ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มนิติราษฎร์ แจงกรณี 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' ยุติบทบาททางวิชาการไปตั้งพรรค ดีกว่าอ้างสถานะนักวิชาการเล่นการเมือง ปัดตอบโรดแมปเป็นไปได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับศาล แต่สังคมต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

ศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ผู้ร่วมก่อตั้งคณะนิติราษฎร์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ร่วมฟังการบรรยายเรื่อง 'ประวัติศาสตร์ความคิดนิติปรัชญา' ซึ่งจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ วันนี้ (18 มี.ค.) โดยย้ำว่า 'นิติราษฎร์' ไม่เกี่ยวข้องกับการตั้งพรรค 'อนาคตใหม่' ซึ่งมีแกนนำสำคัญ คือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารเครือบริษัทไทยซัมมิท และปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.ซึ่งเป็นสมาชิกคนหนึ่งของนิติราษฎร์

ศ.ดร.วรเจตน์อ้างถึงกรณีสื่อบางสำนักรายงานพาดพิงว่านิติราษฎร์ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ 'ไม่เป็นความจริง' พร้อมอ้างอิงแนวคิด 'กุสตาฟ รัดบรูก' นักนิติปรัชญาชาวเยอรมัน ซึ่งระบุว่า "การหลอมรวมงานทางการเมืองกับงานทางวิชาการเข้าด้วยกัน เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้" ในกรณีของปิยบุตรถือเป็นการตัดสินใจส่วนบุคคล และการยุติบทบาททางวิชาการเพื่อพุ่งเป้าไปที่การทำงานทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่เปิดเผยและชัดเจน 

"ผมไม่ได้ห้ามว่านักวิชาการต้องไม่พูดเรื่องการเมือง แต่การใช้สถานะนักวิชาการเล่นการเมืองเป็นเรื่องไม่ควร... เพราะในสังคมไทยยังมีคนที่เชื่อถือและคาดหวังว่านักวิชาการจะพูดถึงสิ่งต่างๆ โดยยึด 'ความรู้' เป็นหลัก กรณีของอาจารย์ปิยบุตรก็กล้าที่จะออกจากการเป็นนักวิชาการไปเป็นนักการเมือง ไม่ใช่ไปเล่นการเมืองระดับสูงโดยใช้เสื้อคลุมนักวิชาการ"

ขณะเดียวกัน ศ.ดร.วรเจตน์ระบุว่า 'ปิยบุตร' เป็นลูกศิษย์รุ่นแรก และเป็นผู้มีความสามารถทางวิชาการสูงมาก แม้จะเสียดายความสามารถ แต่ได้สอบถามแล้วว่าอาจารย์ปิยบุตรต้องการทำงานการเมือง เพราะอยากให้เกิดทางเลือกใหม่ทางการเมืองไทย ต้องการภูมิทัศน์และการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีอะไรที่จะคัดค้าน เพราะต่างยุคต่างสมัย สิ่งที่ดีสำหรับแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่การตัดสินใจของอาจารย์ปิยบุตรไม่กระทบกับทำงานด้านวิชาการของนิติราษฎร์

ศาล-ผู้พิพากษาต้องพัฒนาตัวเองให้ทัน 'เนติบริกร'

คณะนิติราษฎร์เป็นที่รู้จักครั้งแรกในฐานะกลุ่มนักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่รวมตัวกันต่อต้านการรัฐประหาร โดยเสนอให้ลบล้างผลพวงของการรัฐประหาร พ.ศ.2549 และเสนอแนวทางแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งเป็นข้อเสนอทางวิชาการด้านนิติศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทย และระหว่างการบรรยายที่ มธ.ในวันนี้ ศ.ดร.วรเจตน์ ระบุว่าสังคมไทยจะต้องกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสังคมร่วมกันด้วย เพื่อหาทางออกจากปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมานาน

ศ.ดร.วรเจตน์ระบุว่า สังคมไทยอยู่ใน Part ที่ 3 ของสถานการณ์หลังรัฐประหาร ซึ่งเป็นช่วงที่มีการบรรจุอำนาจตามมาตรา 44 ลงในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และต้องรอไปถึง Part ที่ 4 ที่จะมีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ หากจะถามว่าโรดแมปที่วางไว้จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับศาล ทำให้มีข้อถกเถียงในกลุ่มประชาชนและนักกฎหมายบางกลุ่มว่า คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอำนาจตามมาตรา 44 ถือเป็นกฎหมายที่ชอบธรรมหรือไม่

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย.jpg

แม้จะมีผู้เห็นควรให้ใช้คำสั่งรัฐประหารที่มีผลต่อเนื่องมา แต่ ศ.ดร.วรเจตน์แย้งว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบันก็มีบทบัญญัติที่รับรองเรื่องสิทธิและคุ้มครองด้านสิทธิ ควบคู่กับมาตรา 44 ซึ่งรองรับการใช้อำนาจที่อาจจะลิดรอนสิทธิประชาชน แต่ "ศาลมีอำนาจในการตีความลดทอนอำนาจที่จะลิดรอนสิทธิ" และเป็นท่าทีที่ศาลพึงมีได้

ศ.ดร.วรเจตน์ย้ำว่า ผู้ที่เป็น 'เนติบริกร' มีความพยายามพัฒนาขีดความสามารถของกฎหมายอยู่เรื่อยๆ และมีอำนาจคอยสนับสนุน ศาลก็ต้องพัฒนาความสามารถและเสนอแนวทางตามหลักนิติศาสตร์ เช่น ศาลพึงชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามีความจำเป็นอย่างไรจึงต้องจำหน่ายคดีที่เกี่ยวพันกับการใช้คำสั่ง คสช.หรือมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญ เพราะการที่ศาลบอกอะไรบางอย่างในคำพิพากษา จะทำให้คนอ่านได้รู้ว่า คำสั่งนั้นชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะเป็นผลดีในวันข้างหน้า ในกรณีที่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาเพื่อเยียวยาคนที่ฟ้องคดี

สังคมต้องร่วมกันกำหนด 'มาตรฐานขั้นต่ำ'

สิ่งสำคัญที่สุดของสังคมไทยในทัศนะของ ศ.ดร.วรเจตน์ คือการที่คนในสังคมต้องร่วมกันหามาตรฐานขั้นต่ำให้ได้ เช่น มาตรฐานขั้นต่ำว่าคนที่คิดเห็นแตกต่างกันจะต้องไม่ตกเป็นเป้าถูกทำร้ายหรือถูกละเมิดสิทธิ

"ถ้าคุณสามารถหัวเราะได้เมื่อเห็นฝ่ายที่คิดต่างถูกยิงเสียชีวิต ก็ถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานของสังคมที่มีอารยะไปมาก.. คนในสังคมต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้ แม้จะคิดเห็นแตกต่างกันก็ตาม"