ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศวิเคราะห์เสียงคนรุ่นใหม่มีผลต่อการเมือง - ความนิยม 'ทักษิณ' พุ่งขึ้นหลังพอดแคสต์ สวนทางรายการ 'ประยุทธ์' ส่วนนักวิชาการชี้ จะยุติวังวนการเมืองได้ ทุกฝ่ายต้องยอมประนีประนอม

รายงานของสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น A political game: Why Thailand's election will be a win for the military เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2562 โดยมีการตั้งคำถามถึงสถานการณ์ทางการเมืองของไทยในช่วงนี้ ที่การเลือกตั้งส่อเค้าว่าอาจจะถูกเลื่อนออกไปอีกเป็นครั้งที่ 5 ขณะที่บรรยากาศระหว่างกลุ่มผู้สนับสนุนและผู้ต่อต้านการเลื่อนเลือกตั้งตึงเครียดขึ้นมารอบใหม่ เพราะมีการเผชิญหน้ากันระหว่างทั้งสองฝ่าย เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่าจะไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นก็ตาม

ซีเอ็นเอ็นได้รายงานคำให้สัมภาษณ์ของ 'เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล' นักกิจกรรมทางสังคม ระบุว่า "รัฐบาลทหารกำลังเล่นเกม แต่ถ้าหลอกกันเรื่องเลือกตั้งอีก ประชาชนจะออกมาเดินขบวนเพราะยอมรับไม่ได้" ขณะที่ 'สุณัย ผาสุข' ที่ปรึกษาองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' ในประเทศไทย หรือ HRW ระบุว่า หลังจากรัฐประหารเมื่อปี 2557 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ใช้คำสั่งปิดกั้นการชุมนุมแสดงออกทางการเมือง รวมถึงการแสดงความคิดเห็น ทำให้มีผู้ถูกจับกุม ดำเนินคดี และถูกลงโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งห้ามของ คสช.เป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ซีเอ็นเอ็นยังระบุด้วยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งร่างและผลักดันให้มีผลบังคับใช้ภายใต้รัฐบาลทหาร ถูกออกแบบมาเพื่อให้แน่ใจว่ากองทัพและฝ่ายสนับสนุนกองทัพจะมีเสียงข้างมากในสภาได้ ไม่ว่าจะชนะหรือแพ้การเลือกตั้ง โดยอ้างอิงบทสัมภาษณ์ของ รศ.ดร. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า ส.ว.250 ตำแหน่งที่มีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งหมด 

กราฟิตี้เลือกตั้ง
  • ภาพ: กราฟฟิตี้ที่สื่อถึงการเลือกตั้ง ปรากฎบนกำแพงแห่งหนึ่งที่ซอยสุขุมวิท 36/ เสกสรร โรจนเมธากุล

รายงานของซีเอ็นเอ็นระบุเพิ่มเติมว่า ความเกี่ยวโยงระหว่างพรรคเพื่อไทยกับคนในตระกูลชินวัตร รวมถึงพรรคอื่นๆ ที่แยกตัวออกมาจากพรรคเพื่อไทย ทั้งไทยรักษาชาติและเพื่อธรรม อาจจะนำไปสู่ 'ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย' ในกรณีที่พรรคเพื่อไทยและแนวร่วมชนะเลือกตั้ง อาจมีกลุ่มต่อต้านออกมาเคลื่อนไหว

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งใหม่นี้ยังไม่อาจแน่ใจได้ว่าพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมของพรรคจะชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ทำให้ รศ.ดร.ฐิตินันท์ ย้ำว่าการจะออกจากวังวนความขัดแย้งทางการเมืองไทย ต้องเกิดการประนีประนอมจากทุกฝ่าย 


'เสียงคนรุ่นใหม่' อาจมีผลต่อการเลือกตั้ง

ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ประชากรไทยวัย 18-25 ปี จำนวนประมาณ 7 ล้านคน จะมีโอกาสได้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก และความนิยมของรัฐบาลทหารในหมู่คนรุ่นใหม่ไม่ได้สูงนัก เนื่องจากสมาชิกระดับสูงของรัฐบาลถูกตรวจสอบอย่างหนักเรื่องคดีทุจริตและปิดบังบัญชีทรัพย์สิน แต่องค์กรอิสระซึ่งรับหน้าที่ตรวจสอบกลับระบุว่าไม่พบความผิดใดๆ ทำให้ขัดแย้งกับความรู้สึกของคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีความตื่นตัวและสนใจทางการเมือง คนกลุ่มนี้อาจไม่เลือกพรรคการเมืองที่มีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาลทหาร

ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ หลานของทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งในปี 2549 และ 2557 เปิดเผยกับซีเอ็นเอ็นว่า "ความอยุติธรรมเกิดขึ้นในทุกระดับของสังคมหลังรัฐประหาร" และเธอในฐานะสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ต้องการที่จะต่อสู้กับการละเมิดหลักนิติรัฐและเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม 

เช่นเดียวกับ ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี นักกิจกรรมที่รณรงค์เรื่องสิทธิกลุ่มหลากหลายทางเพศในสังกัดพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะไม่ได้มุ่งเน้นที่นโยบายมากนัก แต่เป็นการตัดสินชี้ชะตาว่าไทยจะอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐบาลอำนาจนิยมต่อไปหรือไม่


กระแส 'พอดคาสต์' ภาพสะท้อนความนิยมที่พุ่งขึ้นมาใหม่

เควิน ฮิววิสัน นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองไทย ให้สัมภาษณ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์เกี่ยวกับสถานการณ์เลื่อนเลือกตั้ง โดยอ้างอิงบทสัมภาษณ์วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งระบุว่า การเลือกตั้งอาจเลื่อนไปเป็นวันที่ 24 มี.ค. 2562 แต่การเลื่อนเลือกตั้งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อรัฐบาลทหารมากขึ้น เพราะทำให้ความเชื่อมั่นลดลงในกลุ่มนักลงทุน ขณะที่ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายประชาธิปไตยก็ไม่ต้องการให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป และจะเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านขึ้นอีกหลายระลอก 

คนอยากเลือกตั้ง ประยุทธ์ 5454  Cover Template.jpg

นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐที่ต้องอาศัยคะแนนนิยมของรัฐบาลทหารเพื่อเอาชนะการเลือกตั้งก็จะยิ่งได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะการผิดคำสัญญาว่าจะเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้ง รวมกับคำตัดสินเรื่องคดีทุจริตที่เกี่ยวพันกับคนในรัฐบาลที่ค้านสายตาประชาชน ยิ่งทำให้รัฐบาลทหารเสื่อมความนิยมลงไปเรื่อย ๆ และพรรคพลังประชารัฐอาจจะถูกลืมเลือนไปได้ง่ายๆ

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวของทักษิณ ชินวัตร ด้านการเผยแพร่ข้อมูลและพูดคุยกับประชาชนไทยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังจากที่เขาเผยแพร่วิสัยทัศน์ของตัวเองผ่าน 'พอดแคสต์' เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และมีคนสนใจติดตามฟังเป็นจำนวนมาก ต่างกับรายการที่ออกอากาศมาตลอด 4 ปีกว่าของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความนิยมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด