ไม่พบผลการค้นหา
ประมง แม่ค้า และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดระยอง 837 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เหตุหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการบริหารจัดการเหตุน้ำมันรั่วที่ระยอง ปี 2565 เป็นเหตุให้ทะเลระยองเกิดความเสียหายเกินสมควร ยากต่อการเยียวยา

ประมง แม่ค้า ผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดระยอง กว่า 837 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เหตุหน่วยงานรัฐละเลยการปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ในการบริหารจัดการเหตุน้ำมันรั่วที่ระยอง ปี 2565 เป็นเหตุให้ทะเลระยองเกิดความเสียหายเกินสมควร ยากต่อการเยียวยา

วันนี้ (20 มกราคม 2566) ชาวประมง แม่ค้า และผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยงในจังหวัดระยอง 837 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองจังหวัดระยอง เหตุหน่วยงานรัฐ 7 หน่วยงานคือ ดังนี้

  1. กระทรวงการคลัง
  2. กระทรวงมหาดไทย
  3. กรมเจ้าท่า
  4. กรมธุรกิจพลังงาน
  5. กรมประมง
  6. กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
  7. และกรมควบคุมมลพิษ

ทั้ง 7 หน่วยงานข้างต้น มีหน้าที่ตามกฎหมายในการบริหารจัดการเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลอย่างต่อเนื่องกลางทะเลจังหวัดระยองกว่า 400,000 ลิตร จากจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SINGLE POINT MOORING SYSTEM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 และป้องกันผลกระทบที่จะเกิดแก่ระบบนิเวศ ทรัพยากรทางทะเล และวิถีชีวิตของประชาชน แต่กลับละเลยในการป้องกันเหตุหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ประมาทเลินเล่อในการแก้ไขปัญหา กล่าวคือ อนุญาตให้ใช้สารเคมีขจัดคราบน้ำมันอย่างผิดวิธีและเกินจำเป็น อีกทั้ง ยังละเลยต่อการสำรวจความเสียหาย บรรเทาเยียวยาความเสียหายและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งภายหลังเกิดเหตุ เป็นเหตุให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล รวมถึงวิถีชีวิตของชุมชนประมงพื้นบ้านและชุมชนชายฝั่งจังหวัดระยอง ต้องเกิดความเสียหายจนเกินสมควร และยากต่อการเยียวยาให้กลับเป็นดังเดิมได้

325592067_6033641230062608_8757914590064779467_n.jpg

ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เกิดเหตุให้ท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) แตก จนมีน้ำมันดิบไหลทะลักออกมาในทะเลเป็นปริมาณมาก และจากการขาดระบบควบคุมการเปิดปิดวาล์วน้ำมัน และการตรวจสอบสภาพท่อส่งน้ำมันและวิธีการส่งถ่ายน้ำมันที่ดีพอ ทำให้การรั่วไหลของน้ำมันดิบเกิดขึ้นเป็นเวลานาน ปริมาณน้ำมันรั่วไหลลงสู่ท้องทะเลไม่น้อยกว่า 50,000 ลิตร อีกทั้ง บริษัท พีทีที โกบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ยังเลือกใช้วิธีการฉีดพ่นสารเคมีขจัดคราบน้ำมัน เช่นเดียวกับที่บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ในเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวิธีที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสารเคมีที่ใช้เพื่อสลายคราบน้ำมัน เป็นสารอันตรายเพราะจะทำให้น้ำมันดิบแตกตัวออก แล้วจับตัวกับสารเคมีกลายเป็นตะกอนจมลงสู่ก้นทะเล ทำให้สารอันตรายในน้ำมันดิบละลายปะปนกับน้ำทะเลเป็นระยะเวลายาวนาน ส่งผลกระทบต่อทั้งวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล และเศรษฐกิจภายในจังหวัดระยองเป็นอย่างมาก

มากไปกว่านั้น ตั้งแต่เกิดเหตุน้ำมันรั่วที่ระยองในปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับเป็นเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว ทะเลในพื้นที่จังหวัดระยองยังไม่ได้รับการฟื้นฟูแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ชาวประมง แม่ค้าและอาชีพอื่นที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมงยังคงได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว รายได้จากการประกอบอาชีพยังคงน้อยกว่าก่อนเกิดเหตุน้ำมันรั่วและทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์น้ำก็ยังไม่ฟื้นฟูกลับมาระดับที่เคยเป็นก่อนเกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลในปี 2556

326457213_6003492869712374_5320959376987106781_n.jpg

เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลจังหวัดระยองอีกครั้งในต้นปี 2565 เปรียบเสมือนกับการซ้ำเติมชีวิตของผู้ที่มีวิถีชีวิตใกล้ชิดและพึ่งพาอาศัยทรัยากรธรรมชาติทางทะเลจังหวัดระยอง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 837 ราย ซึ่งมีวิถีชีวิตเป็นประมงชายฝั่ง หรืออาศัยและประกอบอาชีพบริเวณชายฝั่ง ได้รับความวิตกกังวล และเดือดร้อน กระทบวิถีชีวิตเป็นอย่างมาก โดยคาดการณ์ได้ว่า อาจต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี กว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลจังหวัดระยองจะสามารถฟื้นฟูขึ้นใหม่ได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดจึงขอให้ศาลปกครองมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้

  1. ให้มีการออกกฎ ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการรับมือแก้ไขและป้องกันสถานการณ์น้ำมันดิบรั่วไหล และมาตรการฟื้นฟูทรัพยากรที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและหลักเกณฑ์การกำจัดน้ำมัน ต้องมีการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูดังกล่าวด้วย
  2. ต้องปฏิบัติหน้าที่ในการเรียกให้บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยการเรียกให้บริษัทดังกล่าวจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อ่าวระยอง ด้วยงบประมาณของบริษัท โดยในกองทุนดังกล่าว ต้องมีตัวแทนจากภาคประชาชนเข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่งและบริษัท ในการกำหนดและเสนอแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทีได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในคดีนี้
  3. ต้องร่วมกันหรือแทนกันรับผิดเยียวยาชดใช้ความเสียหายอันเกิดจากการละเมิด จนเป็นเหตุทำให้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและสัตว์น้ำได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้ฟ้องคดีทั้งหมด และรับผิดเยียวยาชดใช้ค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพในอนาคตของผู้ฟ้องคดี