้นชนปลายไม่ถูก โดยผศ.ดร.ประจักษ์ได้ยกตัวอย่างติดตลกถึงการที่นักศึกษาบางคนจดจำเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในไทยฉบับปะติดปะต่อเอาเองอย่างเช่นเหตุการณ์ ’16 ตุลาฯ’

“มีข้อสอบหนึ่งที่นักศึกษาเขียนตอบผม แล้วผมยังจำมาจนถึงทุกวันนี้ ผมชอบมาก ให้เล่าการเมืองไทยสมัยใหม่ เขาบอกว่าเริ่มต้นที่คณะราษฎร นำโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หลังเกิดความขัดแย้งภายในคณะราษฎร นายเสกสรรค์จึงต้องหนีเข้าป่าไป หนีเข้าป่าไปตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง … นี่ขนาดเด็กรัฐศาสตร์ ผมคิดว่ายิ่งเด็กคณะอื่นที่เขาไม่ต้องมาเรียนอะไรพวกนี้เลย น่าจะยิ่งมีความทรงจำที่น่ามหัศจรรย์อีกชุดหนึ่ง”

เขาเห็นด้วยกับผศ.ดร.วาสนา เรื่องอิทธิพลของเรื่องเล่าที่ถูกเชื่อ โดยมองว่าวาทกรรมชิงสุกก่อนห่ามปี 2475 หรือเหตุการณ์ลึกลับดำมืดอีกหลายอย่างก็ยากจะแก้ได้เพราะกลายเป็นความเชื่อไปแล้ว ประวัติศาสตร์ไทยเต็มไปด้วยประเด็นอ่อนไหวที่หยิบจุดไหนมาก็มีการทะเลาะถกเถียงกันวุ่นวายเพราะความทรงจำที่ต่างกัน และเราเป็นผลผลิตของประเทศซึ่งตัดต่อความทรงจำเก่ง

“พอคุณควบคุมความทรงจำคนได้คุณก็ควบคุมความคิด คุณก็ควบคุมอัตลักษณ์ความเข้าใจว่าตัวเขาเองคือใคร ซึ่งผมว่าอันนี้มันลึกซึ้งที่สุดแล้วที่รัฐสามารถทำได้กระทั่งคนจีนเอาอัตลักษณ์ที่รัฐปลูกฝังให้ซึมซับเข้าไป จนอธิบายว่าเราคือใคร เรามาพึ่งเขาอยู่ เรามาอาศัยเขาอยู่ ฉะนั้นเราต้องตอบแทนบุญคุณยังไงบ้าง มันควบคุมกระทั่งพฤติกรรมจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งมันเป็นการควบ��ุมที่ลึกซึ้งที่สุดแล้วที่ทำให้เราไม่เข้าใจตนเอง”


เราคือใคร

ทางด้านผู้เขียน แหม่ม-วีรพร นิติประภา เล่าว่านวนิยายพุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ เริ่มมาจากวาทกรรม ลูกจีนกู้ชาติ ดังที่ดร.ธร ว่า เพราะชาติที่ลูกจีนจะไปกู้นั้นกลับไม่ใช่ชาติจีน แต่เป็นชาติไทย ทำให้เธอคิดว่าน่าจะเริ่มเขียนว่าลูกจีนคืออะไร





DSC01841.JPG
  • วีรพร นิติประภา ผู้เขียน พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

“จะทำนิยายที่เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ มายาคติ ความเป็นคนของแต่ละคน ความเป็นชาติ ความเป็นเจ๊ก ความเป็นไทย แต่ที่พี่สงสัยและสนใจจริงๆ ตั้งแต่ต้นก็คือ เราคือใคร ทำไมเราทำอย่างที่เราทำ เป็นอย่างที่เราเป็น ทำไมเราไม่เป็นอื่น”

เธอมองว่า การเล่าประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมีความประหลาด ไม่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของโลก ช่วงสงครามโลกก็รู้จักเพียงญี่ปุ่น ไม่ทราบว่าเขมร ลาว หรือเวียดนามกำลังทำอะไรอยู่ ไม่รู้ว่าก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพียงหนึ่งปีเกิดอะไรขึ้นที่เวียดนาม เรื่องราวเหล่านี้ไม่ถูกเล่าในตำราคล้ายประเทศไทยเป็นชนชาติที่โดดเดี่ยวตัวเองออกมา

นอกเหนือจากเรื่องราวของประวัติศาสตร์ และความเป็นประชากรตัวเล็กๆ ที่ไม่มีส่วนร่วมกับการตัดสินใจต่างๆ ของภาครัฐแล้ว วีรพรยังนำเสนอประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำในรูปแบบที่ใกล้ชิดกับชีวิตมากขึ้น

“ทุกคนเข้าใจเรื่องนี้ แต่ดูเหมือนทุกคนไม่เข้าใจว่ามันเจ็บช้ำแค่ไหน เราก็จะมีตัวละครซึ่งเป็นลูกเลี้ยง และตัวละครซึ่งพ่อแม่ไม่รัก เพื่อที่จะพูดเรื่องนี้ เรื่องใกล้ตัวสุด ถ้าเกิดคุณเป็นลูกแล้วพ่อแม่ไม่รักคุณน่ะ อะไรๆ ก็น้อง อะไรๆ ก็น้อง มันง่ายกว่า นั่นคืออำนาจที่เรามีอยู่ในขอบข่ายของการใช้วรรณกรรม แทนที่เราจะไปบอกว่าอย่านะ เราต้องเท่าเทียมกันนะ เราต้องเป็นคนเหมือนกัน ยากไปหรือเปล่า จริงๆ มันไม่ยาก แต่ทำไมมันกลายเป็นเรื่องยาก พอเราเขียนนิยาย เรามีพื้นที่ตรงนี้ โอเค ลูกพ่อแม่ไม่รัก ทำยังไง จบ”

เธอกล่าวต่อว่า ในหนังสือจะมีหลายๆ เหตุการณ์ที่คล้ายเป็นเหตุการณ์ลึกลับดำมืด เช่น กบฎแมนฮัตตัน ซึ่งเธอเล่าว่าเธอเคยอ่านจากหนังสือ ‘เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล’ ของ มนัส จารุภา ซึ่งไม่มีใครยืนยันว่าเขาอยู่ในเหตุการณ์นั้น หรือทำอะไรบ้าง และภาพข่าวก็มีน้อยมาก เธอมองว่าเรื่องราวเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตันนั้นยากจะรู้ความจริง ทั้งที่สิ่งที่เกิดหลังกบฏแมนฮัตตันเป็นการเปลี่ยนขั้วอำนาจครั้งใหญ่และเป็นการจัดการกองทัพเรือในระดับเด็ดขาด

สำหรับกรณีเลียะพะ ซึ่งถูกเล่าในเรื่องด้วย เธอเคยไปเยาวราชกับ สมชัย กวางทองพาณิชย์ ผู้เชี่ยวชาญพื้นที่เยาวราช และพูดคุยกับคนสูงวัยหลายคนเกี่ยวกับกรณีเลียะพะ ปรากฏว่าไม่มีใครรู้เรื่องนี้ราวกับเหตุการณ์ไม่เคยเกิดขึ้น แม้จากบันทึกจะพบว่า มีการยิงปืนกลลงมาจากตึกชั้นสี่เพื่อต่อสู้กับฝ่ายรัฐบาล

“กรณี 6 ตุลาฯ เลียะพะ แมนฮัตตัน และกรณีอื่นๆ มันสร้างแรงกระทำเยอะมากกับสังคมของพวกเราโดยที่เราแทบไม่รู้อะไรเลย จะมีสามสี่เหตุการณ์นี้ที่ตั้งธงไว้แล้วอยู่ในเรื่อง แล้วก็จะมีแต่คำถาม คำถามก็คือว่า ทำไมคุณไม่รู้อะไรเลย หรือว่าการที่คุณไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้แสดงว่าคุณมีพื้นฐานความคิดแบบไหน คือมันไม่ใช่แค่การถูกควบคุมความทรงจำเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงว่าเมื่อความทรงจำชุดหนึ่งหายไป ชิ้นหนึ่งหายไป หรือถูกแทนที่ด้วยข้อมูลที่มันไม่ใช่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความวิปลาศ ในทฤษฎีของวีรพรน่ะนะ ไม่ต้องแปลกใจ ประเทศนี้ก็เลยมีคนบ้าๆ บอๆ เยอะ”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเกี่ยวกับหนังสือเรื่องนี้คือ ประเด็นความรักเชิงชู้สาวในครอบครัว วีรพรชี้ว่าเหตุการณ์นี้น่าสนใจว่ามีเพียงคนอ่านเท่านั้นที่รู้ว่าตัวละครทั้งสองคนไม่ได้เป็นพี่น้องกันจริงๆ แต่ตัวละครทั้งสองไม่รู้เรื่องนี้ พวกเขาคิดว่าต่างฝ่ายต่างเป็นพี่น้องกัน และยังคงเลือกที่จะรักกัน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องร้ายแรงมากในสังคมไทย ทว่าผู้เขียนเองก็แปลกใจที่เหตุการณ์ดังกล่าวในเรื่องกลับไม่ได้ถูกทักท้วงเลย ทั้งที่ในทีแรกเธอคิดว่าคงจะไม่มีทางได้ซีไรต์ เพราะมีประเด็นนี้อยู่ในเรื่อง

นี่เป็นประเด็นที่วีรพรกล่าวว่า ‘วางยา’ ไว้ในเรื่อง เพราะหากตัดสินตามศีลธรรมแล้ว การที่ตัวละครไม่รู้ความจริง และตกลงใจรักกันทั้งที่คิดว่าเป็นพี่น้องกันย่อมเป็นเรื่องผิด แต่ความร้ายแรงอาจถูกลดทอนในสายตาผู้อ่านเสียเอง เพราะผู้อ่านเป็นผู้ที่รู้อยู่แล้วว่าทั้งสองไม่ใช่พี่น้องกันจริงๆ

“ในที่สุดแล้วเมื่อคุณรู้ข้อมูลบางอย่างในเส้นประวัติศาสตร์ ความคิดคุณก็จะเปลี่ยน” วีรพรกล่าว


ชมคลิป ทำอย่างไรเมื่อประวัติศาสตร์ไทยไว้ใจไม่ได้