ไม่พบผลการค้นหา
คพ. เผยสถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณเกาะสมุย ตั้งแต่ปี 2558 – 2560 ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้ ปัญหาเกิดจากน้ำเสียชุมชนและการท่องเที่ยว กำหนดจัดอบรมการแก้ไขปัญหาน้ำเสียชายหาด สร้างการมีส่วนร่วมจัดการน้ำเสีย พร้อมให้คำแนะนำการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม และการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทางทะเล

นางสุณี ปิยะพันธุ์พงศ์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2558 – 2560 บริเวณท่าเรือเฟอรี่ (ซีทราน) ท่าเรือหน้าอำเภอ ตลาดแม่น้ำ (บ้านแม่น้ำ) อ่าวเฉวงน้อย อ่าวเฉวง หาดละไม และบ้านหัวถนน (อ่าวบางน้ำจืด) ส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ดีและพอใช้ ทั้งนี้พบว่ามีค่าคุณภาพน้ำทะเลไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล ได้แก่ มีค่าฟอสเฟต – ฟอสฟอรัส ไนเตรทและไนโตรเจน แบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมด แบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม และแบคทีเรียกลุ่มเอ็นเทอโรคอกไค ซึ่งเกิดจากชุมชนและกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม

นางสุณี กล่าวว่า เกาะสมุยเป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวและสถานประกอบการเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการระบายน้ำเสียลงสู่ชายหาดและทะเล คพ. จึงกำหนดจัดอบรมให้ความรู้ ภายใต้โครงการ “ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว” ได้แก่ การอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายและแนวทางการควบคุมและแก้ไขปัญหาน้ำทิ้งไม่ผ่านมาตรฐาน การลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษตามที่กฎหมายกำหนดกรณีที่ผลน้ำทิ้งที่ไม่ผ่านมาตรฐาน การจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำและ แนวทางแก้ไขตามหลักวิชาการแก่แหล่งกำเนิดมลพิษ และเป็นช่องทางในการปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ ในวันที่ 14 มิ.ย. 2561 ณ วิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ชายหาดเกาะ สมุยให้มีความตระหนักและตื่นตัวในการมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาน้ำเสีย เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม การดูแลระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติทางทะเล ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืนต่อไป

นางสุณี กล่าวว่า จากสถานการณ์คุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งบริเวณชายหาดท่องเที่ยวหลายแห่ง มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง และมีปัญหาการปนเปื้อนแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทั้งหมดเกินมาตรฐาน ประกอบกับมีเรื่องร้องเรียนกรณีปัญหาการระบายน้ำเสียลงสู่ชายหาดและทะเลจำนวนมาก คพ.จึงได้ดำเนินโครงการ “ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว” โดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมจัดการน้ำเสียจากกิจกรรมของตนเอง การให้คำแนะนำแนวทางปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกับแหล่งกำเนิดมลพิษ เพื่อปรับปรุงแก้ระบบบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพ และการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้ง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ชายหาดนำร่อง จำนวน 4 พื้นที่ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เมืองหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อ่าวนาง จังหวัดกระบี่ และเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี