ไม่พบผลการค้นหา
ตัวแทนพรรคการเมืองร่วมเสวนาในเวที 'กล้วยใน รธน. ใครปรับ ใครรอด' ส.ส.เพื่อไทย - อนาคตใหม่ - เพื่อชาติรุมสับ รธน.เอื้อคนบางกลุ่มเกิดรัฐราชการ - ไม่กระจายอำนาจ - พรรคการเมืองอ่อนแอ - ด้าน พปชร. ชี้ข้อดีเปิดเผยแคนดิเดตนายกฯ ขณะที่กลุ่มเครือข่ายของนิสิตนักศึกษาเตรียมเคลื่อนไหวทั่วภูมิภาครณรงค์ผลักดันให้มีการแก้ไข รธน.

เมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยพะเยา กลุ่มพลังใหม่ประชาธิปไตยพะเยา จัดกิจกรรมเสวนา "กล้วยใน รัฐธรรมนูญ 60 ใครปรับ ใครรอด ?" โดยมีตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนา ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย มองว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเพียงอย่างเดียวคือสร้างประเทศไทยให้มีระบบนิติรัฐ แต่ไร้ความเป็นนิติธรรม พูดอย่างเข้าใจง่าย คือรัฐธรรมนูญประโยชน์สำหรับคนเพียงบางกลุ่ม แต่ไม่ตอบสนองคนในหลายคนที่เป็นคนส่วนมากภายในประเทศการถ่วงดุลอำนาจในรัฐธรรมนูญไม่มีความเป็นธรรมด้วยการถ่วงดุลที่ไม่เป็นธรรมนี้ ทำให้เกิดปัญหาระบบรัฐราชการ คือ การรวมศูนย์อำนาจรวมถึงการวางแผนนโยบายที่ไม่มีความชัดเจนและมองว่าในยุคใดที่ในอภิสิทธิ์ชน นายทุน ขุนศึกรวมตัวกันได้ประเทศไทยก็คงเดินหน้ายาก

ขณะที่นายชำนาญ จันทร์เรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ เห็นว่าข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญมี 4 ประการ คือ 1.คำสั่งและประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติโดยเฉพาะข้อบังคับของมาตรา 44 ยังมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน

2. ส.ว.มีที่มาจากการคัดสรรของ คสช. จึงไม่แปลกที่จะมีการโหวตนายกฯ ออกมาอย่างที่เห็น

3.ระบบการเลือกตั้งแบบผสมเป็นระบบการเลือกตั้งที่ไม่สามารถตรวจสอบการคำนวณคิดคะแนนในแต่ละเขตได้ทำให้ประชาชนสับสนเหมือนเลือกแค่หนึ่งแต่ได้ถึงสาม

4.ประเด็นสุดท้ายของรมนูญในฉบับนี้คือเป็นถนนที่แก้ไขยากจนกระทั่งไม่สามารถแก้ไขได้ และไม่มีการระบุกระจายอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญ

นายรยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ มองว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีที่มาเกิดขึ้นในระหว่างการยึดอำนาจ คสช. ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงไม่สามารถเชื่อมโยงกับประชาชนเห็นได้ชัดเจนในช่วงการทำประชามติที่มีการดำเนินคดีกับคนที่วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ การใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้ประชาธิปไตยเจือจาง เช่น การโหวตนายกฯ ของ ส.ว. โดยส่วนตัวมองว่า ส.ว.ควรมีหน้าที่เพียงระงับยับยั้งกฎหมายเนื่องจากส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และผลของการใช้รัฐธรรมนูญทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอเสียความมั่นคงสร้างสถาบันทางการเมืองขึ้นมาบางสถาบันเพื่อครอบงำการทำงานของรัฐบาลเช่นขั้วอำนาจของคสช. ทั้งนี้ พรรคการเมืองควรเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ให้เงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลเค้าบอกว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ


อนาคตใหม่ 4476707840_n.jpgชลน่าน 24766263687643136_n.jpg

ปชป.ชี้รัฐประหารสืบทอดอำนาจระบบอุปภัมถ์

ส่วนนายแทนคุณ จิตต์อิสระ จากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองเกี่ยวกับการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายหรือกระทั่งเผด็จการรัฐสภาเป็นตัวแบบของการวนอยู่ของวงจรรัฐประหารที่ขับเคลื่อนด้วยผลประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดเจนในปัจจุบัน โดยเฉพาะการสืบทอดอำนาจด้วยระบบอุปถัมภ์ และทางพรรคมองว่าการกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่สำคัญเพราะการกระจายอำนาจ คือ การลดชนชั้นนำทางการเมืองและลดบทบาทให้ครอบงำทางการเมืองให้น้อยที่สุด

ด้าน น.ส.ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสร้างพรรคร่วมและเป็นการเปิดโอกาสให้มีกลุ่มที่หลากหลายเข้ามามีบทบาททางการเมือง และข้อดี คือมีการเปิดเผยแคนดิเดตของนายกแต่ละพรรค ทำให้ประชาชนมีสิทธิในการตัดสินใจมากขึ้นในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หากให้มาตรา 25 เรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทย ซึ่งมีการระบุและรับรองไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 

ธนิกานต์ พลังประชารัฐ 62428_14156345351602176_n.jpgนักศึกษา รัฐธรรมนูญ _3164312710036848640_n.jpg

เครือข่าย นศ.ดันสร้างพลังขับเคลื่อนแก้ รธน.

ขณะที่ กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ยัง (Young Activists) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มองว่าการทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นการสะท้อนปัญหาในพื้นที่ของกรุงเทพฯ หรือส่วนกลาง จึงมีแนวคิดที่จะสร้างกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนที่เคลื่อนไหวในประเด็นในแต่ละพื้นที่ ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อให้มีผลกระทบมากยิ่งขึ้น และสร้างพลังในการต่อรอง อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของนักกิจกรรมทั่วทุกภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน มาทำงานร่วมกันในประเด็นที่แต่ละคนสนใจด้วยการจัดตั้งกลุ่มแบบการลงแขก โดยอาศัยความร่วมมือ เครือข่ายเพื่อนนักกิจกรรมทั่วประเทศไทย

โดยชัญญา รัตนธาดา กลุ่ม YoungPride ซึ่งทำเกี่ยวกับ ความหลากหลายทางเพศ ระบุว่า อยากผลักดันประเด็นตามที่แต่ละบุคคลนั้นเชี่ยวชาญหรือให้ความสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการมุ่งผลักดันประชาธิปไตยที่มุ่งจะผลักดันทำให้ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจกระชับมากขึ้น เช่น การผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเสนอนโยบายเพื่อเยาวชนและประชาชน การจัดงานเสวนาทางการเมืองเพื่อวิเคราะห์และร่วมกันผลักดันสภาวะการเมืองไทยในปัจจุบัน รวมไปถึงเรื่องสิทธิของบุคคลเฉพาะพื้นที่ การผลักดันปัญหาในแต่ละพื้นที่ หรือประเด็นสิทธิมนุษยชน เช่น เสรีภาพการแสดงออก (Freedom of expression) ผลักดันประเด็นความหลากหลายทางเพศ ประเด็นการปกป้องสิทธิ์นักศึกษาจากวิธีการรับน้องใหม่ สรุปรวมคือพวกเราให้ความสำคัญกับความหลากหลายโดยเคารพซึ่งกันและกันอย่างเสรี

ด้าน นาย ปริญญ์ อาศิรพงษ์พร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มองว่า ส่วนตัวเห็นว่าการรวมกลุ่มขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาทั่วประเทศ ได้มีส่วนออกแบบสังคมได้ด้วยตัวเอง เพื่อปรับปรุง แก้ไข สิ่งที่ผิดพลาดในอดีต รวมถึงพัฒนาสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นด้าน สวัสดิการ ด้านสิทธิเสรีตามระบอบประชาธิปไตยและอื่น ทิศทางในอนาาคตควรส่งเสริมให้นักศึกษาเข้ามามีส่วนร่วมต่อสังคม นำไปสู่สังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และสอดคล้องกับยุคสมัย สิ่งที่อยากขับเคลื่อน คือ ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื้อหารัฐธรรมนูญที่เอี้อประโยชน์แก่กลุ่มหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ยังคงถือเป็นรัฐธรรมนูญที่บกพร่อง ดังนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่จึงต้องมีส่วนในการออกแบบรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ตัวแทนจาก ม.ราชภัฏอุบลราชธานี เห็นว่าการรวมกลุ่มนี้ขึ้นมา ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ได้มีเวทีรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับระบอบการเมืองไทยในปัจจุบัน บางครั้งในอดีตเด็กและเยาวชนแทบไม่ได้ใส่ใจในการเมืองมากนัก แต่ปัจจุบัน สื่อออนไลน์มีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชน จึงทำให้ข่าวสารต่างๆ ค่อนข้างรวดเร็ว และการรวมกลุ่มของเด็กและเยาวชนจึงไม่จำเป็นต้องไปจุดรวมพล แต่สามารถใช้สื่อออนไลน์เป็นเครือข่ายเชื่อมต่อหากันได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ส่วนการรวมตัวกันของนักศึกษาในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่ผู้นำระดับประเทศควรให้ความสำคัญ เพราะเสียงของเด็กและเยาวชนถือเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สำคัญที่ต้องมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประเทศ แต่ตราบใดแล้วผู้นำไม่รับฟังเสียงของเด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องที่อันตราย ซึ่งจะนำมาสู่ความขัดแย้งอย่างแน่นอน

แนะเครือข่ายเคลื่อนไหวภูมิภาค ปลุกทั่วประเทศร่วมรื้อ รธน.

ด้าน ฟาเรน จาก มอ.ปัตตานี เห็นว่า กลุ่ม นักศึกษา กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพส่วนกลางมากเกินไป จนทำให้ไม่สามารถเห็นการเคลื่อนไหวของส่วนภูมิภาคได้ ถ้ากลุ่มนี้จะแตกออกมาก็ขอให้เป็นส่วนภูมิภาคจริงๆ อิสระต่อการทำงาน ภายใต้อุดมการณ์เดียวกัน

ด้าน สุมีนา นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า การรวมกลุ่มขึ้นมาแน่นอนต้องมีเป้าหมายใดๆสักอย่างและมีเรื่องที่จะพูดคุยกันโดยทิศทางของกลุ่ม คิดว่ารูปแบบจะเป็นอิสระ ไม่มีเงื่อนไขที่ยุ่งยากซับซ้อน อาศัยความเป็นเพื่อน อันไหนช่วยกันได้ก็ช่วยกัน อาจจะเจอการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในวันหน้า คิดว่ามันก็เป็นเรื่องที่รับได้ และควรขับเคลื่อนเรื่องใหญ่คือความเหลื่อมล้ำ นโยบายสาธารณะ

ส่วนกิจกรรมแรกที่ดำเนินการในขณะนี้ คือ การผลักดันให้เกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนเพื่อประชาชน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา เชียงราย ลำปาง กำแพงเพชร ขอนแก่น อุบลราชธานี มหาสารคาม กรุงเทพมหานคร ชลบุรี สงขลา ปัตตานี และนครศรีธรรมราช เป็นต้น 

สำหรับเวทีกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยพะเยามีการจัดกิจกรรมเสวนา กล้วยในรัฐธรรมนูญ โมเดลและธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการประชาชนโดยเปรียบเทียบลักษณะธรรมนูญ โดยใช้กล้วยคือเปรียบเทียบเป็นการกินดีอยู่ดีไปของประชาชน