ไม่พบผลการค้นหา
สมาชิก 3 คนของสมาคมศาสนาและวัฒนธรรมในบาห์เรน ที่สนับสนุนการอภิปรายประเด็นศาสนาอิสลามอย่างเปิดเผย ได้รับโทษจำคุกจากทางการบาห์เรน

จากรายงานระบุว่า ชายทั้ง 3 รายถูกดำเนินคดี ภายใต้กฎหมายที่กำหนดให้ "การเยาะเย้ย" ต่อข้อความทางศาสนาใดๆ ที่เป็นที่ยอมรับของบาห์เรน ซึ่งรวมถึงคัมภีร์อัลกุรอานและคัมภีร์ไบเบิล เป็นความผิดทางอาญา

กลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า ชายทั้ง 3 รายถูกข่มเหง เนื่องจากการแสดงสิทธิตามหลักการเสรีภาพทางคำพูดและความเชื่ออย่างเสรี ทั้งนี้ ทางสมาคมที่ชายทั้ง 3 รายสังกัดกล่าวว่า กรณีการดำเนินคดีดังกล่าวในครั้งนี้ ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อสมาชิกของพวกเขา

ในรายการต่างๆ ที่โพสต์ลงบนแพลตฟอร์ม YouTube ของช่องสมาคมอัล-ทัชดีด ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับทฤษฎีกฎหมายอิสลาม และความคิดเห็นที่มีออกมาโดยนักการศาสนาอิสลาม โดยสมาคมอัล-ทัชดีดเป็นกลุ่มสมาคมของมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของบาห์เรน ในขณะที่ผู้ปกครองบาห์เรน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย เป็นมุสลิมนิกายซุนนี

อย่างไรก็ดี นักการศาสนามุสลิมชีอะห์ที่มีชื่อเสียง แสดงออกถึงการเป็นปฏิปักษ์ต่อสมาคมดังกล่าวอย่างเปิดเผย โดยนักการศาสนาชีอะห์ประณามการทำงานของสมาคมว่าเป็นการดูหมิ่นศาสนา และเรียกร้องให้สมาชิกของอัล-ทัชดีดถูกกีดกันออกจากสังคม

ทางการบาห์เรนสั่งฟ้องกลุ่มสมาคมอัล-ทัชดีด โดยอัยการบาห์เรนระบุว่า คดีนี้เกิดขึ้น "เพื่อปกป้องศาสนาอันชอบธรรมของเรา" และเพื่อ "ป้องกันการปลุกระดมในสังคม" นอกจากนี้ อัยการยังเรียกร้องให้มีการลงโทษสูงสุดภายใต้กฎหมายบาห์เรนต่อชายทั้ง 3 รายด้วย

อัล-ตัจดีด ซึ่งแปลว่าการเริ่มต้นใหม่ในภาษาอาหรับ ตอบโต้ด้วยการกล่าวในศาลว่า "ความคิดจะต้องถูกท้าทายด้วยความคิด และคำพูดจะไม่ถูกยับยั้งโดยอำนาจของกฎหมาย" ในขณะที่ศาลได้ตัดสินให้จำเลยทั้ง 3 ราย ได้แก่ จาลัลล์ อัลคัซซับ, เรดา ราจาบ และ โมฮัมเหม็ด ราจาบ ถูกจำคุก 1 ปีและถูกปรับ ทั้งนี้ คำพิพากษาถูกระงับไว้เพื่อรอการอุทธรณ์

สมาคมอัล-ทัชดีดกล่าวว่า คดีในศาลได้เพิ่มความรุนแรง ให้กับการรณรงค์ที่มีอยู่ที่มัสยิดและบนโซเชียลมีเดีย พร้อมส่งเสริมการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจาและทางร่างกายต่อสมาชิกของกลุ่ม โดยในระหว่างการพิจารณาคดี ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้เรียกร้องให้มีการถอนข้อกล่าวหา และยุติการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะที่เป็นการปลุกปั่น ด้วยการประณามอัล-ทัจดีดในเรื่องเหตุผลทางศาสนา

บาห์เรนเคยเป็นที่รู้จักในด้านการยอมรับ ความอดกลั้น และการเปิดกว้างทางศาสนาและระบบพหุนิยม โดยก่อนหน้านี้ บาห์เรนได้มีการเปิดโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างอาสนวิหารแม่พระแห่งอาระเบียในปี 2564 นอกจากนี้ บาห์เรนยังมีชุมชนชาวยิวแห่งเดียวที่เหลืออยู่ในภูมิภาคอ่าวอาหรับด้วย

อย่างไรก็ดี บาห์เรนถูกวิจารณ์จากกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่า พวกเขาเลือกปฏิบัติต่อมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ทางการบาห์เรนปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ แม้ อัล เวฟัก กลุ่มฝ่ายค้านหลักของมุสลิมริกายชีอะห์ในบาห์เรน จะยังคงถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการเลือกตั้งก็ตาม


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-middle-east-65097629?fbclid=IwAR1ObrtanD-zhImFRYPiwlhH-lwRvgUkr3K9NPC7J4xOalBMAP40MyGO2x4