ไม่พบผลการค้นหา
บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์ ไม่ได้เป็นกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากปัญญาประดิษฐ์ เท่าเจ้าของบริษัทด้านเทคโนโลยีรายอื่นๆ ในซิลิคอนแวลลีย์

เกตส์เขียนข้อความลงในบล็อกโพสต์ โดยระบุถึงความกังวลเกี่ยวกับผลลัพท์ที่ตามมาจากปัญญาประดิษฐ์ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ และความกังวลที่ว่าปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงานมนุษย์ อย่างไรก็ดี เกตส์เน้นย้ำว่า มนุษย์สามารถควบคุมความเสี่ยงเหล่านี้จากปัญญาประดิษฐ์ได้

“นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่ได้สร้างภัยคุกคามให้แก่มนุษย์ ต้องถูกควบคุม” เกตส์ระบุ “เราเคยรับมือกับมันมาแล้ว” โดยเกตส์ยกตัวอย่างการเปลี่ยนผ่านที่เคยเกิดขึ้นในสังคม อาทิ การผลิตรถยนต์ ซึ่งมนุษย์ต้องปรับใช้กับเข็มขัดนิรภัย อัตราความเร็วในการขับรถยนต์ ใบขับขี่ และอุปกรณ์นิรภัยอื่นๆ เกตส์ระบุว่านวัตกรรมมักก่อความวุ่นวายในช่วงแรก แต่สังคมก็จะดีขึ้นในท้ายที่สุด

ไมโครซอฟท์ เป็นหนึ่งผู้นำบนเส้นทางการแข่งขันการพัฒนา และการผลิตเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์เชิงสร้างสรรค์แบบใหม่ ให้เป็นสินค้าที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง เพื่อช่วยมนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล และมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ในทางกลับกัน บุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการอุสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์จำนวนมาก ได้กล่าวถึงวันสิ้นโลกจากการที่มีเทคโนโลยีที่วิวัฒนาการอย่างรวดเร็ว

เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. ผู้นำทางด้านเทคโนโลยีรวมไปถึง เควิน สก็อตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ นักวิจัยปัญญาประดิษฐ์จำนวนมาก และคนดังบางส่วน ร่วมลงนามในจดหมายหนึ่งประโยค โดยมีใจความว่า “การลดความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากปัญญาประดิษฐ์ ควรจะได้รับการจัดลำดับความสำคัญในระดับโลก ควบคู่ไปกับภัยระดับสังคม เช่น การระบาดใหญ่ และสงครามนิวเคลียร์”

เมื่อช่วงต้นปี เกตส์เคยออกมาเตือนว่า มนุษย์ไม่ควรจะต้อง “ตื่นตระหนก” กับเหตุการณ์หายนะที่อาจจะเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ โดยเกตส์ได้ระบุบนบล็อกโพสต์ว่า “ถ้าเครื่องยนต์สามารถเห็นมนุษย์เป็นภัย แล้วได้สรุปว่าความสนใจของมันแตกต่างจากเรา หรือแค่หยุดสนใจมนุษย์ไป มันก็ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ อย่างไรก็ดี สำหรับตอนนี้ เรื่องนี้ไม่ได้เป็นเรื่องเรื่องใหญ่มากไปกว่าการพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ เมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา”

ในข้อความของเกตส์บนบล็อกโพสต์ช่วงสัปดาห์นี้ เกตส์กล่าวว่าเขาเชื่อว่าหนึ่งในเรื่องที่น่ากังวลที่สุดสำหรับปัญญาประดิษฐ์ คือ ศักยภาพในการปลอมแปลงดีปเฟก และข้อมูลที่บิดเบือนซึ่งสร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ เพื่อบ่อนทำลายการเลือกตั้งและประชาธิปไตย เกตส์กล่าวว่าเขา “มีความหวัง” ว่า “ปัญญาประดิษฐ์สามารถช่วยระบุดีปเฟก เช่นเดียวกับการสร้างมันขึ้นมา” นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่ากฎหมายจำเป็นจะต้องมีความชัดเจน เกี่ยวกับการใช้ดีปเฟกและการจัดประเภท “เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาเห็นหรือได้ยินนั้นไม่ใช่ของจริง”

เกตส์ยังแสดงความกังวลว่า ปัญญาประดิษฐ์จะช่วยแฮกเกอร์ หรือแม้แต่รัฐต่างประเทศ ในการโจมตีทางไซเบอร์ต่อประชาชนและรัฐบาลได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ เกตส์เรียกร้องให้มีการพัฒนามาตรการรักษาความปลอดภัยที่เกี่ยวกับทางไซเบอร์ และเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาจัดตั้งหน่วยงานระดับโลกสำหรับปัญญาประดิษฐ์ ที่คล้ายกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA)

เกสต์ยังได้ให้ความสนใจกับความกังวลอื่นๆ ซึ่งรวมถึงปัญญาประดิษฐ์การแย่งงาน การป้อนข้อมูลอดติด้านเดียว ที่ส่งผลต่อระบบการเรียนรู้ของปัญญาประดิษฐ์ แม้กระทั่งขัดขวางเด็กที่กำลังหัดเขียนหนังสือ

“มันทำให้ผมนึกถึงช่วงเวลาที่เครื่องคิดเลขไฟฟ้าแพร่หลายในทศวรรษ 1970 และ 1980” เกตส์ระบุ “ครูคณิตศาสตร์บางคนกังวลว่า นักเรียนจะหยุดเรียนรู้วิธีคำนวณคณิตศาสตร์พื้นฐาน แต่ทว่าคนอื่นๆ ปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ และให้ความสนใจไปที่ทักษะการคิดที่อยู่เบื้องหลังการคำนวณ”

เกตส์กล่าวว่า “เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกไม่มั่นคง” ในช่วงเปลี่ยนผ่าน แต่เขากล่าวเสริมว่า เขามองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคต และ “ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่ามันเป็นไปได้ที่จะแก้ปัญหาที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ”

“มันเป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุด ที่เราจะได้เห็นในช่วงชีวิตของเรา” เกตส์กล่าว “และการถกเถียงกันในทางสาธารณะที่ดี จะขึ้นอยู่กับทุกคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี มันมีทั้งประโยชน์และความเสี่ยงของมัน”


ที่มา:

https://edition.cnn.com/2023/07/12/tech/bill-gates-ai/index.html