ไม่พบผลการค้นหา
จากปรากฏการณ์ ‘ก้าวไกลฟีเวอร์’ ทำให้ทั้งสองซีก ‘ปีกอำนาจใหม่-ผู้มีอำนาจเดิม’ ต้องปรับสมการอำนาจใหม่ เพราะไม่เป็นไปตาม ‘แผน’ ที่แต่ละฝ่าย ‘ประเมิน’ ไว้ สภาวะ ‘อึมครึม’ ผสม ‘ฝุ่นตลบ’ จึงเกิดขึ้นพร้อมกัน โดยเฉพาะท่าทีของ ‘กองทัพ’ ที่เป็น ‘กองกำลังหลัก’ เสาค้ำ ‘ผู้มีอำนาจ’

ในขณะนี้ ‘กองทัพ’ ยังคงนิ่ง ไม่มีแอคชั่นใดๆ โดยปล่อยให้เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองดำเนินไป ซึ่งโฟกัสตกไปที่ ‘กองทัพบก’ ที่เป็น ‘ขุมกำลังรบ-ปฏิวัติ’ ที่ใหญ่ที่สุด หากย้อนไปที่การเลือกตั้งจะพบว่า ทบ. มีท่าทีปล่อย ‘ฟรีโหวต’ เห็นได้ชัดจากผลการเลือกตั้งที่ ‘ก้าวไกล’ ชนะในเขตทหาร ในพื้นที่ กทม. ย่านเกียกกาย ในพื้นที่มี 8 หน่วยเลือกตั้ง มีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 6,500

คน แบ่งเป็น 80% เป็นทหาร-ครอบครัว จาก ม.พัน.4, พล.1 รอ. , ม.1 พัน.3, กองพล ปตอ. และกองพันทหารสื่อสาร กรมสรรพาวุธ เป็นต้น อีก 20% เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมทั้งหน่วยเลือกตั้งเขตทหารย่านแจ้งวัฒนะ เช่น มทบ.11 ก็พบว่าคะแนนเทไปทางก้าวไกล

รวมทั้งปรากฏการณ์ที่หน่วยเลือกตั้ง ร.ร.นายร้อย จปร. ที่ จ.นครนายก โดยมีที่ตั้งหน่วยอยู่ด้านนอก ร.ร.นายร้อยฯ ที่มีรายงานว่า 1 ใน 4 หน่วยเลือกตั้ง คะแนนของ ‘ก้าวไกล’ เอาชนะมาได้ แต่ในส่วนนี้ต้องมองลึกลงไปว่ามีคะแนนส่วนใดบ้าง เช่น นร.นายร้อย จปร. , กำลังพล , ครอบครัวกำลังพล , ชาวบ้านบริเวณนั้น แต่ ส.ส. ที่มีทั้งหมด 2 เขต ของ จ.นครนายก ยังคงเป็นของพรรคเพื่อไทย

อีกปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ คือที่ ร.ร.ช่างฝีมือทหาร สังกัด บก.กองทัพไทย หน่วยเลือกตั้งที่ 7 , 8 และ 9 พบว่าคะแนน ‘ก้าวไกล’ นำทั้งบัญชีรายชื่อ-แบ่งเขต แม้ในส่วนนี้คะแนนไม่ได้มาจาก นร.ช่างฝีมือทหาร ทั้งหมด เพราะโรงเรียนถูกใช้เป็นพื้นที่หน่วยเลือกตั้งเท่านั้น คะแนนจึงแบ่งเป็น กำลังพลในหน่วย และ ชาวบ้านในพื้นที่ 

อีกทั้ง นร.ช่างฝีมือทหาร เทียบวุฒิคือชั้น ม.ปลาย อายุยังไม่ถึง 18 ปี จึงยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ยกเว้นคนที่สอบเข้าตอนอายุ 17 ปี และที่เรียนภาคสมทบ ที่อายุมีสิทธิเลือกตั้ง แต่มีรายงานว่า หน่วยเลือกตั้งที่ 7 เป็นหน่วยที่มีจำนวน นร.ช่างฝีมือทหาร มีสิทธิเลือกตั้ง พบว่าคะแนนเทไปที่ ‘ก้าวไกล’

ก้าวไกล คูหา เลือกตั้ง ล่วงหน้า_230514.jpg

ในส่วนของ บก.กองทัพไทย มีหน่วยเลือกตั้ง 9 พื้นที่ ประมาณ 20-30 หน่วยเลือกตั้ง คะแนนส่วนใหญ่ก็เทไปที่ ‘ก้าวไกล’ เช่นกัน

ทั้งนี้คะแนนส่วนใหญ่มาจาก ‘ทหารชั้นประทวน-พลทหาร’ ที่เป็นกำลังส่วนใหญ่ของกองทัพ ฝ่ายความมั่นคงก็มีการประเมินสาเหตุว่ามาจากที่ผู้บังคับบัญชาลงไปดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ทั่วถึง ในเรื่องสิทธิ-สวัสดิการต่างๆ ผ่าน ‘ความเหลื่อมล้ำเชิงซ้อน’ ระหว่าง ‘หน่วยทหาร’ ด้วยกันเองด้วย หลังมีการปรับโครงสร้างหน่วยใหม่ โดยเฉพาะ ทบ. และความเหลื่อมล้ำระหว่าง ‘ชั้นประทวน-สัญญาบัตร’ ในเรื่องสิทธิ-สวัสดิการต่างๆ

สิ่งที่ ‘ก้าวไกล’ นำเสนอเรื่อง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ จึงโดนใจ-ตอบโจทย์ ‘กำลังพล’ ที่ได้รับผลกระทบจากการ ‘บริหารงาน’ ภายในกองทัพเอง ดังนั้นเสียงของ ‘ทหารระดับล่าง’ จึงสะท้อนผ่านการเลือก ‘ก้าวไกล’ ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆในกองทัพเป็นหลัก แต่อย่าลืมว่า ‘ก้าวไกล’ ก็มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 112 และการปฏิรูป ‘โครงสร้างการเมือง’ รวมอยู่ด้วย

พิธา เลือกตั้ง_23051dddd4.jpg

ภายหลังการเลือกตั้ง การเมืองฝั่ง ‘ก้าวไกล’ ขยับปูฐาน ‘ความรู้สึกร่วม’ ของมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านพื้นที่โซเชียลฯและการลงพื้นที่ที่ ‘ก้าวไกลแลนด์สไลด์’ ทำลาย ‘ฐานบ้านใหญ่’ มาได้ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถ ‘ตั้งรัฐบาล’ ได้ รวมทั้งการกดดัน ส.ว. ในการโหวตเลือก นายกฯ ด้วย

ช่วงที่ผ่านมามีรายงานว่ามีการฝึกซ้อม ตร. ควบคุมฝูงชน หรือ คฝ. ขึ้นมาอีกครั้ง โดยเป็นการฝึกซ้อมตามวงรอบ ภายใต้แผนงาน ตร. ชื่อว่า “แผนพิทักษ์เลือกตั้ง 66” ที่ครอบคลุมช่วงเวลาก่อน-หลังเลือกตั้ง โดยมีการประเมินว่าจะเริ่มมีการ ‘ชุมนุม’ เพื่อกดดันทางการเมืองเกิดขึ้น เช่น พื้นที่รอบรัฐสภาฯ โดยพุ่งเป้าไปที่วันโหวตเลือก ประธานรัฐสภา และวันโหวตเลือก นายกฯ ยังไม่นับรวมสถานการณ์ หากเกิดกรณีมี ‘อุบัติเหตุการเมือง’ กับซีกพรรคก้าวไกลในอนาคต แน่นอนว่าย่อมเกิด ‘การเมืองบนถนน’ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในส่วน ‘กองทัพ’ ยังคงอยู่ในที่ตั้ง ในระดับ ผบ.เหล่าทัพ ยังไม่มีแอคชั่นใดๆ โดยปล่อยให้เป็นไปตาม ‘วิถีทางการเมืองในระบบ’ เพราะในขณะนี้ยังไม่ทีท่าจะเกิด ‘ทางตัน’ ขึ้น รวมทั้งท่าทีของ ผบ.เหล่าทัพ ที่สวมหมวก ส.ว. อีกใบ ก็เป็นไปในทางเดียวกัน คือ “งดออกเสียง” ในการโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ ไม่ว่าจะมาจากพรรคใดก็ตาม

แต่ที่น่าสนใจ คือ ฝั่งการเมืองจะเลือกใครมาเป็น รมว.กลาโหม ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องเป็น ‘อดีตนายทหาร’ หรือถ้าเป็น ‘พลเรือน’ ก็จะเป็น นายกฯ ควบ รมว.กลาโหม จึงเริ่มมีการมองหาชื่อ ‘อดีตนายทหาร’ ขึ้นมา

ยิ่งลักษณ์ ประยุทธ์ -A407-7FF171E9AC85.jpeg

หนึ่งในนั้น คือ ‘บิ๊กแป๊ะ’พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ในยุครัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ในขณะนี้เป็นที่ปรึกษา ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ผู้ว่าฯ กทม.

สำหรับ พล.อ.นิพัทธ์ จบ ตท.14 นายร้อย จปร. รุ่น 25 เริ่มต้นชีวิตราชการเป็น ผู้บังคับหมวดปืนเล็ก กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) ก่อนจะมาเติบโตสาย ‘อำนวยการ-วิชาการ’ เป็นอาจารย์ วิชาข่าวกรอง ร.ร.เสนาธิการทหารบก และข้ามมาเติบโตที่กระทรวงกลาโหม

ซึ่งต้องจับตาว่า รมว.กลาโหม จะเป็น ‘อดีตนายทหาร’ ชื่อใด เพื่อลดแรง ‘เสียดทาน’ ในทางการเมือง รวมทั้งไว้ ‘กระชับระยะห่าง’ ระหว่าง ‘รัฐบาล-เหล่าทัพ’ ด้วย ในสถานการณ์ที่ฝ่ายการเมืองยัง ‘ไม่ลงตัว’ ในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในซีกกองทัพเองก็อยู่ใน ‘สภาวะตั้งรับ’ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นต้องมี ‘แผนสำรอง’ อยู่เสมอ