ไม่พบผลการค้นหา
กม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่มีผลบังคับแล้ว พร้อมยกเลิกกฎหมายเก่า 12 ฉบับรวบเป็นฉบับเดียว ให้อำนาจ อปท. จัดเก็บภาษีและสำรวจ ที่ทิ้งร้างเจอร้อยละ 1.2 บ้านหลังเเรกไม่เกิน 50 ล้านได้รับยกเว้น เริ่มเก็บ 1 ม.ค. 2563

ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้เเล้ว ตั้งเเต่วันนี้ (13 มี.ค.) เป็นต้นไป เว้นแต่การจัดเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2563 เป็นต้นไป

บทบัญญัติกฎหมายนี้ มีเนื้อหา 98 มาตราและบทเฉพาะกาล มีเนื้อหาสาระที่สำคัญ เช่น มาตรา 37 ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้จัดเก็บภาษีตามอัตรา ดังนี้

1.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี

2.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี

3.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากข้อ 1 หรือ 2 ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี

4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี

สำหรับอัตราภาษีที่ใช้จัดเก็บให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยจะกำหนดเป็นอัตราเดียว หรือหลายอัตราแยกตามมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราภาษีที่กำหนด

กรณีบ้านหลังแรก ไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี โดยมาตรา 41 บัญญัติว่า ในกรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท

ส่วนมาตรา 43 กรณีที่ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ต้องเสียภาษีเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน ให้เรียกเก็บภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างในปีที่ 4 เพิ่มขึ้นจากอัตราภาษีที่จัดเก็บตามมาตรา 37 (4) คือ ไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี ให้เก็บเพิ่มในอัตรา ร้อยละ 0.3 และหากยังทิ้งไว้เป็นเวลาติดต่อกัน ให้เพิ่มอัตราภาษีอีก ร้อยละ 0.3 ในทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีที่เสียรวมทั้งหมดแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 3

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดินและกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายทั้งสองฉบับไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สมควรยกเลิกกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวและให้ใช้กฎหมายว่าด้วย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเก็บภาษีดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม