ไม่พบผลการค้นหา
โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งด้านความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย จัดเวทีคุยเรื่องถนน ผ่านระบบ ZOOM หัวข้อ “สร้างวินัยจราจรให้กับเด็กเท่ากับพัฒนาชาติ” หวังพัฒนาความปลอดภัยทางถนน

วิทยากรโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยน รูปแบบขั้นตอนการดำเนินงาน และความท้าทายเชิงพื้นที่ รวมถึงเทคนิคมุ่งสู่เป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ

พรพิพภา สุริยะ ผู้จัดการโครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสู่โรงเรียนต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการฯ ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง ในพื้นที่ 8 จังหวัดทั่วประเทศ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า การเริ่มต้นปลูกฝังวินัยจราจรในวัยเด็ก นอกจากเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีแล้ว ขณะเดียวกันยังสามารถส่งต่อและขยายแนวความคิดไปสู่วัยผู้ใหญ่ ในชุมชนและสังคมรอบข้างได้เป็นอย่างดี จากกระบวนการสร้างแนวร่วมระหว่าง ครู ผู้บริหารท้องถิ่น และคนในชุมชน 

ผ่านกิจกรรมที่ให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงความสำคัญ ของการลดและป้องกันอุบัติเหตุทางถนน 3 กิจกรรมหลัก คือ 1. พัฒนาและสร้างหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เหมาะสมกับพัฒนาการและการเรียนรู้ในแต่ละช่วงวัย เน้นทำอย่างไรให้เด็กสนุก จำ และสื่อสาร ไปถ่ายทอดยังครอบครัว ปู่ย่า ตายาย ด้วยแนวคิด “สร้างไม้อ่อนให้กลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรง” 2. สำรวจจุดเสี่ยงในพื้นที่ สรุปเป็นข้อมูลแก้ไขและจัดการแก้ไข ให้การเดินทางของทุกคนในชุมชนปลอดภัย และ 3. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงจากความเคยชิน เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าความเสี่ยงในการเดินทางนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ก้าวเท้าออกจากบ้าน 

กรชกร ชิณวงศ์ ผู้ประสานงานภาคเหนือและพี่เลี้ยงโครงการฯ กล่าวเสริมว่า ก่อนที่ จ.ลำพูน จะเข้าร่วมโครงการนี้ มีการผลักดันการเสริมสร้างวินัยจราจรอยู่แล้ว แต่ยังบรรลุผลสำเร็จ จึงมองว่าการปลูกฝังในวัยเด็กน่าจะได้ผลที่ดีกว่า เพราะเด็กคือไม้อ่อนที่ดัดง่ายกว่าไม้แก่อย่างผู้ใหญ่ โดยโจทย์ใหญ่ของการดำเนินงานคือ การเข้าไปปรับเปลี่ยนแนวคิดและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม โดยไม่เพียงต้องทำกับตัวครูผู้สอนเท่านั้น แต่ต้องเชื่อมต่อไปยังหน่วยงานต้นสังกัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เพื่อให้การดำเนินงานประสานสอดรับกันทั้งระบบ 

โดยเมื่อทุกคนเข้าร่วมทีม จะมีการเสริมสร้างความเข้าใจและทักษะที่จำเป็น เพื่อผลักดันกิจกรรมให้ประสบผลสำเร็จ ผ่าน 5 หลักสูตร ได้แก่ 1.วิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัย ทำแผนที่จุดเสี่ยง และต้นตอของปัญหาในพื้นที่ 2. การสร้างวิทยากรเครือข่ายเพราะลำพังครูทำคนเดียวไม่สามารถเชื่อมร้อยกับชุมชนได้ทั้งหมด 3. เพิ่มทักษะบริหารจัดการโครงการ 4. ฝึกการเขียนแผนกลยุทธ์ให้เป็นที่ยอมรับ และ 5. วิเคราะห์และถอดบทเรียนหลังการดำเนินงาน 

“ยอมรับว่าการตื่นตัวแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน บางคนมองเป็นเรื่องไกลตัวเพราะยังไม่เกิดกับตัวเอง ลูกหลาน หรือคนใกล้ตัว แต่เมื่อได้ลงทุกคนได้เข้าร่วมโครงการ เช่นในพื้นที่บ้านป่าสัก ได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาและความเสี่ยง จากกระบวนการภายในศูนย์พัฒนาเด็กเด็ก จึงได้ขยายต่อไปสู่โรงเรียน ผลักดันต่อไปยังระดับตำบลและชุมชนรอบข้าง” กรชกร กล่าว

ครูอารี วันมาละ หัวหน้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เทศบาลตำบลริมปิง จ.ลำพูน กล่าวว่า เด็กเล็กวัย 2-6 ขวบ เป็นช่วงที่เรียนรู้ได้เร็ว ดังนั้น การพัฒนาหลักสูตรการสอนให้สอดรับกับช่วงวัยและความสนใจ จะช่วยให้การเรียนรู้ของเด็กไม่น่าเบื่อ เช่นการสอนผ่านสื่อ 3 มิติ ให้หยิบจับและเรียนรู้ การเปิดคลิปวีดีโอ การเคลื่อนไหวแปลงร่างเป็นรถวิ่งผ่านสัญญาณจราจร และการสร้างเกมการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างจินตนาการ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายที่ยากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ปกครอง ในช่วงแรกของการดำเนินโครงการ ทุกคนต่างมองเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เห็นครูอารีเมื่อไหร่ก็จะกลัวโดนจับ แต่ก็พยายามสร้างความเข้าใจ และแบ่งปันประสบการณ์ของตนเอง ที่คนในครอบครัวเสียชีวิตจาก การประสบอุบัติเหตุและไม่สวมหมวกกันน็อค ในระยะทางที่ใกล้มากๆ เพียง 500 เมตรจากบ้าน ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ทุกคนจึงเริ่มเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญ ซึ่งปัจจุบันได้ออกเป็นระเบียบของศูนย์ฯ กำหนดให้ผู้ปกครองและเด็กต้องใส่หมวกกันน็อค 100% โดยชี้แจงตั้งแต่วันรับสมัคร ขณะเดียวกันยังได้ผลักดันการตรวจคุณภาพ และการติดตั้งอุปกรณ์รถตู้รับส่งนักเรียนอีกด้วย 

ด้าน ครูเกษม ใจกระเสน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองนกเงือก จ.ลำพูน กล่าวว่า โรงเรียนคำนึงถึงความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก และเมื่อเห็นนักเรียนที่มาจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบความปลอดภัยทางถนน ที่สวมหมวกกันน็อคมาโรงเรียนทุกวัน จึงตกลงเข้าร่วมโครงการที่ขยายต่อเนื่อง มาสู่โรงเรียน โดยเน้นดำเนินการ 3 ด้านหลัก คือ 1. กำจัดจุดเสี่ยงเส้นทางมายังโรงเรียน จุดไหนเสี่ยงอาศัยการมีส่วนร่วมชุมชนเข้ามาจัดการ เช่น โค้งไม่มีป้ายเตือน สัญญาณไฟชำรุด ให้คนในพื้นที่ประสานไปยังเทศบาลเพื่อให้เข้ามาแก้ไขโดยด่วน 2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยง โดยสามารถเพิ่มอัตราการสวมหมวกได้ถึง 90% จากก่อนหน้าที่ใส่กันไม่ถึง 10% และ 3. กระบวนการนำสู่การเรียนรู้ เพื่อปลูกฝังพฤติกรรมอย่างยั่งยืน ในระดับอนุบาลได้ปรับหลักสูตรโดยคุณครูให้เข้ากับช่วงวัย ส่วนระดับประถมสอดแทรกไปในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ผ่านกิจกรรม “ลูกเสือจราจร” เพื่อให้เด็กได้ปฏิบัติจริง โดยหลังเลิกเรียนจะผลัดกันไปทำหน้าที่อาสาจราจร ตามจุดข้ามถนน จุดจอดรถรับส่งนักเรียน จนเกิดเป็นภาพความร่วมมือของทุกคนในชุมชน

8B80FE32-B263-48AD-885E-47646E38FD37.jpg