ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบันจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น สำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เปิดเผยว่า ปี 2564 ทั่วโลก มีผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ มากกว่า 84 ล้านคน เนื่องจากสถานการณ์ความรุนแรง ทางการเมือง,ศาสนา,เศรษฐกิจ และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

เมื่อสำรวจจำนวนผู้ลี้ภัยในประเทศไทย จากรายงาน UNHCR ของปี 2564 ระบุว่า มีอยู่ราว ๆ  97,000 คน ซึ่งอาศัยอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย 9 แห่งกระจายอยู่ตามชายแดนในประเทศไทย ส่วนในเมืองใหญ่ๆ จำนวนผู้ลี้ภัยจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 คนจาก 40 ชาติทั่วโลก ล่าสุดต้นปี 2565 มีผู้ลี้ภัยที่เข้ามาจากฝั่งพม่าตามแนวชายแดนเพิ่มเติมอีกประมาณ 3,000 คน

ในทางกฎหมาย ผู้ลี้ภัยยังคงไม่มีสถานะที่ชัดเจน และเมื่อปี 2562 รัฐบาลเพิ่งได้ออก “พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง” ถือว่าเป็นกฎหมายตัวแรกของไทยที่ให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัย แต่ปัจจุบันนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง และอยู่ในระหว่างการพัฒนาหลักเกณฑ์การปฏิบัติ

ส่วนผสมที่เป็นอันตรายเหล่านี้ ทำให้ผู้ลี้ภัยทั้งหลายต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ทั้งค่าปรับ ถูกเอาเปรียบจากนายจ้าง  ถูกละเมิดสิทธิมนุยษชน รวมไปถึงการล่วงละเมิดทางเพศ  

‘วอยซ์’ จะพาไปสำรวจปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้ลี้ภัยนับแสนคนที่สังคมอาจมองไม่เห็น รวมไปถึงข้อเสนอทางออกสำหรับกำหนดทิศทางในอนาคต

จากบ้านเพื่อมีชีวิต 

Jovan (นามสมมุติ)  อายุ 28 ปี เป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศอิรัก อยู่ในไทยมาราว 4 ปีแล้ว เนื่องจากสถานการณ์การสู้รบทางการเมืองและศาสนา เขาเล่าว่า ที่บ้าน เสียงระเบิดและเสียงปืนเป็นเรื่องปกติ ได้ยินแทบทุกวัน ความตายเป็นเงาตามตัว ซึ่งเราอาจเจอมันได้ตลอดเวลาในประเทศอิรัก 

“ผมเห็นเพื่อนที่เรียนด้วยกันสมัยเด็กๆ ล้มตาย เรามีชีวิตอยู่ให้รอดไปวันๆ เราเลยคิดว่าการเดินทางออกจากประเทศเป็นทางรอดเดียวที่จะรักษาชีวิตเอาไว้ได้ ผมจึงเลือกเดินทางออกมาโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องเจอกับอะไรบ้างที่ปลายทาง” jovan เล่า

จากที่ได้สนทนากับหลายกลุ่ม ทำให้รู้ว่าบางกลุ่มเดินทางไม่ไกล แต่บางกลุ่มก็เดินทางไกลมาก ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มักใช้เส้นทางธรรมชาติ ขณะที่ผู้ลี้ภัยจากประเทศโซมาเลียจะต้องเดินทางไปยังดูไบ บินต่อไปยังอินเดีย เพื่อเดินทางต่อไปที่มาเลเซีย จากมาเลเซียเดินทางข้ามแม่น้ำโกลกฯ เพื่อเข้ามายังฝั่งไทย  ค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเดินทางก็มีราคาที่สูงมาก บางประเทศก็สูงกว่าการเดินทางปกติ 7-8 เท่า เพราะต้องมีนายหน้าคอยนำทาง ผ่านจุดตรวจจุดสกัด 

เจมส์ (นามสมมุติ) อายุ 22 เป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศเวียดนาม มาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ตอนนี้อาศัยอยู่แถวดอนเมืองซึ่งเป็นชุมชนผู้ลี้ภัยเวียดนามที่มีชาวเวียดนามอาศัยอยู่ราวๆ 400 คน

เจมส์ กล่าวว่าเท่าที่จำความได้ ประมาณปี 1998 คนเวียดนามที่นับถือศาสนาคริสต์ ต้องเผชิญการปราบปรามจากรัฐบาลเวียดนาม ประกอบกับคุณพ่อของเขาเป็นบาทหลวงอยู่ในชุมชน ทำให้ครอบครัวโดนคุกคามอย่างหนัก โดนยึดที่ดิน ไล่ออกจากบ้าน ไปโรงเรียนไม่ได้ อีกทั้งถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ตลอดเวลา ภายหลังสถานการณ์เริ่มหนักขึ้น เจ้าหน้าที่เริ่มใช้กำลังเข้าควบคุมตัวคนที่นับถือศาสนาอื่นด้วย  อาจารย์ บาทหลวง ผู้นำชุมชน กลายเป็นเป้าหมายหลักของเจ้าหน้าที่ ถ้าสมมุติขัดขืนก็อาจถึงขั้นเอาชีวิตได้ 

เนื่องจากจำเป็นที่ต้องเดินทางอย่างผิดกฎหมาย นายหน้าเลยเป็นสิ่งจำเป็นต่อการหลบสายตาจากเจ้าหน้าที่รัฐฯ ช่วงแรกเจมส์เดินทางเข้าไปยังประเทศพม่าก่อน อยู่ที่นั่นได้ 2 ปี หลังจากไม่มีอะไรดีขึ้น ทางครอบครัวเลยตัดสินใจเดินทางมายังประเทศไทย เพราะว่าประเทศไทยมีหน่วยงาน UNHCR อยู่ เขาหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่ก็ต้องแลกกับค่าเดินทางที่สูงมาก รวมค่าใช้จ่ายทั้งครอบครัวแล้วประมาณ 300,000 บาท  โดยจะเดินทางเข้ามาทางภาคเหนือตามชายแดนธรรมชาติ และต่อรถมาตามที่เขาจัดการให้ 

พุทธณี กางกั้น นักวิจัยสถานการณ์เรื่องสิทธิมนุษยชนผู้ลี้ภัย จากกลุ่ม Fortify Rights กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยปี 2564 UNHCR ระบุว่า มีอยู่ราว 97,000 คน กระจายอยู่ในแคมป์ผู้ลี้ภัย 9 แห่งตามแนวชายแดน ส่วนในเมืองใหญ่ๆ จำนวนผู้ลี้ภัยจะอยู่ที่ประมาณ 5,000 คนจาก 40 ชาติทั่วโลก ผู้ลี้ภัยที่อยู่ในเขตเมืองจะไม่มีแคมป์ บางคนมีบัตร UNHCR แต่ส่วนใหญ่ไม่มี จึงต้องอาศัยอยู่แบบหลบซ่อน

เราะห์หมัด เรืองปราชญ์ ประธานสภาเครือข่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสำนักจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง (กรุงเทพฯ) มา 7 ปีแล้ว แต่ละปีจะมีการประกาศลงทะเบียนผู้ลี้ภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือและเป็นการสำรวจไปด้วยว่าจำนวนผู้ลี้ภัยในเขตเมืองแต่ละปีมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง 

ความช่วยเหลือหลักๆ คือ ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ค่าปรับในกรณีโดนตำรวจจับ ค่าเสื้อผ้า อาหาร ค่าการศึกษาของบุตร เป็นต้น

เราะห์หมัด เปิดเผยว่า ปี 2565 หากดูเฉพาะส่วนที่หน่วยงานของเขารับผิดชอบ มีครอบครัวผู้ลี้ภัยมาลงทะเบียนทั้งหมด 1,378 ครอบครัว ซึ่งเมื่อปี 2564 ผู้มาลงทะเบียนทั้งหมด 569 ครอบครัว ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วเพิ่มขึ้น 242 % 

เมื่อแบ่งตามประเทศ จะมีดังนี้

1.ปากีสถาน 612 ครอบครัว 

2.เวียดนาม  407  ครอบครัว 

3.โซมาเลีย  97    ครอบครัว 

4.กัมพูชา   83    ครอบครัว 

5.อัฟกานิสถาน 39 ครอบครัว 

6.ศรีลังกา   34    ครอบครัว

7.เอธิโอเปีย   6    ครอบครัว

8.กลุ่มประเทศอาหรับ  94  ครอบครัว 

9.อื่นๆ    6  ครอบครัว 

ผู้ลี้ภัย
  • ที่มา : Fortify Rights ภาพถ่ายปี 2018

การลี้ภัยเกิดจากหลากหลายปัจจัย ข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยในเขตเมืองปี 2564 พบว่า 50% เป็นการลี้ภัยจากภัยการประหัตประหารทางเชื้อชาติ-ศาสนา 40 % เป็นภัยความรุนแรงทางการเมือง 8% เป็นภัยทางเศรษฐกิจ  และอื่นๆ อีก 2%

เมื่อแบ่งตามสัดส่วนของศาสนา ข้อมูล ปี 2564 พบว่า ศาสนาอิสลาม 50% คริสเตียน 40 % ฮินดู 6% พุทธ 4% 

เราะห์หมัดกล่าวว่า จำนวนที่ผู้ลี้ภัยที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกปีในประเทศไทย สะท้อนถึงเรื่องสิทธิมุนษยชนของประเทศต้นทาง ขณะเดียวกันเมื่อมีผู้ลี้ภัยเข้ามายังประเทศไทยแล้วก็สามารถสะท้อนเรื่องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยด้วยเช่นกัน 

ชะตากรรมระหว่างรอ 

Jovan กล่าวว่า หลังจากหมดวีซ่านักท่องเที่ยวก็ได้ไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยเพื่ออาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อ ปัจจุบันเขาได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว แต่เมื่อไรที่ UNHCR พิจารณาว่าต้องกลับประเทศ สถานะผู้ลี้ภัยก็จะหมดลงทันที 

‘ผู้ลี้ภัย’ ตามคำนิยามของสหประชาชาติ หมายถึง กลุ่มคนที่เดินทางออกจากประเทศของตนเนื่องจากสงคราม ความรุนแรง การประหัตประหารหรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงอื่นๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่สามารถกลับไปยังบ้านเกิดได้เพราะหวาดหวั่นต่อภยันตรายเกินกว่าที่จะกลับไปได้ 

‘ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย’ (Asylum Seekers) ก็เป็นอีกชื่อเรียกสำหรับผู้ลี้ภัยที่ยังไม่ได้สถานะชัดเจน จนกว่าคนๆ นั้นจะได้รับสถานะผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการจาก UNHCR

อย่างไรก็ตาม สถานะของบุคคลที่เป็นผู้ลี้ภัยไม่ได้ขึ้นอยู่กับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการกับ UNHCR หรือรัฐบาลของประเทศที่รองรับผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยที่ไม่ยื่นคำร้องขอที่ลี้ภัยและบุคคลที่ยื่นเรื่องขอที่ลี้ภัยแต่ถูกปฏิเสธโดย UNHCR หรือหน่วยงานระดับชาติยังคงมีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย

เจมส์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่คนเวียดนามที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยจะรับจ้างทำงานก่อสร้าง โดยจะกระจายอยู่ตามเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลตามที่นายจ้างจะมอบให้ 

สถานะของเขาที่อาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมาย ทำให้การออกไปทำงานถือเป็นความเสี่ยง ดังนั้น 4-5 ปีที่แล้ว จะมีผู้ลี้ภัยเวียดนามจำนวนมากที่โดนเจ้าหน้าที่จับกุม เมื่อไม่มีเงินจ่ายค่าปรับก็ต้องไปอยู่ใน ตม. สำหรับค่าปรับนั้นอยู่ราวๆ 50,000 บาท เมื่อประกันตัวออกมาแล้ว สถานะก็คงยังเป็นสถานะผู้ลี้ภัยดังเดิม แต่จำเป็นต้องไปรายงานตัวที่ ตม. ทุกสัปดาห์ ทำให้ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่มขึ้นอีก บางคนที่ไม่มีเงินเสียค่าปรับก็ต้องอยู่ใน ตม. บางคนก็อยู่นานเป็นสิบปี ขึ้นอยู่แต่ละเคสไป 

เมื่อเจอกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แม้ว่าจะมีบัตรผู้ลี้ภัยติดตัว ตำรวจบางคนก็เข้าใจ บางคนก็ไม่เข้าใจ ก็ต้องเจรจาหรือต้องยัดเงินก็มี ตามแต่เขาเรียก 

“ยกตัวอย่างเคสหนึ่ง เป็นหญิงสูงอายุ 60 ปี ทางโรงเรียนแจ้งว่า ให้หลานไปรับอุปกรณ์การเรียน แต่หลานของเขายังเล็กอยู่ เลยจำเป็นต้องเดินทางไปรับอุปกรณ์แทนหลาน ระหว่างทางถูกเจ้าหน้าที่เรียก เนื่องจากไม่มีเอกสาร และอยู่ในสถานะรอขึ้นทะเบียนผู้ลี้ภัย เลยต้องโดนจับตัวไป เขาพยายามเจรจา แต่ท้ายที่สุดต้องเสียค่าปรับไป 50,000 บาท” เจมส์กล่าว 

พุทธณี กล่าวว่า ในประเทศไทยมีรูปแบบการจัดการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย 2 รูปแบบ คือ 

1.ผู้ลี้ภัยตามแนวชายแดน ซึ่งหนีภัยการสู้รบ จะมีการตั้งแคมป์ตามแนวชายแดนส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า รัฐบาลจะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศ รวมถึงกระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ลงทะเบียน และมีกฎระเบียบข้อบังคับในการดูแลผู้ลี้ภัยในแคมป์ต่างๆ แตกต่างกันไป

2.ผู้ลี้ภัยในเมือง เดินทางมาจากประเทศอื่นๆ เช่น อัฟกานิสถาน โซมาเลีย ปากีสถาน เวียดนาม ศรีลังกา เป็นต้น รัฐบาลจะให้ UNHCR ออกบัตรให้ ไม่มีการสร้างแคมป์หรือที่พักพิงให้ ส่วน UNHCR ช่วยในด้านเงินเดือนบางส่วน ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองต้องเอาตัวรอดกันเอง รัฐบาลยังถือว่าพวกเขาเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย

เนื่องด้วยผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐ ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย การถูกละเมิดสิทธิ การเอารัดเอาเปรียบจึงมีให้เห็นเนืองๆ ตามหลักแล้วผู้ลี้ภัยไม่สามารถทำงานได้ แต่ปัญหาปากท้องผลักดันให้ต้องออกหางาน พวกเขาไม่สามารถเรียกร้องค่าแรงจากนายจ้าง แล้วแต่นายจ้างจะให้ นายจ้างบางคนก็ไม่ให้เลย เหตุที่ไม่กล้าเรียกร้องเพราะเกรงนายจ้างเอาคืนโดยการไปบอกตำรวจ ไม่คุ้มกับการถูกจับ การเสียค่าปรับ หรือหนักกว่านั้นอาจถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง  

พุทธณี ระบุด้วยว่า ผู้ลี้ภัยหญิงที่ถูกละเมิดทางเพศมีเพิ่มขึ้นทุกปี พวกเธอทำให้ไม่มีทางเลือกมากนัก แจ้งความก็ไม่ได้ เพราะเกรงผลที่จะตามมา เรียกว่าผู้ลี้ภัย 90% ไม่กล้าที่จะไปแจ้งความไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การถูกเอาเปรียบจากนายจ้างหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐจึงเป็นปัญหาที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลา 

เราะห์หมัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ได้รับแจ้งอยู่บ่อยครั้งว่ามีการจับผู้ลี้ภัย ผู้ลี้ภัยบางคนต้องแอบไปทำงานอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ทำทุกอย่างตามที่นายจ้างสั่ง ซึ่งบางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้นทำเรื่องผิดกฎหมายก็มี เมื่อถูกจับก็พบกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเก็บค่าปรับที่สูงกว่าความเป็นจริง อาจจะพูดจาข่มขู่หรือใช้สถานการณ์มาบีบบังคับทำให้ ผู้ลี้ภัยต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้รอด ยอมเสียค่าปรับที่สูงลิบลิ่ว

“ปัญหาค่าปรับเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ตามกฎหมาย ผู้ลี้ภัยที่อายุเกิน18 ปี ถ้าอยู่เกินวีซ่าต้องเสียค่าปรับวันละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท” เราะห์หมัดกล่าว และเพิ่มเติมว่า กรณีที่ผู้ลี้ภัยได้รับสถานะลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว และประสงค์เดินทางไปยังประเทศที่สาม สภาฯ ก็มีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่าย อุปกรณ์การเดินทาง ซึ่งกลายเป็นภาระหนักอึ้งสำหรับองค์กรอยู่ในขณะนี้ 

ผู้ลี้ภัย
  • ที่มา : Fortify Rights ภาพถ่ายปี 2018

กัก ตม. เลวร้ายพอกับติดคุก 

พุทธณี กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายหลักที่ใช้กับผู้ลี้ภัยคือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง แต่หลังปี 2562 มีระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีที่ระบุให้มีการคัดกรองผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้ลี้ภัย 

เรียกได้ว่าเป็น กฎหมายฉบับแรกในการดูแลสถานภาพของผู้ลี้ภัย แต่ปัจจุบันระเบียบนี้ยังไม่ถูกนำมาใช้เพราะอยู่ระหว่างพัฒนาหลักเกณฑ์การปฏิบัติ เช่น ใครบ้างที่เข้าข่ายคัดกร้อง จะอุทธรณ์ได้หรือไม่ ฯลฯ

เมื่อถูกจับเพราะผิดกฎหมายคนเข้าเมือง พวกเขาจะถูกส่งตัวไปอยู่ในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ซึ่งมีอยู่หลายแห่งทั่วประเทศ 

“หลายคนสะท้อนว่าเรือนจำมีการจัดการที่ดีกว่าห้องกัก ตม.ซะอีก เพราะว่าห้องกัก ตม.ออกแบบมาเพื่อใช้แค่ในระยะเวลาสั้นๆ มีพื้นที่แคบ เจ้าหน้าที่มักจะให้อัดอยู่รวมกัน ซึ่งไม่เหมาะที่จะเป็นที่คุมขังนานๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่โดนเจ้าหน้าที่จับกุมตามพื้นที่สาธารณะทั่วไป โดยจะต้องค่าปรับตามกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองก่อนจะผลักดันกลับประเทศต้นทาง” พุทธณีกล่าว

Jovan เล่าว่า เขามีประสบการณ์โดนจับและโดนปรับหลายครั้ง บางครั้งก็ต้องไปนอนใน ตม. สภาพที่เจอนั้นแย่พอๆ กับคุก 

“ผมต้องนอนเบียดกัน 300 กว่าคน ทานอาหารเหลว พูดตรงๆ ขนาดหมายังไม่สามารถกินได้เลย ผมอยู่ในนั้นนานเกือบ 1 ปี” 

ห้องกักตัวคนต่างชาติของ ตม. (Immigration Detention Center : IDC) คือ สถานที่สำหรับกักบุคคลที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายหรืออยู่โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อรอการส่งกลับประเทศหรือเดินทางต่อไปยังประเทศที่สาม 

สถานกักของ ตม.มีอยู่ 22 แห่งทั่วประเทศไทย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่ซอยสวนพลู กรุงเทพฯ  

เมื่อวัตถุประสงค์ของการกักตัว คือ รอการส่งกลับ ไม่ใช่การลงโทษเหมือนการจำคุกในเรือนจำ จึงหมายความว่า เป็นการอยู่โดยชั่วคราวระยะสั้น แต่กระบวนการส่งตัวผู้ต้องกักกลับประเทศใช้เวลาค่อนข้างนานเนื่องจากต้องได้รับการอนุญาตจากประเทศปลายทางเสียก่อน ผู้ต้องกักที่รอการส่งกลับ ไม่ได้มีเพียงแรงงานต่างชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ผู้อยู่เกินกำหนดวีซ่า แต่ยังมีชาวต่างชาติที่เป็นผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐด้วย ทำให้จำนวนประชากรในห้องกักแต่ละที่มีความหนาแน่นมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกระบวนการส่งตัวกลับ 

“บางคนต้องอยู่ในห้องกักเป็นปี ยิ่งในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า พรมแดนระหว่างประเทศปิด การผลักดันให้คนต่างชาติเหล่านี้กลับประเทศย่อมยากลำบากขึ้น” พุทธณีกล่าว

ปลายทางความหวัง

Jovan เล่าว่า ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ มาจากครอบครัวและสภาเครือข่ายความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี เช่น ค่าที่พัก ค่าอาหาร 

“ทุกวันผมก็จะมากวาดขยะ และช่วยเหลือด้านจิตอาสาในงานต่างๆ ที่ทางเครือข่ายขอความช่วยเหลือ ผมพยายามที่จะไปหางานทำแล้ว แต่บุคลิก หน้าตา ที่เด่นมากทำให้ไม่สามารถแฝงตัวเข้าไปทำงานได้ เพื่อนชาวพม่า กัมพูชา มักจะรอดเพราะหน้าตาคล้ายคนไทย ผมว่าถ้าผมถูกจับจะไม่คุ้มกับค่าปรับ” Jovan กล่าว 

เขาบอกว่า ความหวังของเขาคืออยากไปประเทศออสเตรเลีย เพราะพี่สาว น้องสาวอยู่ที่นั่น ที่ผ่านมาจำเป็นที่ต้องแยกจากกันเพราะทาง UNHCR จัดการให้ ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างรอพิสูจน์ว่าเข้าเงื่อนไขเดินทางไปประเทศที่สามได้หรือเปล่า 

“ถ้าถามว่าอยากกลับประเทศอิรักไหม ก็อยากกลับ แต่เมื่อหนีออกมาแล้ว ผมคิดว่าคงไม่สามารถกลับไปได้แล้ว ถือว่าเราเป็นบุคคลต้องห้ามของประเทศไปแล้ว” Jovan กล่าว

เจมส์ กล่าวเป็นไปได้ เขาอยากไปประเทศที่สาม เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เพราะว่าตอนนี้ตัวเขาเองรวมทั้งพ่อกับแม่ก็อายุเยอะขึ้นเรื่อยๆ จะอยู่แบบนี้ตลอดไปไม่ได้ ตอนนี้ก็ภาวนาให้ UNHCR ดำเนินการกับทางประเทศที่สามให้เร็วที่สุด

เราะห์หมัด กล่าวว่า มีหลายองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่ส่วนใหญ่จะช่วยด้านอาหาร ค่าปรับ ค่ารักษา ค่าที่พัก และค่าการศึกษา เป็นหลัก จากการสำรวจความต้องการสูงสุดของผู้ลี้ภัย ส่วนใหญ่แล้วต้องการเดินทางไปยังประเทศที่สาม เมื่อไปถึงที่นั่นพวกเขาจะได้งาน สวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาล การศึกษา จากสวัสดิการของรัฐนั้นๆ แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการคัดกรองของ UNHCR ว่าตรงตามเงื่อนไขหรือไม่ แต่ละปีจะมีจำนวนผู้ลี้ภัยที่ผ่านเงื่อนไข UNHCR น้อยมาก จึงทำให้มีผู้ที่ตกค้างอาศัยอยู่ในประเทศไทยกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก บ้างรายต้องรอเป็น 10 ปี บ้างรายก็เสียชีวิตในประเทศไทยด้วยก็มี 

พุทธณี กล่าวว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ประเทศไทยมีตัวกฎหมายออกมาดูแลผู้ลี้ภัยโดยตรงแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังต้องดูต่อไปว่าจะเกิดผลในการคัดกร้องผู้ลี้ภัยอย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่า เพราะในบางประเทศเมื่อรัฐบาลมีการคัดกรองเอง ปรากฏว่าเป็นการคัดผู้ลี้ภัย ‘ออกไป’ มากกว่าการคัดกรองเพื่อรับผู้ลี้ภัย 

ระหว่างทางที่ยังไม่ชัดเจนนี้ ในสภาพความเป็นจริงปัจจุบัน กฎหมายของไทยก็ยังไม่ได้รับร้อง ‘บัตรผู้ลี้ภัย’ ของ UNHCR ทำให้ผู้ลี้ภัยยังมีความเสี่ยงที่จะถูกจับได้อยู่ดี แม้รัฐบาลไทยอนุญาตให้สหประชาชาติเข้ามาทำงานในส่วนนี้ การคุ้มครองผู้ลี้ภัยก็ยังไม่เป็นไป 100% 

“หลายคนเมื่อได้รับสถานะผู้ลี้ภัยแล้ว ตามหลักการสากลเมื่อเป็นผู้ลี้ภัยหนี้ภัยประหัตประหารเขาจะไม่ส่งตัวกลับ แต่ในประเทศไทยยังมีโอกาสส่งตัวกลับ ส่วนใหญ่จะส่งกลับไปยังประเทศต้นทางและประเทศเพื่อนบ้าน อันนี้ถือว่าคัดกับกฎหมายสากลอย่างชัดเจนเลย” พุทธณีกล่าว

เธอขยายความว่า เนื่องจากไทยไม่ได้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย ในทางปฎิบัติจึงไม่ได้เป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยโดยตรง แต่จะเป็นประเทศทางผ่านเพื่อส่งต่อไปยังประเทศปลายทาง แต่ ‘ทางผ่าน’ บางครั้งก็ไม่อาจผ่าน ในความจริง มีผู้ลี้ภัยตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะต้องรอการพิสูจน์ตามเงื่อนไขหลายคนต้องรอนานเป็นสิบๆ ปี 

สิ่งที่ต้องการ 

Jovan กล่าวว่า จากที่มาอยู่เมืองไทยหลายปี ทุกอย่างล้วนเป็นมิตร ทั้งผู้คน สังคม อาหาร สภาพแวดล้อม อย่างเดียวที่คิดว่าต้องแก้ไข คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ 

“ผมเข้าใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเขานะ แต่ไม่จำเป็นต้องทำตัวเหมือนมาเฟียรีดไถเงินทุกครั้งที่เจอก็ได้ ถ้าเป็นไปได้ผมอยากให้เขา หางานให้เราทำแล้วหักภาษีจากเรา 20-30% แบบนี้เรายังโอเคกว่า” Javan กล่าว

เจมส์ กล่าวว่าอยากให้รัฐบาลช่วยมอบสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรบ้างอย่างแก่ผู้ลี้ภัย เช่นการทำงาน ค่ารักษาพยาบาล การศึกษา และตอนนี้สังคมไทยยังไม่รู้จักผู้ลี้ภัยมากเท่าไร จึงอยากให้สังคมเข้าใจ รับรู้ว่าผู้ลี้ภัยคือใคร เผชิญปัญหาอะไรมาบ้าง

“อยากให้สังคมลองเปิดใจ” เจมส์กล่าวถึงความคาดหวัง

พุทธณี ระบุว่า จากการสำรวจพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นๆ ที่มีทัศนคติในทางลบต่อผู้ลี้ภัย ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกค่อนข้างจะมีทัศนคติทางบวก เข้าใจว่าผู้ลี้ภัยคือใคร และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนช่วยเหลือ แต่ในไทยคนส่วนใหญ่จะมีชุดความคิดว่า แรงงานข้ามชาติจะมาแย้งงานภายในประเทศ หรือมาเป็นภาระให้กับรัฐบาลหรือสังคม 

================

ผู้เขียน: มุมิน รัตนชนานนท์