ไม่พบผลการค้นหา
พบเต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดที่เขาหลัก จังหวัดพังงา หลังหายไปนานหลายปี แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติของไทยเริ่มกลับมาสมบูรณ์มากขึ้น โดยขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้เคลื่อนย้ายไข่เต่าทั้งหมดให้พ้นแนวทะเลพร้อมปล่อยให้ฟักเองตามธรรมชาติ

วานนี้ (17 ธ.ค.) นายประถม รัศมี ผอ.สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเล และชายฝั่งที่ 8 ได้รับแจ้งว่าพบเต่ามะเฟือง ขนาดยาว 125 ซม. กว้าง 70 ซม. น้ำหนักเกือบ 200 กก. ขึ้นมาวางไข่ บริเวณหน้าโรงแรมออคิดบีช รีสอร์ท เขาหลัก ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทำแนวกั้นเขตเพื่อเฝ้าระวัง พร้อมประสานนักวิชาการให้เข้ามาตรวจสอบ และพิจารณาดำเนินการต่อไป


เต่ามะเฟือง.jpg


โดยสถานการณ์การวางไข่ของแม่เต่ามะเฟืองในพื้นที่เขาหลักนั้นหายไปหลังจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 และพบการกลับมาวางไข่อีกครั้งในเขตอุทยานแห่งชาติเขาลำปี - หาดท้ายเหมือง เมื่อปี 2556 ซึ่งเต่ามะเฟืองมีแนวโน้มจะสูญพันธุ์จากหลายสาเหตุ ทั้งการกลับมาวางไข่น้อยและเว้นช่วงนาน และเครื่องมือการทำประมงหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อการเข้ามาผสมพันธุ์เพื่อวางไข่ของเต่า และจากขยะในทะเล

ด้านนายหิรัญ กังแฮ นักวิชาการประมงชำนาญการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ เดินทางเข้าตรวจสอบลักษณะการวางไข่ และตำแหน่งการวางไข่ของเต่ามะเฟืองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ 


ไข่เต่า.jpg


เบื้องต้นพบว่า เต่ามะเฟืองเพศเมียตัวนี้ยังเป็นเต่าวัยรุ่น ขนาดไม่ใหญ่มาก วางไข่บริเวณสันทรายใกล้กับบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด จึงต้องขุดย้ายไปยังที่ปลอดภัย ห่างจากจุดเดิมประมาณ 25-30 เมตร เป็นจุดที่โล่งสามารถมองเห็นสิ่งคุกคามได้ตลอด ไม่มีรากต้นไม้รบกวน มีไข่เต่าสภาพดี 89 ฟอง แตก 4 ฟอง 

ซึ่งหลังจากนี้ประมาณ 10-20 วัน เต่าตัวเดิมจะกลับมาวางไข่ที่เดิมอีกครั้ง ซึ่งหลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะนำตาข่ายมากั้นเป็นแนว และให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังต่อเนื่อง ส่วนในเรื่องระยะเวลาการฟักจะใช้เวลาประมาณ 45-60 วัน 

สถิติการพบเต่ามะเฟืองที่ผ่านมา มีรายงานการขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดท้ายเหมืองเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ความสำคัญในเรื่องของการเก็บขยะทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เต่าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแมงกะพรุน 


ขยะพลาสติก.jpg


ด้าน นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงการกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองในครั้งนี้ ว่า ต้องขอขอบคุณผู้ประกอบการที่ดูแลปกป้องช่วงเวลาวางไข่และฟักไข่ของเต่ามะเฟืองอย่างดี เพื่อให้เต่ามะเฟืองมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในทะเลลดการเสี่ยงสูญพันธุ์จากโลก 

นอกจากนี้ยังขอบคุณไปยังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจังในการลดใช้ขยะพลาสติกและขยะทะเลในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

สำหรับเต่ามะเฟือง เป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลกและหายากที่สุดของไทย หลังไม่พบการรายงานวางไข่มา 5 ปี พบได้ในน้ำเย็น สามารถว่ายน้ำไปไกลกว่า 20,000 กม. และกินแมงกะพรุนเป็นอาหาร จึงถือเป็นสัตว์ทะเลที่ช่วยควบคุมปริมาณแมงกะพรุนไม่ให้มีมากเกินไป แต่ระยะหลังมานี้เต่ามะเฟืองจำนวนมากจายจากขยะพลาสติกในทะเล เนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัจจุบันเต่ามะเฟืองเป็น 1 ในสัตว์สงวนของไทยที่อยู่ระหว่างขอการแก้ไขกฎหมายสัตว์สงวนสัตว์คุ้มครองเพื่อให้สามารถประกาศสัตว์สวนเพิ่มเติมได้ เพราะในกลุ่มสัตว์สงวน 4 ชนิด คือ เต่ามะเฟือง วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ และฉลามวาฬ 

Photo by Mitch Lensink on Unsplash