ไม่พบผลการค้นหา
ชุมชนร่วมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แก้ไขปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ ใน ต.เวียงสระ ต้นแบแก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ "ทางลักผ่าน" ที่ปลอดภัย

ในการลงพื้นที่ของแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ที่ จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามการทำงานด้านความปลอดภัยทางถนน การปรับปรุงจุดตัดทางรถไฟ เทศบาลตำบลเวียงสระ อ.เวียงสระ ต้นแบบแก้ไขจุดเสี่ยงยกระดับสู่ทางลักผ่านที่ปลอดภัย ภายใต้ความร่วมมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคม จนสามารถลดอุบัติเหตุได้อย่างเป็นรูปธรรม

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ประธานคนที่ 2 คณะกรรมการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ทาง สสส. ได้หนุนทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม ซึ่งกลไกนี้จะเข้ามาช่วยพัฒนาระบบราชการที่ต่างคนต่างทำงาน ให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะแท้จริงแล้วประเทศไทยควรจะไปได้ดีกว่านี้ สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุควรน้อยกว่านี้อีกเท่าตัว 

ขณะที่ สุรินทร์ บุญประสพ นายกเทศมนตรีเวียงสระ เปิดเผยว่า สุราษฎร์ธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีทางรถไฟตัดผ่าน มีทางข้ามและทางลักผ่านหลายแห่งกระจายใน 8 อำเภอ รวมกันมากถึง 162 แห่ง เฉพาะที่ อ.เวียงสระ 18 แห่ง เป็นจุดที่ได้รับอนุญาตเพียง 4 แห่ง ที่เหลือเป็นทางลักผ่าน 14 แห่ง โดยจุดใหญ่ที่สุดคือ ทางลักผ่านบริเวณหน้า รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ ที่มีขบวนรถไฟผ่านต่อวันประมาณ 22 ขบวน ไม่รวมรถไฟบรรทุกสินค้า และมีคนเดินทางสัญจรผ่านจำนวนมาก 

สำหรับสถิติที่ผ่านมานั้น จุดนี้เคยเกิดอุบัติเหตุใหญ่ขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2549 ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แต่เมื่อปี 2550 ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัส 1 ราย และยังคงบาดแผลทางกายใจมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้หลังเกิดเหตุการณ์ในครั้งนั้น ภาคีเครือข่ายด้านความปลอดภัยทางถนนทุกภาคส่วน ได้ร่วมมือกันหารือเพื่อหาทางป้องกันและแก้ไข

ก่อนที่จะมีการนำโครงการไปบรรจุไว้ในแผนพัฒนาท้องถิ่น ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และการรถไฟแห่งประเทศไทย (แขวงบำรุงทางบ้านส้อง) ด้วยการแก้ไขจุดเสี่ยง ที่ใช้ระยะเวลาเพียง 3 เดือน ช่วงต้นปี 2551 ด้วยการปรับขยายถนนเป็น 2 ช่องจราจรสวนทางกัน ติดตั้งป้ายหรือสัญญาณเตือน ไฟฟ้าส่องสว่าง ทำแผงกั้นจราจร มีเหล็กกั้นจำกัดความสูงรถไม่เกิน 2.5 เมตร ปรับภูมิทัศน์ 2 ข้างทางเพิ่มทัศนวิสัย ก่อสร้างป้อมยามจุดตัดทางรถไฟ และจ้างเจ้าหน้าที่ประจำป้อมยาม ตลอด 24 ชม. 

ทางด้านเจ้าหน้าที่ประจำป้อมยาม ให้ข้อมูลว่า ทางข้ามจุดนี้จะอยู่ถัดจากสถานีรถไฟบ้านส้องประมาณ 500 เมตร เมื่อรถไฟกำลังจะออกจากสถานี จะดูสัญญาณธงเป็นหลัก เมื่อนายสถานีส่งสัญญาณว่ารถไฟกำลังจะออกมา ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที จะมาเคลื่อนป้ายกั้น เพื่อห้ามรถทุกชนิดข้ามทางรถไฟทันที โดยที่ผ่านมาประชาชนก็เข้าใจและให้ความร่วมมืออย่างดี 

ทั้งนี้จากการร่วมมือป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ทางลักผ่านนี้ยังไม่เกิดอุบัติเหตุขึ้นอีก หลังจากนี้คงเป็นการหาแนวทางเพิ่มเติม ว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้ดีขึ้นได้อีกหรือไม่ เพื่อหวังเป็นโมเดลทางลักผ่านที่ปลอดภัย ต่อยอดไปสู่พื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ 

ขณะที่ นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า เป้าหมายในปีนี้ สสส. มุ่งหวังให้เกิดการแก้ไขเพิ่มเติมคือ การสวมหมวกนิรภัย 100% ป้องกันอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ให้ได้มากที่สุด เพราะสถานการณ์ปัจจุบันความสูญเสียจากกลุ่มสองล้อ ยังคงสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย

สาย3 จุดตัดรางรถไฟ เวียงสระ_201022.jpgสาย3 จุดตัดรางรถไฟ เวียงสระ_201022_1.jpgสาย3 จุดตัดรางรถไฟ เวียงสระ_201022_2.jpg