ไม่พบผลการค้นหา
ข้อโดดเด่นของโชว์ชุดนี้คือซากาโมโตะจงใจให้เป็นการแสดงแบบใกล้ชิด คนดูจำนวนหลักร้อย เพื่อให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปกับเขา ซึ่งระยะห่างที่น้อยนิดทำให้เราได้สังเกตถึงกระบวนการทำงานของศิลปิน

เมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ ในขณะที่นั่งแท็กซี่กลับบ้าน รุ่นน้องและเพื่อนหลายคน ต่างก็รีบส่งข่าวมาหาผมว่า ริวอิจิ ซากาโมโตะจะมีคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์ ซึ่งเปิดขายบัตรแล้ว และก็โซลด์เอาท์ไปแล้วด้วย! ผมตกใจมากว่าทำไมถึงไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับงานนี้มาก่อน สืบความไปมาจึงทราบว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของงาน Singapore International Festival of Arts (หรือ SIFA) ที่เพิ่งจะประกาศไลน์อัพงานเอาคืนนั้นและเซอร์ไพรส์ผู้คนด้วยการเริ่มขายบัตรทันที

ผมนั่งกดปุ่มรีเฟรชซ้ำๆ ในสมาร์ทโฟนตัวเองอย่างสิ้นหวัง พร้อมกับทำใจว่าคงไม่ได้ดูคอนเสิร์ตนี้แล้ว แต่ก็อดฟูมฟายไม่ได้เพราะซากาโมโตะเป็นหนึ่งในศิลปินที่เคยลิสต์ไว้ว่าอยากดูก่อนตาย แต่แล้วด้วยปาฏิหาริย์หรืออะไรก็มิทราบอยู่ดีๆ ก็มีบัตรหลุดมาจนผมซื้อสำเร็จ เรียกได้ว่าเป็นประสบการณ์แสนเซอร์เรียลของชีวิตที่กดบัตรคอนเสิร์ตของ ริวอิจิ ซากาโมโตะ ได้บนแท็กซี่!

Ryuichi Sakamoto

แต่เอาเข้าจริงแล้วตอนที่ซื้อบัตรผมไม่ทราบเลยว่ารูปแบบของคอนเสิร์ตนี้เป็นอย่างไร (เรียกได้ว่าซื้อเพราะชื่อของซากาโมโตะล้วนๆ) ทั้งนี้ถ้าใครติดตามผลงานของเขาก็จะทราบว่ามีความหลากหลายมาก จากเพลงอิเล็กทรอนิกในช่วงต้นของอาชีพ มาสู่เพลงบรรเลงเปียโนและงานทดลองในช่วงหลัง งานซาวด์แทร็กหนังมากมาย อาทิ Merry Christmas Mr. Lawrence, The Last Emperor หรือ The Revenant ส่วนการแสดงสดของซากาโมโตะก็มีสารพัดแบบทั้งการเดี่ยวเปียโน เล่นกับวงออร์เคสตร้า หรือการเล่นดนตรีสดประกอบภาพเคลื่อนไหว

โชว์ที่สิงคโปร์นั้นมีชื่อว่า Fragments เป็นการแสดงสดเพลงจากอัลบั้มชุดล่าอย่าง async พร้อมด้วยวิชวลกราฟิกจาก ชิโระ ทากาทานิ (ศิลปินที่ร่วมงานกับซากาโมโตะมายาวนาน) โดยการสร้างสรรพเสียงต่างๆ นอกจากจะทำผ่านเครื่องดนตรี อาทิ เปียโน กีต้าร์ ซินธิไซเซอร์ ก็จะมีการใช้สิ่งของสามัญรอบตัวอย่างกระดาษ เหรียญ ก้อนหิน

ตัวอย่างโชว์เมื่อครั้งแสดงที่นิวยอร์กครับ

ข้อโดดเด่นของโชว์ชุดนี้คือซากาโมโตะจงใจให้เป็นการแสดงแบบใกล้ชิด คนดูจำนวนหลักร้อย อย่างที่สิงคโปร์ขายบัตรเพียง 250 ที่นั่งเท่านั้น (มันถึงหมดในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง) เนื่องจากเขาต้องการให้ผู้ชมมีความรู้สึกร่วมไปกับเขา โชว์นี้มีลักษณะของการด้นสด (improvisation) อยู่ด้วย บางช่วงเราได้เห็นซากาโมโตะทำหน้าครุ่นคิด หรือเดินไปรอบเวทีเพื่อมองไปยังเครื่องดนตรี/อุปกรณ์ต่างๆ ระยะห่างที่น้อยนิดทำให้เราได้สังเกตถึงกระบวนการทำงานของศิลปิน

Ryuichi Sakamoto

ต้องยอมใจทางสิงคโปร์ที่จัดการแสดงนี้ที่ Esplanade Theatre ที่มีความจุราว 3000 คน แต่ด้วยความที่โชว์นี้มีคนดูเพียง 250 คน เขาจึงให้คนดูขึ้นไปนั่งบนเวทีร่วมกับศิลปินเลย ส่วนแสตนด์ที่นั่งก็ปล่อยโล่งๆ ไว้เช่นนั้น สิ่งนี้ทำให้นึกถึงการแสดงมัลติมีเดีย Fever Room ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เล่นกับมุมกลับ-ให้คนดูไปนั่งบนเวทีโรงละคร แล้วยิงโปรเจคเตอร์ไปยังฝั่งที่นั่งคนดู นั่นทำให้การแสดง Fever Room ในแต่ละรอบขายบัตรได้เพียงหลักร้อยใบ (ทั้งที่จัดในโรงละครหลักพันคน) งานชิ้นนี้แสดงมาแล้วหลายประเทศทั่วโลก แต่กลับไม่เคยแสดงที่ไทยอย่างเป็นการทางการ เนื่องจากไม่สามารถหาสถานที่ที่เหมาะสม มันเป็นโชว์ที่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจเอาเสียเลย

สำหรับการแสดง Fragments นั้นเรียกได้ว่าทำให้ผู้ชมอึ้งตั้งแต่วินาทีแรกที่เดินเข้างาน อึ้งแรกคือการเซ็ตให้ส่วนของเวทีมีน้ำนองไปทั่วพื้น น้ำทำหน้าที่เป็นเหมือนกระจกที่สะท้อนเครื่องดนตรีและกลุ่มผู้ชมอึ้งที่สองคือการที่ซากาโมโตะยืนอยู่ห่างคนดูไปไม่ถึง 20 ก้าว ขอพูดด้วยโหมดติ่งว่านี่เป็นโมเมนต์ที่ยิ่งใหญ่ของชีวิตจริงๆ ครับ

Ryuichi Sakamoto

ตลอดโชว์ 75 นาที ซากาโมโตะจะเดินไปเดินมาไปเล่นเครื่องดนตรีและอุปกรณ์ต่างๆ บางอย่างก็ชวนเหวอมากๆ เช่นการสร้างเสียงจากการเอาตะเกียบเคาะเปียโนหรือการโยนเหรียญ มีการเล่นกีต้าร์ที่เสียงออกมาพิสดาร หรือการเอาไม้ไปถูแผ่นกระจกใสๆ อะไรสักอย่างที่ผู้เขียนก็จนปัญญาจะอธิบายว่ามันคืออะไรและทำงานอย่างไร แต่สิ่งที่จับต้องได้คือ ซากาโมโตะไม่ได้สร้างท่วงทำนองชัดเจน แต่เขากำลังประกอบสร้าง ‘ชิ้นส่วน’ ของเสียงขึ้นมา ตามชื่องานว่า Fragments นั่นเอง

วิชวลของทากาทานิ ศิลปินที่ร่วมงานนี้กับเขา ก็มีลักษณะเป็น Fragments เช่นกัน มันไม่ใช่ภาพสวยงามหวือหวา หากแต่เป็นภาพวิวทิวทัศน์ซ้อนทับกับซากาโมโตะที่กำลังแสดงสด อีกสิ่งที่ผมชอบมากคือความละเอียดของลำโพงที่มีทั้งด้านหน้า ด้านข้าง ด้านหลัง ด้านบน ถึงจุดหนึ่งนึกว่ามีใครขนของหรือทะเลาะกันบนเพดาน แต่แท้จริงแล้วมันคือส่วนหนึ่งของการแสดง

Ryuichi Sakamoto

พูดแบบภาษาชาวบ้านง่ายๆ การแสดงชุดนี้ของซากาโมโตะค่อนข้าง ‘เซอร์’ และ ‘เหวอ’ มาก แต่มันก็เป็นประสบการณ์ที่น่าจะหาได้ยาก จินตนาการไม่ออกเลยว่าการแสดงสดแบบนี้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อย่างไร พูดแล้วก็อดอิจฉาประเทศสิงคโปร์ไม่ได้ที่มีงานเอ็กซ์คลูซีฟมากมาย ทั้งคอนเสิร์ต PJ Harvey, วง Air, นิทรรศการของ ยาโยอิ คุซามะ หรือตอนที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้วง U2 ก็เพิ่งประกาศทัวร์ที่สิงคโปร์ ส่วนบ้านเราตราบใดที่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ ไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง ก็คงไม่มีเสถียรภาพในการสนับสนุนศิลปะวัฒนธรรมด้วย ต้องทำใจกันไปก่อน

แต่ทั้งนี้มีข่าวดีว่าซากาโมโตะจะไปแสดงที่ฮ่องกงช่วงเมษายน 2020 นี่ก็เป็นอีกประเทศที่รุ่มรวยด้านงานศิลปะ อย่างเดือนกันยายนนี้ก็จะมีคอนเสิร์ตใหญ่ของ ฮานส์ ซิมเมอร์ อย่างไรก็ดี สำหรับใครที่คิดจะไปดูซากาโมโตะที่ฮ่องกง ผมขอแนะนำให้ขายวิญญาณเพื่อแลกกับความเร็วเยี่ยงปิศาจในการกดบัตร เพราะตั๋วจะหมดภายในพริบตาแน่นอน

เราเตือนคุณแล้วนะ!