ไม่พบผลการค้นหา
"รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เสนอทบทวนระบบคัดกรองโรค หลังพบรายงานผู้ป่วย 1 ใน 4 ไม่มีประวัติเสี่ยง ขณะที่กรมควบคุมโรคยืนยันมาตรฐานเหมาะสมกับสถานการณ์โรคในประเทศไทย ขอความร่วมมือทุกคนปฏิบัติตามคำแนะนำ

สำนักข่าว Hfocus (เอชโฟกัส) นำเสนอกรณี รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็น"ลักษณะอาการและผลการตรวจคนไข้ COVID-19 ในจีน" พร้อมเสนอทบทวนระบบคัดกรองโรค ระบุว่า:

สรุปภาพรวมจากผู้ป่วยจำนวน 1,099 ราย อายุเฉลี่ยประมาณ 47 ปี แต่มีคนติดเชื้อทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กเล็กไปจนสูงอายุ เป็นเพศหญิงราว 40%

ที่น่าสนใจมากคือ มีผู้ป่วยถึง 1 ใน 4 (26%) ที่ไม่มีประวัติเสี่ยง ทั้งการเดินทางหรือติดต่อกับคนที่มาจากพื้นที่เสี่ยง

มีคนเพียง 2% ที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ป่า

ระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ย 4 วัน

ไข้: ตรวจเจอแค่ 44% ในช่วงแรก แต่ระหว่างการดูแลรักษาจะเจอ 89%

ไอ: ผู้ป่วยจะมีอาการนี้ถึง 68%

มีอาการรุนแรง: 15% โดยคนที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว (เช่น ความดันโลหิตสูง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง) จะมีโอกาสที่จะติดเชื้อ COVID-19 แล้วเกิดอาการรุนแรงมากกว่าคนไม่มีโรคประจำตัว 2 เท่า

CT scan: ตรวจพบความผิดปกติในปอดของผู้ป่วยถึง 86%

ถ้าทำทั้งเอกซเรย์ปอดและ CT scan จะมีผู้ป่วยอาการรุนแรงเพียง 3% ที่ไม่พบความผิดปกติ แต่ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะไม่พบความผิดปกติราว 15%

การตรวจเลือด: พบว่ามีผู้ป่วยถึง 83% จะมีเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ต่ำกว่าปกติ

การรักษา:

- กลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณหนึ่งในสาม (32%)

- ยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน

- โดยเฉลี่ยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 12 วัน

สิ่งที่ไทยควรพิจารณา:

1. ทบทวนระบบการคัดกรองโรคในปัจจุบัน เพราะโอกาสที่คนติดเชื้อ COVID-19 จะไม่มีไข้ และไม่มีประวัติเสี่ยงนั้นมีพอสมควร

2. ทบทวนนโยบายการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเสรีของกลุ่มคนจากประเทศที่มีการระบาดรุนแรง

3. พิจารณาสั่งการงดการจัดงานที่มีคนจำนวนมาก ไม่ควรเกรงกลัวต่ออิทธิพลทางการเมือง หรือเห็นแก่เม็ดเงินซึ่งหน้า เพราะผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากโรคระบาดนั้นใหญ่หลวงนัก และพอเกิดขึ้นมาแล้ว เราคงพอคาดเดาได้ว่า พวกที่ได้หน้าได้เงินก็เปิดตูดหนีหายเข้ากลีบเมฆไปโดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบ

กรมควบคุมโรคยืนยัน มาตรการคัดกรองไทยได้มาตรฐาน

ด้าน นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า มาตรการคัดกรองโรคโควิด-19 ของไทยในปัจจุบัน ไม่ได้พิจารณาจากอาการไข้เพียงอย่างเดียว ในการวินิจฉัยโรคโควิด-19 มีปัจจัยอย่างอื่นด้วยในการสอบถาม เช่น ประวัติการเดินทางในประเทศเสี่ยง อาการปัจจุบันของคนไข้ แม้กระทั้งคนรอบข้างในครอบครัวจะมีการซักอย่างละเอียดประกอบการคัดกรองเบื้องต้น ยืนยันได้ว่ามาตรการที่ใช้เป็นไปตามมาตรฐาน ใช้หลักวิชาการในการทำงาน ผ่านการคิดวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในประเทศไทย และทรัพยากรที่มี ขออย่าตื่นตระหนก

เมื่อถามว่า หากไม่มีอาการเสี่ยงไม่มีอาการไข้ แต่ขอไปตรวจเพาะเชื้ออย่างละเอียด ทราบผลว่าไม่ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนั้น จะใช้เป็นผลยืนยันได้หรือไม่ว่าในอนาคตจะไม่ป่วยหรือไม่เป็นพาหะ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า สมมุติว่าเดินทางกลับมาจากประเทศเสี่ยงพักอยู่บ้าน 3 วัน ไม่มีอาการแล้วไปตรวจไม่พบเชื้อ ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอาการในอนาคต เพราะหากในระหว่างกักตัวเอง 14 วัน พบว่ามีไข้ต้องออกไปตรวจซ้ำอีก และส่งผลกระทบต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ต้องดูแลผู้ป่วยจริงๆ ทำให้โรงพยาบาลแน่นเกินความจำเป็น

"คนไทยต้องช่วยกัน อย่าหวังทุกอย่างขึ้นอยู่กับหมอกับระบบสาธารณสุข เช่น คนไข้เป็นเบาหวานคิดว่าจะกินทุกอย่างหวานแค่ไหนก็กิน หมอเก่งก็รักษาฉันสิ เราจะคิดแบบนี้ไม่ได้ เพราะถ้าจะควบคุมเบาหวานให้ได้ ตัวเองต้องควบคุมตัวเองด้วย ขณะเดียวกันหมอจะทำเต็มที่ในการช่วยคนไข้ดูแลเบาหวานตามกระบวนการขั้นตอนรักษา เช่นเดียวกับเรื่องโรคโควิท-19 คนไทยทุกคนต้องรู้ด้วยว่า หากไม่ต้องการให้โรคระบาดตัวเองต้องทำอะไร ยกตัวอย่างว่าบุคคลเสี่ยงหากทุกคนยังใช้ชีวิตสบายๆ อยากจะออกไปข้างนอก อยากไอใส่หน้าใคร ไม่ปิดปาก ไปขึ้นรถไฟฟ้า ใครจะติดก็ติดไปฉันไม่สนใจ อย่างนี้ทำไม่ได้ เหมือนกับคนไข้เป็นเบาหวานที่ไม่ยอมควบคุมดูแลตัวเอง ทุกคนต้องช่วยกัน ถึงจะเอาชนะโรคที่แพร่ระบาดได้ จะหวังว่าหมอจะไปปิดปากทุกคนที่ไอ เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ คนไทยทุกคนต้องช่วยกัน" นพ.ธนรักษ์ กล่าว

ไม่มีอาการ ไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ ไม่แนะนำให้ไปตรวจเอง

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณะสุขได้ชี้แจงข้อสงสัยข้อกังวลของประชาชนที่เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงกลับมาแล้วจะปฏิบัติตัวอย่างไร โดยระบุว่า ขอความร่วมมือต้องสังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้านที่พักจนครบ 14 วัน นับจากวันที่กลับ หลีกเลี่ยงการไปที่สาธารณะที่มีคนอยู่หนาแน่นโดยไม่จำเป็น ให้สวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น งดใช้ของใช้ร่วมกับผู้อื่น หมั่นล้างมือบ่อยๆ กินร้อนช้อนกลาง หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ชักโครก ลูกบิดประตู ด้วยสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ เสื้อผ้า และหากภายใน 14 วัน มีไข้ร่วมกับไอ จาม ให้รีบมาพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง

ในส่วนการตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 COVID-19 หากเป็นผู้ที่เข้าข่ายสงสัยฯ ตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปรับการตรวจที่ รพ.ตามสิทธิ (ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่าตรวจ) หากยังไม่มีอาการใด ๆ หรืออาการไม่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์ ไม่แนะนำให้ไปตรวจเอง (หากอยากตรวจต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง) ทั้งนี้ ในกลุ่มที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่เข้าข่ายแต่เป็นผู้เดินทางมาจากประเทศที่เสี่ยง แม้จะตรวจไม่พบเชื้อ ในครั้งแรกขอให้สังเกตอาการป่วยอยู่ที่บ้าน ที่พัก จนครบ 14 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามผู้ไปขอรับการคัดกรองโรคโควิด-19 จากโรงพยาบาลบำราศนราดูร รายหนึ่งระบุว่า เดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา ไม่มีอาการไข้ใดๆ แต่เพื่อความมั่นใจจึงได้มาขอตรวจที่โรงพยาบาล โดยจุดคัดกรองจุดแรกได้ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย พร้อมสอบถามรายละเอียด อาทิ เดินทางมาจากที่ไหน เข้าออกประเทศไทยเมื่อใด คนในครอบครัวมีอาการเป็นไข้หรือไม่ และเมื่อวัดอุณหภูมิพบ 37.1 c จึงถูกส่งตัวเข้าพบแพทย์

ระหว่างนั้นได้มีพยาบาลมาคัดกรองสอบถามประวัติอีกหนึ่งรอบ โดยให้ชั่งน้ำหนักและความดัน จากนั้นเมื่อเข้าแพทย์สอบถามย้ำถึงการเดินทางว่ามาจากประเทศใด มีอาการไข้เริ่มเมื่อใด โดยแพทย์ได้ขอตรวจดูภายในลำคอ ไม่พบอาการอักเสบ และไม่มีไข้สูง จึงให้กลับบ้านและแนะนำให้ปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด โดยการเก็บตัวให้ครบ 14 วัน เนื่องจากว่าวันที่มาตรวจเพิ่งเดินทางกลับมาไม่ถึง 1 สัปดาห์ แต่ระหว่างนั้นหากมีไข้ให้เดินทางมาพบแพทย์โดยด่วน ส่วนเพื่อนอีกคนที่เดินทางกลับมาพร้อมกัน ในจุดคัดกรองจุดแรก ไม่พบว่ามีไข้ จึงไม่ต้องพบแพทย์ ได้รับคำแนะนำเช่นเดียวกันว่าให้เก็บตัวดูอาการจนครบ 14 วัน

บำราศนราดูร โรงพยาบาลบำราศนราดูร โรงพยาบาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง