ไม่พบผลการค้นหา
"ไอเดีย 'La Lloreria' มาจากวลีในภาษาสเปนที่พูดกันเมื่อคนไม่อยากกังวลเกี่ยวกับปัญหาของคนอื่น พวกเขาจะพูดว่า ‘a llorar a la lloreria’ หรือ ไปร้องไห้ในห้องร้องไห้ หมายความว่า ให้คุณเก็บความรู้สึกของตัวเองไว้ในมุมของตัวเองและอย่าพูดถึงมันกับคนอื่น”

“เข้ามาร้องไห้ได้นะ”

ยินดีต้อนรับสู่ ลา ยอเรเรีย (La Lloreria) หรือ “ห้องร้องไห้” ที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาร้องได้ ห้องแห่งนี้ตั้งอยู่ในอาคารแห่งหนึ่งในใจกลางกรุงมาดริด ประเทศสเปน เป็นโครงการที่ต้องการแก้ปัญหาการตีตราในสังคมที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต การร้องไห้ และการขอความช่วยเหลือ

“ฉันก็กังวลเหมือนกัน” ป้ายเรืองแสงสีชมพูติดอยู่ภายในห้อง อีกมุมหนึ่งมีอ่างอาบน้ำและโทรศัพท์วางอยู่ข้างๆ พร้อมชื่อคนที่สามารถโทรหาได้เมื่อรู้สึกไม่สบายใจ รวมถึงเบอร์ติดต่อนักจิตวิทยาด้วย

"ไอเดีย 'La Lloreria' มาจากวลีในภาษาสเปนที่พูดกันเมื่อคนไม่อยากกังวลเกี่ยวกับปัญหาของคนอื่น พวกเขาจะพูดว่า ‘a llorar a la lloreria’ หรือ ไปร้องไห้ในห้องร้องไห้ หมายความว่า ให้คุณเก็บความรู้สึกของตัวเองไว้ในมุมของตัวเองและอย่าพูดถึงมันกับคนอื่น”

มาร์ตีนา ดลูซนิวสกา หัวหน้าฝ่ายการตลาดองค์กร Chat Therapy ผู้จัดโครงการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส เธอบอกว่า โครงการนี้ต้องการสื่อสารกับคนในสังคมสเปนว่า คุณสามารถพูดถึงความรู้สึกของเราได้ และถ้าคุณรู้สึกไม่สบายหรือไม่โอเค คุณสามารถรู้สึกได้ “ถ้าคุณต้องการความช่วยเหลือ ให้ขอความช่วยเหลือ”

“มันเป็นความคิดที่เยี่ยมมากในการแสดงและสื่อปัญหาเรื่องสุขภาพจิตออกมาในลักษณะนี้ การร้องไห้ในสเปนยังเป็นสิ่งที่ถูกตีตราเหมือนกับในประเทศอื่นๆ” ยอน เนลส์สม นักศึกษาชาวสวีเดนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงของสเปนที่มาร่วมชมโครงการกล่าว

ข้อมูลจากรัฐบาลพบว่า ในปี 2019 มีประชาชน 3,671 คน เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในสเปน ซึ่งเป็นสาเหตุการตายที่พบบ่อยเป็นอันดับสองรองจากสาเหตุตามธรรมชาติ วัยรุ่น 1 ใน 10 คนได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะสุขภาพจิต ในขณะที่ 5.8% ของประชากรทั้งหมดมีความวิตกกังวล

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมาซึ่งถูกกำหนดให้เป็นวันสุขภาพจิตโลก เปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน ประกาศว่ารัฐบาลจัดสรรงบประมาณ 100 ล้านยูโร หรือประมาณเกือบสี่พันล้านบาท เพื่อให้บริการเรื่องสุขภาพจิตแก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการให้บริการสายด่วนป้องกันการฆ่าตัวตายตลอด 24 ชั่วโมง

“มันไม่ใช่เรื่องที่ควรถูกตีตรา แต่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่เราต้องพูดถึง และมองให้เห็น เพื่อที่จะดำเนินการแก้ปัญหาได้” นายกสเปนกล่าว


ที่มา:

https://www.reuters.com/business/healthcare-pharmaceuticals/spains-crying-room-seeks-banish-mental-health-taboo-2021-10-17/