ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุมรัฐสภาปัดตก กมธ.เสียยงข้างน้อยดัน 'บัตร 2 ใบ-เบอร์เดียว' มีมติห้ามจัดมหรสพวันเลือกตั้ง ด้าน 'เพื่อไทย' โวยสูตรหาร 500 บี้ กกต. ช่วยงัดกับ 3 ป. ทำฝ่ายค้านเสียเปรียบทุกด้าน ขอยอมแพ้

วันที่ 6 ก.ค. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดย ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ต่อเนื่องวันที่สอง เข้าสู่การพิจารณาลงมติมาตรา 6/3 ที่กรรมาธิการเสียงข้างน้อยเสนอเพิ่ม ให้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ ให้ใช้หมายเลขเดียวกัน เพื่อไม่ให้ประชาชนสับสน จากเดิมที่ กมธ.เสียงข้างมากเสนอให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่เป็นคนละเบอร์กัน  โดยผลการลงมติปรากฏว่า สมาชิกฯ มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ด้วยคะแนน 341 ต่อ 150 งดออกเสียง 5 ราย ไม่ลงคะแนน 3 ราย ทำให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คนละหมายเลข ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไข

จากนั้นที่ประชุมพิจารณาถึงมาตรา 12 ว่าด้วยข้อห้ามมิให้ผู้สมัครกระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ตนเอง หรือผู้อื่นด้วยการสัญญาจะให้ทรัพย์สิน เงินทอง การสัญญาว่าจะให้ การจัดมหรสพงานรื่นเริงต่างๆ ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอมา ได้มีสมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างกว้างขวาง

โดย ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า มีความกังวลมาตรฐานการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะนี้เห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นแล้วหากกลับไปใช้สูตรหาร 500 มองว่าเป็นการแย่งชิงอำนาจ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นขอรักษาอำนาจตนเองไว้ก่อน ไม่สนใจสังคม อยากมีอำนาจทั้งที่เศรษฐกิจแย่ ประชาชนยากจนทุกหย่อมหญ้า แต่ท่านยังอยากไปต่อ ฝ่ายค้านน่าเป็นห่วงที่สุด นอกจากเจอความพิสดารของรัฐธรรมนูญแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้าไม่รู้จะโดนอะไรอีก 

"วันนี้เรารบกับ 3 ป. ไม่ใช่ปลากัด ปลาดุก ปลาช่อน แต่คืออำนาจเต็ม ขอฝากไปยัง กกต.ที่จะสร้างประชาธิปไตยในแผ่นดินให้ความเป็นธรรมกับบ้านเมือง พวกผมหมดปัญญาแล้ว ต่อให้ยกสองมือ ไม่มีทางชนะ ยอมแล้ว" ครูมานิตย์ กล่าว

สำหรับสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับการงดจัดงานมหรสพ เช่น เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย โดยมองว่า ไม่ได้สร้างความเหลื่อมล้ำด้านค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองหรือผู้สมัคร เพราะมีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมืองไว้อยู่แล้ว การจัดงานมหรสพเป็นวิธีให้ประชาชนออกมารวมตัวฟังการแถลงนโยบายในหมู่คนจำนวนมากได้ อย่าเอาการได้เปรียบเสียเปรียบจากการฟังปราศรัยมาเกี่ยวข้อง 

ประชุมรัฐสภา กฎหมายลูก -0333-43DE-96E2-B54574111984.jpegสมชัย ประชุมรัฐสภา -7DA6-4D22-81B0-DFF1745751F2.jpegอนุทิน ประชุมรัฐสภา -D206-422E-8575-661D66E0C3BE.jpeg

ด้าน สมชัย ศรีสุทธิยากร ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ชี้แจงเหตุผลที่ห้ามจัดงานมหรสพว่า เนื่องจากมีความไม่เหมาะสม โดยปกติในการเลือกตั้งทุกครั้งจะงดจัดงานมหรสพอยู่แล้ว เพราะอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างพรรคที่มีเงินจัดมหรสพ กับพรรคที่ด้อยกว่า การให้นำการจัดงานมหรสพคิดรวมเป็นค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งนั้น ทำได้ยาก เพราะราคามหรสพไม่มีมาตรฐานวัดได้ ถ้ารู้จักดาราอาจมาให้ฟรี คิดค่าใช้จ่ายน้อย ถ้าไม่รู้จักอาจคิดราคาแพง ประชาชนมักสนใจแต่งานมหรสพ ไม่สนใจฟังปราศรัยหาเสียง 

ท้ายสุด ที่ประชุมลงมติด้วยคะแนน 401 ต่อ 78 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 3 เสียง คือเห็นด้วยกับการห้ามจัดงานมหรสพ