ไม่พบผลการค้นหา
นักวิจัยด้านความสามารถในการแข่งขัน มธ.เผย ที่ผ่านมาไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอน้อยมาก พบภาคธุรกิจใช้สิทธิประโยชน์เพียงร้อยละ 30 เตือนอย่าผลีผลามกระโดดร่วม CPTPP หวั่นไทยถูกบีบเปิดตลาด สะเทือนภาคเกษตร อุตสาหกรรมยาในประเทศ

ความพยายามของฝ่ายราชการเพื่อผลักดันประเทศไทยเข้าสู่กรอบความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP และเป็น 1 ใน 10 นโยบายขับเคลื่อนกระทรวงพาณิชย์ของ 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ประกาศไว้กับคณะผู้บริหารกระทรวงฯ ในวันแรกที่เข้าทำงานอย่างเป็นทางการ

เรื่องนี้กลับมาร้อนแรงและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งในวันนี้ เมื่อสภาเภสัชกรรม, ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาฯ, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน หรือ FTA Watch ออกแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผล และความกังวลเพื่อคัดค้านรัฐบาลไทยยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP 

เนื่องจากฝ่ายราชการย้ำว่าประเทศไทยจะต้อง 'แสดงเจตจำนงขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงฯ' ภายในเดือน เม.ย.นี้ เพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนที่นำเข้าสู่ที่ประชุมระดับรัฐมนตรีของสมาชิก CPTPP ภายในเดือน ส.ค.2563 ณ ประเทศเม็กซิโก ซึ่งจะเป็นรอบการหารือเกี่ยวกับการรับสมาชิกใหม่ และจะมีประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ 

ก่อนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 28 เม.ย. นี้จะตัดสินใจไปในทิศทางใด 'วอยซ์ออนไลน์' พูดคุยกับ 'รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์' คลัสเตอร์วิจัยความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาเรื่อง 'การใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี ประสบการณ์จากประเทศไทย' (The use of FTAs: The Thai experience) ให้ความเห็นว่า CPTPP เป็นเอฟทีเอซ้อนเอฟทีเอ ที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และ 11 ประเทศที่เป็นสมาชิกเดิมของ CPTPP ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ในจำนวนนี้มีเพียง 3 ประเทศ ได้แก่ ชิลี เม็กซิโก และแคนาดา ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอด้วย 

แล้วจากการประเมินเบื้องต้น หากสามารถเปิดตลาดเสรีกับ 3 ประเทศดังกล่าวได้ ก็จะมีผลเพียงร้อยละ 2 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยเท่านั้น  

อีกทั้งจากการศึกษาการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอของไทย ที่ผ่านมา เช่น กรณีความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย หรือ TAFTA ประเทศไทยคาดหวังให้ออสเตรเลียเปิดตลาดในกลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหว (sensitive list) หรือมีความสำคัญกับประเทศออสเตรเลีย เพื่อผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเปิด 

แล้วยังพบด้วยว่า ภาคส่งออกของไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีที่ประเทศไทยมีอยู่กับประเทศต่างๆ ก่อนหน้านี้ เพียงร้อยละ 30 ของการส่งออก หมายถึงขอใช้สิทธิเพียง 30 ราย จาก 100 ราย แล้วอีก 70 รายไม่ได้ใช้สิทธินี้เลย อีกทั้งการใช้สิทธิจากเอฟทีเอที่มีนั้น ก็ยังกระจุกในกลุ่มสินค้าไม่กี่สิบรายการจากการส่งออกสินค้าของไทยทั้งหมดกว่า 2,000 รายการ 

ดังนั้น ในความเห็นของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์เอฟทีเอในช่วงที่ผ่านมาของประเทศไทย จึงแสดงความกังวลว่า การเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ของ CPTPP ไทยจะไม่ได้ประโยชน์อะไรมาก และอาจจะเสียประโยชน์มากกว่า เพราะประเทศสมาชิกเดิม 11 แห่งต่างต้องการให้ไทยเปิดตลาดสำหรับผู้ประกอบการของประเทศนั้นๆ ให้มากขึ้น

"ยิ่งในสถานการณ์โควิด-19 ที่ควันโขมงอยู่ตอนนี้ ยิ่งไม่ใช่เวลาที่ประเทศไทยจะรีบเร่งไปแสดงเจตจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ เพราะเรายังไม่รู้เลยว่า หลังโควิด ห่วงโซ่อุปทาน หรือ supply chain ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร อย่างเวลานี้ หลายประเทศล็อกดาวน์ ซึ่งแต่ละแห่งระดับการล็อกดาวน์ก็ต่างกัน โรงงานอะไรบ้างเปิด หรือปิด ก็ยังไม่มีความชัดเจน แล้วการจะรีบเร่งเข้าไปตอนนี้จะได้ประโยชน์อะไร" รศ.ดร.อาชนัน กล่าว

พร้อมกับเตือนว่า บางกลุ่มสินค้าที่ไทยสงวนไว้กับคนในประเทศและไม่เคยยอมเปิดมานาน หากเข้า CPTPP ก็จะถูกบีบให้เปิดตลาดให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ และนั่นอาจเป็นบูมเบอแรงย้อนกลับมาทำร้ายเราได้

พร้อมกับยกตัวอย่าง สถานการณ์ปัจจุบันในกรณีกลุ่มอุตสาหกรรมยา ที่ประเทศไทยยังไม่ได้เปิดตลาดให้ต่างประเทศมากนัก และยังมีการคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งนี้เห็นได้ชัดในช่วงโควิด-19 ที่ไทยมียาบางชนิดที่ผลิตได้เองและส่งออกได้ด้วย และให้คนไข้ที่ใช้ยาเหล่านี้มีสต็อกของที่หาซื้อได้ในประเทศ โดยสามารถชะลอการพบแพทย์หรือลดความเสี่ยงที่จะออกบ้านไปโรงพยาบาลได้ ซึ่งเป็นการบรรเทาปัญหาในปัจจุบันไปได้ แต่หากไทยเข้าร่วม CPTPP สิ่งที่น่ากังวลคือ อุตสาหกรรมยาในประเทศจะถูกกระทบหนักและอาจทำให้คนไทยหายาภายในประเทศไม่ได้ เป็นต้น

ส่วนด้านแรงจูงใจในการลงทุน หรือเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มักถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวอ้างถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมใน CPTPP 'รศ.ดร.อาชนัน' ชี้ว่า ที่ผ่านมา การค้าการลงทุนไทยไม่ได้ขยายตัวจากการไทยมีเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ มากนัก ส่วนกรณีที่มักเปรียบเทียบกับเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันเป็น 1 ใน 7 สมาชิก CPTPP ที่ลงสัตยาบันแล้ว (ยังเหลืออีก 4 ได้แก่ ชิลี เปรู บรูไน มาเลเซีย ที่ยังไม่ลงสัตยาบัน) ว่ามีเอฟทีเอและเป็นข้อต่อให้เกิดการขยายตัวด้านการค้าการลงทุน สำหรับประเด็นนี้ ขอย้ำว่าเวียดนามมีปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดการลงทุน ไม่ใช่เพียงการทำเอฟทีเอจำนวนมาก หรือเป็นสมาชิก CPTPP เท่านั้น แต่เวียดนามมีเรื่องนโยบายรัฐที่เปิดรับการลงทุน การมีแรงงานเพียงพอ และความมั่นคงทางการเมือง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหน่วยงานรับผิดชอบการเจรจา ซึ่งหมายถึงกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จะย้ำว่า ในกระบวนการรับสมาชิกใหม่ของ CPTPP ประเทศที่ต้องการเข้าร่วมความตกลงต้อง 'ยื่นหนังสือขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงฯ' ซึ่งหนังสือนี้จะเป็นเพียงการแสดงเจตจำนงทางการเมืองในทางนโยบายที่จะเข้าเป็นสมาชิก แต่ยังไม่ใช่การแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันทางกฎหมาย ยังไม่ใช่หนังสือสัญญาและยังไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก็ตาม 

แต่คำถามที่ประชาชนไทยทั่วไป รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่จะได้รับผลกระทบหากประเทศไทยไปผูกพันสัญญาไว้ตามข้อตกลง เช่น เกษตรกรรมที่ห่วงเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ภาคสาธารณสุขที่ห่วงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิบัตรยา การเข้าถึงยา หรือฝ่ายราชการที่กังวลเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ คนเหล่านี้มีคำถามว่า ในช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เหตุใดทางการไทยต้องรีบเร่งเข้าเป็นสมาชิก ในเวลาที่ยังมองไม่ออก เห็นไม่ชัดว่าหลังโควิด-19 ทิศทางการค้าการลงทุน ซัพพลายเชนของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรและมากมายแค่ไหน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: