ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกกอ.รมน.ภาค 4 แจงโครงการพาคนกลับบ้าน ไม่ใช่การสร้างภาพพาโจรกลับบ้าน ยันเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างจากรัฐ เข้ามาต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี ขณะที่ผู้ที่มีหมายจับ ป.วิอาญา ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่มีข้อละเว้น

พันเอกปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอานวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เปิดเผยว่าตามที่ได้มีความพยายาม เสนอข้อมูลข่าวสารโจมตีการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้าน ว่าเป็นการสร้างภาพพาโจรกลับบ้าน, ไม่ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย, มอบบ้าน, ที่ดินทำกินและจ่ายเงินตอบแทนให้รายละ 1,000,000 บาท เป็นต้น ทำให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง 

ดังนั้น กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จึงขอสร้างความเข้าใจ ดังนี้

1. โครงการพาคนกลับบ้าน เป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเปิดพื้นที่และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ที่ต้องการยุติการใช้ความรุนแรงเข้ามาต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธี ด้วยการเข้ารายงานตัวแสดงตนกับเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินกรรมวิธีตามขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนดไว้ เช่น การฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติความคิดความเชื่อให้เป็นไปตามหลักคำสอนที่ถูกต้องของศาสนาอิสลาม, การอำนวยความสะดวกในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม, การฝึกอบรมวิชาชีพ, การสร้างความมั่นใจในความปลอดภัย ในการกลับไปใช้ชีวิตในสังคม, และการพบปะพัฒนาสัมพันธ์โดยเจ้าหน้าที่และชมรมพาคนกลับบ้าน

2. การดำเนินการที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับจากพี่น้องประชาชนที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง และผู้เห็นต่างจากรัฐที่ต้องการยุติบทบาทและไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงอย่างกว้างขวาง ด้วยการออกมารายงานตัวเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,427 ราย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในประเทศ จำนวน 5,305 ราย (ปี 2555 – 2559 จำนวน 4,403 ราย, ปี 2560 จำนวน 127 ราย และปี 2561 จำนวน 775 ราย)

โดยทั้งหมดจะต้องผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ ก่อนกลับไปไปใช้ชีวิตตามปกติในภูมิลำเนา สำหรับผู้ที่มีหมายจับ ป.วิอาญา จะต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกฎหมายโดยไม่มีการละเว้น รวมทั้งไม่ได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ที่อยู่อาศัย, ที่ดินทำกินและค่าตอบแทนต่างๆ เพื่อจูงใจ ให้เข้าร่วมโครงการแต่อย่างใด

ขณะที่ กลุ่มเป้าหมายประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 122 ราย เป็นผู้เห็นต่างจากรัฐและหวาดระแวง ที่หลบหนีไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็จะต้องผ่านกรรมวิธีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ที่สำคัญ คือ การตรวจพิสูจน์สัญชาติและตรวจสอบพฤติกรรมการกระทำความผิด ก่อนเข้าร่วมโครงการ, การฝึกอบรมเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นเวลา 6 เดือน ก่อนส่งกลับภูมิลาเนา สำหรับผู้ที่ไม่สามารถกลับภูมิลำเนาได้ อาจจำเป็นต้องจัดสร้างศูนย์พักพิงและที่ดินทำกินให้เข้าพักอาศัยเป็นส่วนรวม ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐกำหนดให้เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาในพื้นที่อื่นๆในอดีต

3. ผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินโครงการพาคนกลับบ้านตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมา นอกจากจะสามารถลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากการใช้ความรุนแรงแล้ว ยังได้รับการยอมรับจากองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ OIC เพราะเป็นแนวทางแก้ปัญหาตามแนวทางสันติวิธีที่ไม่ละเมิดต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ทำให้ผู้เห็นต่างจากรัฐมีความเชื่อมั่นในอำนาจรัฐ และกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น 

จึงขอความร่วมมือให้เสนอข้อมูลข่าวสารและแสดง ความคิดเห็นบนพื้นฐานของความจริง ไม่บิดเบือนหรือหวังผลประโยชน์อื่นแอบแฝง เพราะอาจมีความผิดตามกฎหมาย หากมีข้อสงสัยประการใด ขอให้สอบถามกับหน่วยเฉพาะกิจประจำพื้นที่ได้ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยินดีรับฟัง และให้การเคารพในทุกความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์ เพื่อนามาใช้ในการปรับปรุง แนวทางแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อ่านเพิ่มเติม