ไม่พบผลการค้นหา
'ปิยบุตร' โพสต์เฟซบุ๊กชี้ 'ก้าวไกล' หนุนแก้ รธน.ให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้ง แต่ค้านกำหนดเงื่อนไขห้ามมิให้แก้หมวดบททั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์ ยกอดีตเคยแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์

ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ทำไมการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับจึงไม่ควรกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามแก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้านมีมติให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ในส่วนของ พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเงื่อนไขว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ จึงเกิดประเด็นถกเถียงกันว่า การกำหนดข้อห้ามไว้เช่นนั้นจำเป็นหรือไม่ หากไม่กำหนดไว้เท่ากับต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่มีผู้พยายามกล่าวหาหรือไม่

ปิยบุตรระบุว่าขอแสดงความเห็นทางวิชาการเพื่อยืนยันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขห้ามแก้ไขหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลสามประการ 

ประการแรก เหตุผลทางกฎหมาย ไม่มีข้อจำกัดใดในรัฐธรรมนูญที่ห้ามมิให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

ข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 255 ว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้” ดังนั้น ข้อห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีเพียง 1. ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทบต่อรูปของรัฐ (ความเป็นรัฐเดี่ยว และความเป็นราชอาณาจักร) 2. ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากมาตรา 256 (8) บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไปหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการ ตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ

ถ้าผลการออกเสียง ประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป” บทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 กระทำได้ ดังนั้น บทบัญญัติในหมวด 1 และหมวด 2 ย่อมถูกแก้ไขเพิ่มเติมได้เสมอ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือส่งผลเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

"การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ภายใต้กรอบเพดานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและความเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ว่าอย่างไร สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจร่างรัฐธรรมนูญจนเปลี่ยนให้เป็นสหพันธรัฐ สาธารณรัฐ หรือเผด็จการได้ อย่างไรเสียในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องยืนยันให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร เป็นรัฐเดี่ยว และปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข"

ประการที่สอง เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ในอดีตเคยแก้ไขมาแล้ว หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย พบว่าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลายครั้ง ก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2 มาแล้ว ในหมวด 1 บททั่วไป การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แต่ละครั้ง มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวด 1 แทบทุกครั้ง เช่น เพิ่มคำว่า “มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2492 เพิ่มคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2534 เปลี่ยนคำว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย” มาเป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ในรัฐธรรมนูญ 2540 และเพิ่มบทบัญญัติมาตรา 7 “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2540

ปิยบุตร ระบุว่า ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์นั้น รัฐธรรมนูญ 2492 เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรี รัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขในส่วนของการตรากฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ จากเดิมที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ มาเป็นให้รัฐสภารับทราบ และแก้ไขในส่วนการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ จากเดิมที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ มาเป็นให้รัฐสภารับทราบหรือล่าสุด รัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในหลายประเด็น

ประการที่สาม เหตุผลทางปฏิบัติ หากมีกรณีจำเป็นต้องแก้ขึ้นมา จะทำอย่างไร การกำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ไว้ล่วงหน้า ทำให้แข็งและตึงตัวจนเกินไป ในกรณีที่เกิดความจำเป็นต้องแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ขึ้นมาจริงๆ แล้วแก้ไขไม่ได้เพราะ “ติดล็อก” ข้อห้ามดังกล่าว อาจนำมาสู่วิกฤตทางรัฐธรรมนูญได้ การไม่กำหนดข้อห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้หมายความว่าต้องการแก้ไข จะแก้ไขหรือไม่อยู่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่การกำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ไว้ หากจำเป็นต้องแก้ไขขึ้นมาจริงๆ จะทำอย่างไร 

ปิยบุตร ระบุว่ากรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 ในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาให้แก้ไขใหม่ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ ดังปรากฏเป็นข่าว ดังนี้

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ปัจจุบันทูลเกล้าฯถวายแล้วว่า เมื่อวานนี้ได้หารือกับองคมนตรี ได้แจ้งว่า ภายหลังทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ องคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา 3-4 รายการ แก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจพระองค์ท่าน สำนักราชเลขาธิการจึงทำเรื่องมาที่รัฐบาล รัฐบาลจึงรับสนองพระบรมราชโองการฯเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เมื่อแก้เสร็จแล้ว จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ โดยใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ถึงจะทูลเกล้าฯอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน”

ในครั้งนั้น คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงต้องหาทางออกเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วให้สอดคล้องกับพระราชกระแสรับสั่ง โดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เสียใหม่ ในมาตรา 37/1 วรรค 11 เพื่อกำหนดรับรองกรณีพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดได้ และเพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกต

อนึ่ง หากการแก้ไขบทบัญญัติในหมวด 1 ก็ดี หมวด 2 ก็ดี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เพื่อให้พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และในฐานะเป็นสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยแล้ว ก็สมควรที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลทั้งทางกฎหมาย ทางประวัติศาสตร์ และทางปฏิบัติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่ต้องกำหนดว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หมวด 1 และหมวด 2