ไม่พบผลการค้นหา
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เผยคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ปี 2020 ไทยได้ 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 อยู่ที่ 104 ของโลก ด้าน ป.ป.ช.จี้รัฐบาลดันนโยบายแก้ปัญหาทุจริต

นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ม.ค. 2564 เวลา 06.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศเยอรมนี หรือ เมื่อประมาณ 12.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ได้ประกาศคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต หรือ CPI (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2020 (พ.ศ. 2563) จากจำนวน 180 ประเทศทั่วโลก

โดยประเทศเดนมาร์กและประเทศนิวซีแลนด์ ยังครองตำแหน่งอันดับที่ 1 ของโลก ด้วยคะแนนสูงสุด 88 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทยได้ 36 คะแนน เท่ากับปี 2019 (พ.ศ. 2562) จัดอยู่ในอันดับที่ 104 ของโลก และอยู่ในอันดับที่ 5 ของกลุ่มประเทศอาเซียนเท่ากับประเทศเวียดนาม ซึ่งประเทศสิงค์โปร ได้คะแนนสูงสุด คือ 85 คะแนน จัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก

CPI


แม้ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย ในปี 2563 จะเท่ากับปี 2562 แต่พบว่า จากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทยได้คะแนนลดลง 1 แหล่ง และได้คะแนนคงที่ 8 แหล่ง

คะแนนลดลง 1 แหล่งข้อมูล คือ แหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook (IMD) ได้ 41 คะแนน (ปี 2019 ได้ 45 คะแนน)

IMD นำข้อมูลสถิติทุติยภูมิและผลการสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูง ไปประมวลผลจัดอันดับ ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และพิจารณาจาก 4 องค์ประกอบ คือ 1) สมรรถนะทางเศรษฐกิจ 2) ประสิทธิภาพของภาครัฐ 3) ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ 4) โครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้ IMD สำรวจข้อมูลประมาณ เดือน ม.ค. – เม.ย. ของทุกปี ในแหล่งข้อมูล IMD World Competitiveness Yearbook(IMD) โดยมีประเด็น ที่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ นำมาคำนวณเป็นคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตจากแบบสำรวจความคิดเห็นผู้บริหารระดับสูงในประเทศไทย คือ “มีการติดสินบนและคอร์รัปชันหรือไม่

คะแนนลดลง 4 คะแนน เนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ยังมีปัญหาการให้และรับสินบน และการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เจ้าหน้าที่รัฐยอมรับสินบนในการลักลอบเปิดบ่อนการพนัน ปัญหาสินบน จากลักลอบเข้าประเทศของแรงงานผิดกฎหมาย ถึงแม้ภาครัฐจะมีการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการประชาชน แต่ในกระบวนการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ยังมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ จึงเกิดปัญหาสินบนและการทุจริต ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์การทุจริตของประเทศ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ผู้เข้ารับบริการต้องความสะดวกรวดเร็ว ในการรับบริการ จึงยอมที่จะจ่ายสินบน

ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทุจริตยังไม่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้จะมีการลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิด แต่เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐในระดับล่าง นอกจากนี้ กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต เช่น พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวก ในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างอย่างมีประสิทธิภาพ

CPI


คะแนนคงที่ 8 แหล่งข้อมูล เช่น แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index (BF (TI)) ได้ 37 คะแนน (ปี 2019 ได้ 37 คะแนน)

BF (TI) ใช้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และประเมินกระบวนการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี และดูความเปลี่ยนแปลง 3 ด้าน คือ 1) ด้านการเมือง 2) ด้านเศรษฐกิจ และ 3) ด้านการจัดการของรัฐบาล ทั้งนี้ BF (TI) จะมีการเผยแพร่ผลทุก 2 ปี และข้อมูลที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดช่วงต้นปี 2563 ถึงแม้ว่า การประเมินจะประกอบด้วยชุดคำถามหลายข้อ แต่องค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ใช้คะแนนจากคำถาม ของ BF (TI) เพียง 2 ข้อ ในการประเมินคะแนน CPI คือ การดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำการทุจริต และความสำเร็จของรัฐบาลในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน โดยข้อมูลที่ได้จะถูกนำมาวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญของ BF (TI) ในประเทศไทย จำนวน 2 คน

คะแนนคงที่ เนื่องจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) ใช้คะแนนจากรายงานการวิเคราะห์ของ BF (TI) ครั้งล่าสุด เมื่อปีที่ผ่านมา

ดัชนีคอร์รัปชัน ทุจริต ไทย ปปช 7348275.jpg

นิวัติไชย ระบุ จากผลคะแนนการรับรู้การทุจริต ในปี 2020 เป็นเครื่องบ่งชี้สำคัญถึงสถานการณ์การทุจริตในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติในการสร้างความโปร่งใสในการดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาการทุจริต และไม่ยอมทน ต่อการทุจริต ซึ่งจะนำไปสู่สังคมที่สุจริตส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตต่อไป

ขณะที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน โดยระบุว่า 1) ต้องมีการสร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยงานตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าทรัพยากรต่าง ๆ จะไปถึงผู้ที่มีความต้องการอย่างแท้จริง และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านการทุจริตและหน่วยงานตรวจสอบต้องได้รับจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรที่เพียงพอ รวมถึงมีความเป็นอิสระในการดำเนินการ 

2) สร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับการเปิดเผยและความโปร่งใสในการได้รับสัญญา เพื่อขจัดการกระทำผิดและขัดกันแห่งผลประโยชน์ และเสริมสร้างความเชื่อมั่นในการเข้าเสนอราคาอย่างเป็นธรรม 3) ปกป้องประชาธิปไตยและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพลเมือง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้รัฐบาลต้องมีความรับผิดชอบ และ 4) เผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและรับรองการเข้าถึงข้อมูลเพื่อให้มั่นใจว่าสาธารณชนได้รับข้อมูลสำคัญได้โดยง่าย สะดวก และตรงต่อเวลา