ไม่พบผลการค้นหา
นิโคลา สเตอร์เจียน มุขมนตรีสกอตแลนด์เตรียมเปิดการรณรงค์ เพื่อการประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ต่อสหราชอาณาจักรอีกครั้ง หลังจากเธอยืนยันว่าทางการสกอตแลนด์จะเริ่มการรณรงค์ ‘indyref2’ ใหม่ หลังจากความล้มเหลวในครั้งก่อน

สเตอร์เจียนยืนยันว่า การลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรของสกอตแลนด์จะจัดขึ้นก่อนสิ้นปีหน้า โดยจะมีการเปิดเผยเอกสารการรณรงค์ชุดแรกในช่วงวันนี้ (14 มิ.ย.) เพื่อปูทางไปสู่การลงประชามติประกาศเอกราชของสกอตแลนด์

“หากเรารู้ในปี 2557 อย่างที่เรารู้ในปัจจุบัน เกี่ยวกับเส้นทางของสหราชอาณาจักรที่จะถูกเลือกเดินในตอนนั้น ดิฉันไม่สงสัยเลยว่าสกอตแลนด์จะโหวตใช่ในอดีต” สเตอร์เจียนกล่าวถึงการลงประชามติแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักรครั้งแรกของสกอตแลนด์ ที่ล้มเหลวลงในปี 2557 ตามมาด้วยการที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้สกอตแลนด์ต้องหลุดออกจากการเป็นสมาชิก ในฐานะประเทศหนึ่งของสหราชอาณาจักร

การลงประชามติประกาศเอกราชของสกอตแลนด์เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2557 ในขณะที่มีประชาชนจำนวน 55% ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับการแยกตัว ค้านกันกับคะแนน 45% ที่เห็นว่าสกอตแลนด์ควรประกาศเอกราชออกจากสหราชอาณาจักร ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รัฐบาลของสกอตแลนด์ถูกโจมตีจากพวกสนับสนุนการรวมตัวกันของสหราชอาณาจักรว่า มีนโยบายหมกมุ่นอยู่กับแค่การประกาศเอกราช

เอกสารที่จะถูกเปิดเผยในวันนี้ ถึงแผนการรณรงค์การประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักรมีชื่อว่า ‘มั่งคั่งกว่า มีความสุขกว่า ยุติธรรมกว่า ทำไมไม่เป็นสกอตแลนด์ล่ะ’ โดยตัวเอกสารจะมีการชี้ว่า ทำไมการประกาศแยกตัวออกจากสหราชอาณาจักร จะส่งผลดีกว่าการอยู่ภายใต้สหราชอาณาจักรแห่งนี้ของสกอตแลนด์

สเตอร์เจียนเปิดเผยว่า เอกสารจะมีการชี้แจงถึงรายละเอียดด้านสกุลเงิน ภาษีและงบประมาณ กองทัพ ประกันสังคมและเงินบำนาญ ตลอดจนสมาชิกภาพสหภาพยุโรปและการค้า โดยมุขมนตรีสกอตแลนด์กล่าวกับสำนักข่าว BBC ว่า “ข้อสรุปดังกล่าวชัดเจนว่าสกอตแลนด์จะทำอะไรได้ดีมากขึ้นกว่าเดิม ในฐานะประเทศเอกราช ไม่มีใครในตอนนี้หันหน้าไปหาสหราชอาณาจักร ความวุ่นวายที่มันตกอยู่ในตอนนี้ และโอกาสของสหราชอาณาจักรนอกสหภาพยุโรปนั้นชัดเจน”

ทั้งนี้ มุขมนตรีสกอตแลนด์ระบุว่า รัฐสภาของสกอตแลนด์มีอำนาจในการจัดประชามติดังกล่าว แต่ยังไม่ได้มีการยื่นเพื่อการพิจารณาบนชั้นศาล ทั้งนี้ สเตอร์เจียนย้ำว่า “มันคือประเด็นที่เรากำลังหาแนวทางกันอยู่ในตอนนี้ เพื่อที่เราจะมีกระบวนการที่ชอบด้วยกฎหมาย”

สเตอร์เจียนชี้ว่า เธอยังคงต้องการจะให้การเปิดลงประชามติของสกอตแลนด์ ได้รับการอนุมัติมาจากทางรัฐสภาสหราชอาณาจักรในอังกฤษ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการจัดประชามติอย่างที่เคยทำมาในปี 2557 ถึงแม้ว่ารัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน จะไม่แสดงท่าทีใดๆ ว่าจะให้การสนับสนุนการเปิดลงประชมติประกาศเอกราชของสกอตแลนด์ในครั้งนี้ก็ตาม


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/uk-scotland-scotland-politics-61785553