ไม่พบผลการค้นหา
คกก.ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เห็นชอบเสนอให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดมาตรการภาษีโซเดียม ป้องกันและลดความเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อ

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ. อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ครั้งที่ 5/2563 ว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสุขภาพให้เห็นผลสัมฤทธิ์อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนให้ได้ภายใน 2 ปี จากบทเรียน โรคโควิด-19 การป้องกันตัวเองไม่ให้มีความเสี่ยง และมีสุขภาพดีเป็นสิ่งสำคัญ จึงตั้งเป้าหมายการปฏิรูปสาธารณสุขที่ตอบสนองกับยุคหลังโควิด-19 ให้เป็น New Normal เน้นการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟู และการเข้าถึงการรักษาใกล้บ้าน

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม กล่าวต่อว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเห็นชอบในหลักการสำคัญ คือ ปฏิรูปการบริหารจัดการสถานการณ์และความพร้อมเผชิญภาวะฉุกเฉินโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ระดับชาติ โดยนำบทเรียนที่ได้จากการบริหารสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 มาปรับใช้เผชิญกับโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ บูรณาการกับทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างรวดเร็ว พัฒนาระบบการเงินการคลังและระบบประกันสุขภาพ จัดการข้อมูลสารสนเทศและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการมีระบบกักกันและควบคุมการเข้าประเทศ ที่มีกฎหมายหรือระเบียบรองรับ ปฏิรูปการดูแลรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โดยบูรณาการการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเข้ากับระบบบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่องยั่งยืน ผลักดันนโยบายการตรวจสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเอง และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

พร้อมเสนอ ให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 โดยเฉพาะอนุบัญญัติ ที่จำเป็นและกำหนดมาตรการภาษีโซเดียม สำหรับป้องกันและลดความเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อ ซึ่งได้มอบฝ่ายเลขานุการ นำข้อเสนอของคณะกรรมการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมทุกหลักการ เพื่อเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาต่อไป

นอกจากนี้ ยังยกระดับการเข้าถึงการบริบาลดูแลของผู้สูงอายุทั่วประเทศ จัดให้มีการดูแลรักษาใกล้บ้านโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มี อสม.ร่วมกันดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการแพทย์ทางไกล เช่น telemedicine หรือ video call ตลอดจนพัฒนาระบบบริการที่มีผู้บริบาลดูแล โดยตั้งเป้าผลิตผู้บริบาล 100,000 คน ภายใน 2 ปี ดูแลร่วมกับลูกหลานในครอบครัว