ไม่พบผลการค้นหา
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดทำโครงการที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท ระยะเวลา 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. เปิดเผยว่า ได้เริ่มศึกษาและหารือร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อจัดทำโครงการที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อยูนิต กำหนดเฟสแรก 1 แสนยูนิต จากเป้าหมายรวม 1 ล้านยูนิต 

เบื้องต้น จากการพูดคุยกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีที่อยู่อาศัยที่พร้อมเปิดให้จองแล้ว 3 หมื่นยูนิต สามารถเข้าอยู่ได้เลย 1 หมื่นยูนิต และจะทยอยก่อสร้างอีก 2 หมื่นยูนิต ในปี 2562 ซึ่งได้เตรียมนำเสนอหลักเกณฑ์ต่างๆ ต่อคณะกรรมการ ธอส. ในเดือน ส.ค. นี้ เพื่อขอมติเห็นชอบในหลักการ

นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า มีสภาพคล่องเพียงพอรองรับการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ และรายย่อยสำหรับกู้ซื้อบ้าน คาดว่าต้องการใช้ทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยโครงการที่อยู่อาศัยดังกล่าว มีเป้าหมายในการช่วยเหลือคน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ผู้มีรายได้น้อย คนหนุ่มสาวที่เริ่มทำงานหาที่อยู่อาศัย และกลุ่มคนชรา โดยมีหลักเกณฑ์ผ่อนชำระรายเดือน 4,000 บาท เป็นระยะเวลา 40 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5 ปี รวมทั้งยังเปิดโอกาสสามารถกู้ร่วมได้สองคนกับญาติ เท่ากับว่าอาจมีภาระผ่อนเพียง 2,000 บาทต่อเดือน

สำหรับอัตราดอกเบี้ย ธอส. มีแนวโน้มจะตรึงไว้จนถึงสิ้นปีนี้ ที่ร้อยละ 6.75 เพื่อลดภาระผู้กู้ แม้ว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจะสูงขึ้นก็ตาม

ผ่อนนานขึ้น 40 ปี เป็นเพียงการยืดเวลา แต่ไม่ได้ลดภาระ

ขณะที่ นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส กล่าวว่า การที่ ธอส.มีแผนปล่อยกู้สำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยให้ผ่อนชำระค่างวดเป็นเวลานานถึง 40 ปีนั้น อาจเป็นนโยบายที่ไม่เหมาะสม เพราะการผ่อนชำระนานขึ้นจาก 20 ปี ตามปกติเป็น 40 ปีตามที่ ธอส. เสนอ ทำให้ประชาชนมีภาระการผ่อนเพิ่มขึ��นอีกหนึ่งเท่าตัว (20 ปี) แต่ลดภาระจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนไปเพียง 1 ใน 4 หรือร้อยละ 24 เท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าเป็นการได้ไม่คุ้มเสียสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยในการผ่อนชำระยาวนานเช่นนี้

ยกตัวอย่าง หากผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน 1 ล้านบาท ณ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 ต่อปี ตามระยะเวลาผ่อนชำระ 20 และ 40 ปี จะคำนวณได้ว่า จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 0.5 ต่อเดือน และระยะเวลา 40 ปี เท่ากับ 480 เดือน ระยะเวลา 20 ปี เท่ากับ 240 เดือน ซึ่งตามนัยนี้ หากผ่อนชำระเป็นเวลา 20 ปี จะต้องผ่อนชำระเดือนละ 7,265 บาท ในขณะที่หากระยะเวลาเพิ่มเป็น 40 ปี เล่นผ่อนชำระต่อเดือนก็จะเป็นเงินประมาณ 5,543 บาท (คิดเครื่องคร่าวๆ โดยใช้ฐานเป็นปีแล้วหารด้วย 12 เพื่อให้เป็นเงินผ่อนชำระต่อเดือน) 

โดยจะพบว่าเงินผ่อนชำระสำหรับ 40 ปีต่ำกว่าการผ่อนชำระในระยะเวลา 20 ปีเพียงร้อยละ 24 เท่านั้น ขณะที่เวลาเพิ่มขึ้นเป็น 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออีก 20 ปีอย่างนั้นจึงถือว่า 'ได้ไม่คุ้มเสีย' นอกจากนี้ การผ่อนในระยะเวลายาวนานอย่างทำให้ผู้ผ่อนชำระสูญเสียโอกาส (Opportunity cost) ในการไปลงทุนอื่นอีกด้วย

ยิ่งกว่านั้นประเด็นสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งคือที่อยู่อาศัยมีพลวัตรตามฐานะเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของ ถ้าเจ้าของหรือผู้ถือครองมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นก็คงย้ายออกไปซื้อบ้านที่มีคุณภาพสูงกว่า ในทางตรงกันข้ามหากฐานะยากจนลงก็คงต้องย้ายออก ดังนั้นการให้ผู้มีรายได้น้อยผ่อนชำระเป็นเวลายาวนานเกินความจำเป็น จึงไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่าที่ควรแต่จะเป็นประโยชน์ด้านการได้รับดอกเบี้ยของสถาบันการเงินมากกว่า

"การจัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยต้องไม่ทำให้กลไกตลาดบิดเบือน เพราะอาจทำให้เกิดผู้ 'อยากจน' มากกว่าผู้ยากจนมากแย่งชิงสิทธิการที่อยู่อาศัยจากผู้มีรายได้น้อยด้วย การจัดหาที่อยู่อาศัยประเภทเช่าก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งในระหว่างที่พวกเขายังไม่สามารถซื้อบ้านในตลาดเปิดได้" นายโสภณ กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :