ไม่พบผลการค้นหา
นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ แนะนำผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลชี้แจงและทำความเข้าใจ เหตุใดนายกฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกิดด้วยความประมาทเลินเล่อหรือเจตนา

นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณด้วยถ้อยคำไม่ครบถ้วน ซึ่งบางคำขาดหายและมีเพิ่มเติมมาบางคำแทน ซึ่งไม่ตรงกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 161 ซึ่งขาดหายไปเป็นสาระสำคัญในประโยคที่ว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" ซึ่งในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอย่างมากว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่?

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 161 บัญญัติไว้ดังนี้

ก่อนเข้ารับหน้าที่ รัฐมนตรีต้องถวายสัตย์ปฎิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้

"ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคลิปจากสื่อมวลชนต่างๆ เผยแพร่ยืนยันได้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 161 

ปัญหาที่ตามมาจึงเกิดการถกเถียงกันอย่างมากจากกระแสสังคมนักวิชาการและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาแสดงความกังวลว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายและมีผลสมบูรณ์หรือไม่ และมีผลกระทบทางการเมืองทำให้คณะรัฐมนตรีเข้ารับทำหน้าที่โดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยหลักสากลและจารีตประเพณีในระบบประชาธิปไตยในอารยธรรมโลก การกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณของผู้นำประเทศก่อนทำหน้าที่รัฐบาล มีความสำคัญเป็นเรื่องละเอียดอ่อนซึ่งทุกๆ รัฐบาลจะต้องทำหน้าที่กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณตามข้อกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดและถูกต้องทุกประการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นและเงื่อนไขบังคับก่อนที่จะเข้าทำหน้าที่รัฐบาล 

ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยเฉพาะในประเทศไทย รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรตามรัฐธรรมนูญต้องปฏิญาณตนก่อนรับหน้าที่ อาทิ ตุลาการ ผู้พิพากษา รัฐมนตรี ซึ่งถือว่าได้ปฎิบัติตามกฎหมายสูงสุด คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณให้ครบถ้อยคำ ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของการถวายสัตย์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ กลับถวายสัตย์ปฏิญาณโดยตัดถ้อยคำว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" ออกไป ซึ่งถือเป็นสาระสำคัญในการที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถละทิ้งถ้อยคำสำคัญนี้ได้อย่างเด็ดขาด เพราะการปฏิญาณไม่ครบถ้อยคำที่บัญญัติไว้ จะมีผลกระทบทางการเมืองอย่างรุนแรง ถึงขนาดอาจทำให้ รัฐบาลชุดนี้เป็นโมฆะ ไม่สามารถทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินได้ต่อไป ซึ่งเป็นผลพวงมาจากพล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และอาจนำไปสู่ข้อกล่าวหาร้ายแรงในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ มาตรา 157 ได้ เช่นกัน 

ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดระแวงไม่เชื่อถือต่อผู้นำและ คณะรัฐมนตรีชุดนี้ อีกทั้งจะเห็นได้ว่าจนถึงวันนี้ยังไม่มีผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาลโดยเฉพาะรองนายกฝ่ายกฎหมายออกมาชี้แจงในเรื่องนี้แต่อย่างใด 

ในเรื่องที่นายกรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเกิดด้วยความประมาทเลินเล่อหรือเจตนาหรือไม่ หรือเกิดขึ้นด้วยเหตุผลใดก็ตามทางออกที่ดีที่สุดคือ ให้ผู้เกี่ยวข้องในรัฐบาล รีบออกมาชี้แจงและทำความเข้าใจในเรื่องนี้เพื่อให้สังคมได้รับทราบถึงเหตุที่เกิดขึ้น โดยออกมาแสดงความรับผิดชอบยอมรับความบกพร่องและรีบแก้ไขข้อบกพร่องโดยเร็ว

เพราะหากยังปล่อยให้รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินเนิ่นนานไป ก็จะแก้ไขสิ่งต่างๆ ได้ยากและจะเป็นปัญหากับสิ่งที่รัฐบาลได้ทำลงไปก่อนหน้านี้แล้ว


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :