ไม่พบผลการค้นหา
มากกว่าที่ดินแพง คือรัฐบาลไม่แทรกแซงความคิดสร้างสรรค์ผู้คน และประวัติศาสตร์ความสำคัญระหว่าง 'ถนน' vs 'อาคารบ้านเรือน'

ตึกรามบ้านช่องและสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่บนท้องถนน ล้วนเป็นหนึ่งในสิ่งบ่งบอกอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ แม้บางครั้งจะกลายเป็น 'ภาพจำ' หรือ 'การเหมารวม' ที่ไม่ถูกต้องเสียทีเดีย อย่างไรก็ดี ความกลมกลืมและลักษณะที่สอดประสานเหล่านี้ย่อมสร้างลักษณะเฉพาะและกลิ่นอายบางอย่างให้กับที่ตั้งซึ่งมันดำรงอยู่

เมื่อพูดถึง 'ญี่ปุ่น' โดยเฉพาะกับเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงโตเกียวและพื้นที่เมืองอื่นๆ ผู้ไปเยือนมักจะพบกับตึกเล็กๆ แคบๆ ผสมผสานอยู่ในหลายหัวมุมถนนบ้าง ซ่อนตัวอยู่ระหว่างบ้านพักอาศัยสองหลังบ้าง หรือไม่ก็ไปหลบมุมอยู่หลังศูนย์การค้าขนาดใหญ่โตบ้าง จริงอยู่ว่าคำตอบแรกคงหนีไม่พ้นราคาที่ดินที่แพงมหาศาล แต่นั่นไม่ใช่คำตอบเดียว 

'เอ็ดเวิร์ด เอ็ม โกเมซ' นักข่าวศิลปะที่ตีพิมพ์ผลงานกับ Nikkei Asian Review ประสบกับภาวะฉงงของตึกเล็กตึกน้อยเหล่านี้เช่นเดียวกัน ทว่าเขาเลือกหาคำตอบที่มากไปกว่าแค่ 'ที่ดินแพง' 


ศิลปะของอยู่ร่วมกัน
สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์

คำตอบแรกที่เราได้จากงานชิ้นล่าสุดของเขาคือ 'ระบบการแบ่งเขต' ของญี่ปุ่น ที่มีการกำหนดกฎเกณฑ์กันในระดับชาติ แต่ก็อนุญาตให้มีการประยุกต์ข้อบังคับบางอย่างเพื่อสอดรับกับแต่ละพื้นที่ เช่น การจำกัดความสูงของตึกในจังหวัดเกียวโตเพื่อปกป้อง "ภาพทิวทัศน์ของเมืองประวัติศาสตร์" 

ญี่ปุ่น
  • ภาพร้านค้าในย่านชินจูกุ โดย Michael Gluzman

การแบ่งเขตของญี่ปุ่น ทั้งแบบเขตที่อยู่อาศัยไปจนถึงเขตอุตสาหกรรม ยังพัฒนาขึ้นมาบนฐานความคิดของการผนวกรวมทุกกลุ่มคน (inclusivity) มากกว่าการแบ่งที่อยู่เฉพาะกลุ่มแยกกัน (exclusivity) เช่น เขตนี้เป็นเขตของคนมีรายได้สูงเท่านั้น จึงเป็นผลให้เกิดความหลากหลายของผู้คนในพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งท้ายสุดก็กลับไปสะท้อนออกมาจากผลงานสถาปัตยกรรม-บ้านเรือนต่างๆ 

เท่านั้นยังไม่พอ เมื่อผู้ยื่นขอก่อสร้างได้รับอนุญาตและวางแผนก่อสร้างที่ตรงกับเงื่อนไขของพื้นที่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นกฎเกณฑ์เบื้องต้นเท่านั้น ผู้ก่อสร้างจะสามารถออกความคิดสร้างสรรค์กับผลงานของตัวเองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปแทรกแซง 


ตารางเมตรละ 300,000 บาท 

เรื่องรูปทรงแปลกประหลาด ดูแปลกตา อาจได้คำตอบไปแล้วว่าเพราะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเอื้อให้ผู้ก่อสร้างใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่เมื่อเป็นไปในกรอบที่วางไว้ แต่ในมิติของการสร้างตึกหรือบ้านเรือนในขนาดที่เล็กจิ๋วเอามากๆ คำตอบคงหนี้ไม่พ้นค่าที่อันแพงมหาศาล ซึ่งอาจหมายถึงราคาที่แพงกว่าการสร้างบ้านหรือร้านค้าขึ้นมาด้วยซ้ำ

ตามข้อมูลจาก statista ค่าที่ดินเฉลี่ยของโตเกียวในปี 2563 อยู่ที่ 1,120,000 เยน/ตารางเมตร หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 320,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี 

เมื่ออ้างอิงข้อมูลที่ดินระหว่างปี 2559-2562 จากกรมธนารักษ์ ปัจจุบันถนนเพลินจิต มีราคาประเมินที่ดินสูงเป็นอันดับต้นๆ ของกรุงเทพมหานคร ด้วยราคาซื้อขายประมาณ 900,000 บาท/ตารางวา

หากปรับจากตารางวาเป็นตารางเมตร จะได้ว่าที่ดินของถนนเพลินจิตซื้อขายกันราว 225,000 บาท/ตารางเมตร ซึ่งยังนับว่าต่ำกว่าราคาเฉลี่ยที่ดินทั่วกรุงโตเกียวอยู่มาก

ญี่ปุ่น
  • ภาพร้านค้าในกรุงโตเกียว โดย Michele Vergolani

ไม่เพียงแค่ที่ดินในญี่ปุ่นจะแพงมหาโหด ภาษีมรดกเองก็สูงทะลุเพดานและประเทศอื่นๆ ไปมากเหมือนกัน เริ่มต้นที่ 10% และมีเพดานสูงถึง 55% ขณะที่เพดานภาษีมรดกของฝรั่งเศส, สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี อยู่ที่ 45% 40% และ 30% ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ ครอบครัวที่ได้รับมรดกตกทอดเป็นที่ดินเล็กๆ ตามหัวมุมจึงนิยมขายทิ้ง ไม่ก็สร้างบ้านเล็กๆ หรือตึกขึ้นมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยและการทำธุรกิจแทน 


การก่อร่างสร้างตัวของ 'เมือง' และ 'ถนน'

เอ็ดเวิร์ด ทิ้งคำตอบสุดท้ายก่อนเปลี่ยนไปถ่ายทอดประสบการณ์ตรงที่เขาพบเจอตึกเล็กตึกน้อยรูปทรงล้ำสมัยว่า ย้อนกลับไปในยุคเมจิ ระหว่างปี 2411-2455 รัฐบาลมีความต้องการจัดระเบียบแผนผังเมืองให้มีความสวยงามเลียนแบบประเทศในยุโรป 

แม้จะมีแรงบันดาลใจสำคัญมาจากแผนการฟื้นฟูกรุงปารีสในสมัยจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 แต่ความแตกต่างอย่างสำคัญที่สุด ระหว่างญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตกคือ ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของประเทศฝั่งตะวันตกมักให้ความสำคัญอันดับที่หนึ่งกับ 'ถนน' ก่อนสิ่งอื่นเสมอ และเมื่อเวลาผ่านไปจึงสร้างบ้านเรือน อาคารการค้าต่างๆ ตามถนนแต่ละสาย 

ขณะที่พื้นที่เมืองของญี่ปุ่นถูกพัฒนาขึ้นมาจากที่ดินจัดสรรที่มีประวัตศาสตร์สืบกลับไปยังการทำนาข้าวและเกษตรกรรม เมื่อเมืองถูกพัฒนาขึ้น การพัฒนาที่เกิดขึ้นก่อนจึงเป็นตึกรามบ้านช่องแล้วค่อยมาสร้างถนนตัดเชื่อมภายหลัง 

ปารีส ถนน

ประวัติศาสตร์ระหว่างการให้ความสำคัญกับ 'ถนน' หรือ 'อาคาร' เป็นหนึ่งในตัวบ่งชี้สำคัญที่ทำให้บ้านเรือนหรือสถาปัตยกรรมในฝั่งตะวันตกหรือประเทศในแถบยุโรปดูมีระเบียบแบบแผนและเป็นไปโดยมีรูปแบบทั่วไปสอดคล้องกันมากกว่า

เมื่อโจทย์เป็นเช่นนี้แล้ว การแก้ปัญหาจากข้อจำกัดที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ และนั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่แม้แต่สถาปนิคชื่อดังของญี่ปุ่นอย่าง ฮิโรชิ ฮาระ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบสถานีรถไฟเกียวโตอันใหญ่โต ยังชี้ว่า การออกแบบบ้านเล็กๆ นั้นท้าทายและ "สะใจ" กว่ามาก เพราะผู้ออกแบบถูกทดสอบทั้งศักยภาพในการใช้พื้นที่ แสงและเงา เพื่อไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ อย่างน้อยที่สุดคือการออกแบบเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึก 'ใหญ่' กว่าความเป็นจริง