ไม่พบผลการค้นหา
ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่าลดความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลถึงสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ พร้อมจัดหาแหล่งน้ำให้มีเพียงพอสำหรับสัตว์ในสวนสัตว์

นายวุฒิชัย ม่วงมัน ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่า สวนสัตว์เชียงใหม่ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าลุกลาม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติสุเทพ–ปุย ซึ่งทุกๆ ปีมักจะประสบกับปัญหาไฟไหม้ป่าข้างทางติดต่อกับพื้นที่รอบข้างที่เป็นแนวเชิงเขา หรือตามไหล่ทางแนวรั้วของพื้นที่ ทำให้สวนสัตว์เชียงใหม่เร่งดำเนินการทำแนวป้องกันไฟป่า เพื่อป้องกันไฟป่าไม่ให้ลุกลาม หรือชะลอการลุกลามของไฟป่าที่จะส่งผลต่อสวัสดิภาพของสัตว์ที่อยู่ในความดูแลของสวนสัตว์เชียงใหม่ และยังเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้จากกิ่งไม้และใบไม้แห้ง ลดปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่สอดคล้องกับมาตรการงดเผาในทุกพื้นที่ทุกกรณีของจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาการเกิดหมอกควันไฟป่าให้หมดไปจากพื้นที่ 

ทั้งนี้ ปัจจุบันปัญหาเรื่องหมอกควันที่เกิดขึ้นทุกปี คือปัญหาที่สำคัญของภาคเหนือ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดินและป่าถูกทำลาย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการเผาเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม หรือเกิดจากการเผาเพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว การหาของป่าล่าสัตว์ รวมไปถึงการจับจองพื้นที่เพื่อทำการเกษตร

นอกจากนี้ นายวุฒิชัย ยังกล่าวด้วยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ ซึ่งระยะนี้อุณหภูมิมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มสูงขึ้นทำให้สวนสัตว์เชียงใหม่ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำรองรับการดูแลสัตว์ป่าในสวนสัตว์เชียงใหม่ในช่วงหน้าแล้ง โดยได้บริหารจัดการน้ำในอ่างน้ำทั้ง 3 แห่งภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ให้มีปริมาณเพียงพอสำหรับการดูแลสัตว์และสร้างความชุ่มชื้นภายในบริเวณสวนสัตว์ ซึ่งเป็นการลดปริมาณฝุ่นละอองในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ซึ่งสวนสัตว์เชียงใหม่ให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของสัตว์เป็นอันดับแรก ซึ่งทีมสัตวแพทย์และพี่เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสัตว์เลี้ยง โดยขณะนี้สวนสัตว์เชียงใหม่ได้เริ่มดำเนินการฉีดพ่นน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับสัตว์และบริเวณโดยรอบ เพื่อลดปัญหาหมอกควันและค่าฝุ่นละอองภายในพื้นที่ของสวนสัตว์ พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดในช่วงหน้าแล้ง