ไม่พบผลการค้นหา
เวลาฟังเรื่องราวของคนที่รักข้างเดียว คอยแต่หวังดีกับอีกคน แม้รู้ว่าไม่มีวันได้ครอบครอง นี่มันช่างโรแมนติกอะไรเช่นนี้ ตั้งแต่เรื่องราวความรักของนักแต่งเพลงสุรพล โทณวณิกที่มีต่อนักร้องสวลี ผกาพันธุ์ ไปจนถึงความรักของเจย์ แกตสบีที่มีต่อเดซี บูแคแนน (The Great Gatsby) แต่ก็นั่นล่ะ การรักข้างเดียวเป็นเรื่องซึ้งเสมอ เมื่อเป็นเรื่องของคนอื่น...

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โลกออนไลน์ต่างซาบซึ้งกับข้อความที่สุรพล โทณวณิก นักแต่งเพลงชื่อดังได้เขียนไว้อาลัยสวลี ผกาพันธุ์ นักร้องชื่อดังที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา พร้อมลงท้ายว่า “จากคนที่เคยรักข้างเดียวเสมอมาจนถึงวันนี้” มันน่าประทับใจมากที่สุรพลหลงรักสวลีมาตั้งแต่ไปขายน้ำที่โรงเรียนของสวลี จนมาเป็นเด็กในคณะทัวร์ ซึ่งสวลีได้ช่วยเหลือซื้อข้าวซื้อน้ำให้ได้ยามอดอยาก จนตั้งใจว่าจะฝึกฝนการแต่งเพลงให้สวลีร้องให้ได้ จวบจนวันที่สวลีเสียชีวิตไปแล้ว ความรักที่สุรพลมีให้สวลีก็ยังคงอยู่

ฟังเรื่องนี้แล้วก็ทำให้ถึงเรื่องความสัมพันธ์ของโป๊ปจอห์น ปอลที่ 2 กับนางแอนนา-เทเรซา ทีมิเนียสกา นักปรัชญาชาวอเมริกันเชื้อสายโปแลนด์ ที่พบกัน เขียนจดหมายหากัน มอบของขวัญแทนใจกันตลอดเวลา 30 ปี ในขณะที่คนหนึ่งก็มีสามีแล้ว ส่วนอีกคนก็ต้องครองพรหมจรรย์ไปตลอดชีวิต นึกถึงวรรณกรรมคลาสสิกอย่าง The Great Gatsby ที่เจย์ แกตสบีที่หาทางทำให้ตัวเองร่ำรวย จัดงานเลี้ยงยิ่งใหญ่ทุกสัปดาห์ โดยหวังว่าจะได้พบกับเดซี บูแคแนน คนรักในวัยหนุ่มของเขาอีกครั้ง แม้สุดท้ายได้กลับมาเจอกันอีกครั้งแล้วจะไม่สมหวังก็ตาม หรือวรรณกรรมสมัยใหม่อย่างแฮร์รี พอตเตอร์ที่เซเวอรัส สเนป ผู้รักลิลลี แม่ของแฮร์รีอย่างสุดหัวใจ

การเป็นคนนอกฟังเรื่องราวการรักข้างเดียวแล้วก็ดูโรแมนติกดี แต่ถ้ามองในมุมของคนในนี่เป็นความสัมพันธ์ที่โหดร้ายกับจิตใจพอสมควร คนที่ถูกรักบางคน (อาจจะแค่บางคน) อาจรู้สึกผิดที่ได้รับความรักและสิ่งดีๆ มา แต่เขาไม่สามารถให้ความรักตอบไปได้ บางคนอาจรู้สึกอึดอัดรำคาญ ส่วนคนที่ไปรักเขาข้างเดียว (นก) ต่อให้ปากบอกว่าไม่หวังอะไร แต่ก็ต้องรู้สึกเจ็บปวด รู้สึกเศร้า รู้สึกผิดหวังอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แล้วทำไมคนถึงชอบฟังเรื่องราวการรักข้างเดียวอันยิ่งใหญ่?


เรื่องเศร้าเป็นการบำบัดจิตใจ

ในเชิงวรรณกรรม เรื่องเหล่านี้ก็คงจะตกไปอยู่ในประเภทโศกนาฏกรรม (Tragedy) ในสมัยกรีกโบราณจัดประเภทละครโศกนาฏกรรมไว้กว้างๆ ว่าเป็นเรื่องความทุกข์ทรมานของมนุษย์ ซึ่งไม่ได้จำกัดไว้แค่เรื่องความรัก แต่ยังรวมไปถึงอุปสรรคในชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย โดยอริสโตเติล นักปรัชญาคนสำคัญของยุคกรีกโบราณอธิบายว่า ละครโศกนาฏกรรมนั้นเป็นคาธาร์สิส (Catharsis) หรือการชำระล้างหรือการบำบัดทางอารมณ์ผ่านทางศิลปะ โดยเฉพาะอารมณ์สงสารและหวาดกลัว ทำให้มนุษย์มีศีลธรรมที่ดีหรือสูงส่งขึ้น คือเมื่อเราเห็นชีวิตของตัวละครในละครหรือวรรณกรรมหรือเรื่องเล่าต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรม ความโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง หรือแม้กระทั่งความตาย มันทำให้เราได้บำบัดความรู้สึกไม่ดีในชีวิตจริงของเราได้ ทำให้บางคนชอบดูหรืออ่านเรื่องโศกนาฏกรรมมากกว่าหัสนาฏกรรม (Comedy) ที่บอกเล่าเรื่องราวที่ตลกขบขัน (ซึ่งอริสโตเติลมองว่าหัสนาฏกรรมเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ตกต่ำลง)

สรุปคือ เวลาเราฟังเรื่องการเสียสละเพื่อความรักของใครสักคน มันทำให้เราฟิน มันบำบัดความรู้สึกเศร้าหมองของเรา เพราะเราได้เห็นคนที่เศร้าแทนเราไปแล้ว


ความรักและการผูกมัด

เอวา อีลูซ ได้อธิบายความรักในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจในหนังสือ Why Love Hurts: A Sociological Explanation (ทำไมความรักจึงเจ็บปวด: คำอธิบายทางสังคมวิทยา) เธออธิบายว่า ชีวิตสมัยใหม่ (นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1) ไม่ค่อยยึดติดกับศาสนามากเท่าแต่ก่อน ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคม อุดมการณ์และประสบการณ์ความรักของเรา

หลายทศวรรษที่ผ่านมา ยุโรปตะวันตกถูกปกครองด้วยอุดมการณ์เกี่ยวกับอัศวิน ความกล้าหาญและความโรแมนติก ผู้ชายจะเป็นอัศวินได้ก็ต้องทำหน้าที่ปกป้องผู้อ่อนแอ (ผู้หญิง) ด้วยความรักและความซื่อสัตย์ ศาสนาเป็นตัวกำหนดบทบาททางเพศ ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดลูก ผู้ชายเป็นผู้ปกป้องครอบครัว ความรักในยุคเก่าจึงเป็นเหมือนภาระผูกมัด

แต่หลังยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ความรักและเรื่องเพศไม่ได้ผูกอยู่กับศีลธรรมแล้ว ความรักจึงกลายมาเป็นความอิสระเสรี ส่งผลให้เรื่องราวความรักจึงมักถูกบอกเล่าออกมาราวกับเป็นวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ คนยุคใหม่จำนวนมากบูชาความรักเหนือศาสนา เมื่อความรักโรแมนติกได้กลายเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ การแต่งงานเพื่อความสะดวกสบายหรือผลประโยชน์จึงค่อยๆ หายไป ความเป็นปัจเจกบุคคล การกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง เสรีภาพขึ้นมีอิทธิพลต่อความรัก หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เรามองว่าการเลือกคนรักของเราเองด้วยความชอบพอส่วนตัวเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้น (ไม่ต้องอธิบายต่อใช่ไหมว่ายุโรปได้แผ่อิทธิพลไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก และโลกาภิวัฒน์ก็ทำให้เราได้รับอิทธิพลทางความคิดจากตะวันตกด้วย)

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ในสมัยใหม่ก็ยังไม่ละทิ้งวัฒนธรรมเดิมๆ อย่างการแต่งงานเอาไว้ ซึ่งการนำอุดมการณ์รักโรแมนติกมารวมกับอุดมการณ์เรื่องสถาบันการแต่งงาน จึงทำให้เกิดความย้อนแย้งทางอุดมการณ์ คู่รักต้องบริหารจัดการทั้งเรื่องความซื่อสัตย์ต่อกัน การใช้ชีวิตร่วมกัน และการดึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจมาใช้ร่วมกันก็ทำให้คู่รักสมัยใหม่ต้องใช้ความพยายามสูงมากในการประคับประคองความรักโรแมนติกและชีวิตแต่งงาน ที่มีปัจจัยด้านอื่นๆ มาเกี่ยวข้องด้วย

จากทฤษฎีของอีลูซ อาจทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความรักอันเกิดจากการรักข้างเดียวเป็นสิ่งที่หลายคนชื่นชม เพราะมันคือความรักโรแมนติกแบบเพียวๆ ที่ไม่ผสมภาระรับผิดชอบใดๆ เราสามารถฟินกับความรักโรแมนติกของคนที่รักข้างเดียวได้อย่างเต็มที่ เพราะความรักของเราจะไม่ถูกเรื่องเงิน เรื่องมือที่สาม ทัศนคติเข้ากันไม่ได้มาทำลายบรรยากาศ การรักข้างเดียวมันจึงดูเข้มข้น ดูเป็นอมตะสำหรับคนนอกที่มองเข้าไป ดูตรงตามอุดมคติของความรักสมัยใหม่มากที่สุด


ทำไมบางคนเลือกจะรักข้างเดียว?

ถ้าการคอยเอากับข้าวไปแขวนหน้าบ้านเขาทุกวันทำให้เราเสียเงินเสียทองโดยใช่เหตุ ถ้าการกรอกน้ำใส่ขวดวางไว้ที่โต๊ะทำงานเขาทุกวันทำให้เราดูต่ำต้อย ถ้าการบอกรักเขาทุกครั้งทำให้เราดูเป็นคนโง่ ถ้าการเด็ดดอกไม้ไปวางที่โต๊ะทุกวันที่ดอกไม้บาน ทำให้เราดูเป็นคนบ้า ถ้าการเห็นเขามีความสุขได้โดยไม่มีเราอยู่ข้างๆ ทำให้เราเหมือนต้องบำเพ็ญทุกรกิริยาเจ็บปวดเจียนตาย ทำไมต้องทรมานตัวเอง ทำไมไมเดินออกมา ทำไมไม่หาคนใหม่ จะบำเพ็ญเพียรเพื่อไปเกิดเป็นนกฟินิกซ์หรืออย่างไร?

แต่ละคนก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไปแหละ เราจะไม่คาดเดาว่าอย่างเคสลุงสุรพลนี่เขาทำไปทำไม และคิดว่าไม่ควรจะไปตั้งคำถามกับความรักของใคร เพราะบางครั้งมันอาจจะไม่มีเหตุผลอะไรเลยก็ได้ แต่นอกจากทฤษฎีว่าด้วยการบูชาความรักเป็นสิ่งบริสุทธิ์เหนือความต้องการครอบครอง การครองพรหมจรรย์ไว้เพื่อความรักราวกับมันเป็นศาสนาแล้ว จะขอเสนอทฤษฎีไว้สักเล็กน้อย

ในทางหนึ่งการรักข้างเดียวมันก็เป็นการรักอย่างปลอดภัย คือมันเป็นความรักที่จะไม่ผิดหวัง อย่าเพิ่งงง การรักข้างเดียวมันไม่สมหวัง แต่มันไม่ได้ผิดหวัง สำหรับคนที่รู้อยู่แล้วว่าอีกคนไม่รับตอบกลับมา เขาได้คาดไว้หมดแล้วว่าเขาจะไม่ได้ความรักตอบกลับมา ถ้าบังเอิญว่าเขารักตอบก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าไม่รักตอบก็ไม่ได้ผิดคาดอะไร แต่หากหันไปชอบคนอื่นแล้วไม่สมหวังอีก หรือคบไปแล้วต้องวุ่นวาย ต้องเลิกรา มันเป็นเรื่องคาดเดาไม่และจะทำให้เราผิดหวังในที่สุด ดังนั้น ถ้ารักคนนี้ต่อไปก็ไม่ได้และไม่เสียอะไร

เหตุผลที่คนเลือกจะรักข้างเดียว เงียบๆ หรือรักแบบที่ไม่ทำอะไรที่ยิ่งใหญ่จนเกินไป และไม่เรียกร้องอะไรตอบแทนจากอีกคน อาจเป็นเพราะการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงจะทำให้คาดเดาไม่ได้ แล้วหลายคนก็มักจะคิดว่า ก็ไม่ได้ไปรบกวนอะไรอีกคน ก็ไม่ต้องทำตัวเหินห่างได้ไหม ยึดหลักแบบโยฮัน วูฟกัง เกอเธอ กวีชื่อดังชาวเยอรมันที่เขียนท่อนหนึ่งของนวนิยาย Wilhelm Meister's Apprenticeship ว่า “ถ้าฉันรักเธอแล้ว มันเรื่องอะไรของเธอ?” คือฉันรักของฉันคนเดียว ฉันจะจัดการกับความรักของฉันยังไงมันก็เรื่องของฉัน (ตราบใดที่ไม่ได้ทำเธอเดือดร้อน) ไม่ต้องมาห้าม มาทำอะไรเพื่อ “ช่วย” ให้ตัดใจ เพราะฉันอาจจะไม่ต้องการความช่วยเหลือนั้น


รักคน/สิ่งของ/ตัวละครอยู่ข้างเดียว

การรักเพื่อนหรือคนรู้จักแบบรักข้างเดียว จริงๆ มันก็คล้ายกับความรักที่เรามีให้กับดาราที่เราชอบ เราซื้อของไปให้เขา หาเวลาไปเจอเขา ติดตามผลงานเขา บางทีก็ปวดใจที่เห็นเขาแต่งงาน แต่ขณะเดียวกันก็ยินดีที่เขามีความสุขกับครอบครัวของเขา คนที่ถูกรักก็ยินดีและรู้สึกขอบคุณนะที่มีคนมารัก ก็รักษาความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้ แค่เว้นระยะห่างไว้เท่านั้นเอง

ในยุคสมัยนี้เราจะเห็นการรักข้างเดียวมากมายหลากหลายขึ้น ไม่ใช่แค่รักเพื่อน คนรู้จัก หรือดารา แต่การรักสิ่งของหรือตัวละครในซีรีส์หรือการ์ตูนก็ถือเป็นการรักข้างเดียวเหมือนกัน เคยมีข่าวคนแต่งงานกับหอไอเฟล มีคนบอกว่าคบกับกำแพงเบอร์ลินมาเป็น 20 ปีแล้ว มีคนแต่งงานกับสแตนดี้ตัวละครอนิเมะ พวกเขาคอยทุ่มเทความรู้สึก คอยดูแลสิ่งที่จะไม่มีวันมอบความรักกลับคืนมาให้พวกเขา แต่คนเหล่านี้ก็เหมือนกัน พวกเขามีความสุข


เพราะการรักข้างเดียวไม่มีวันผิดหวัง...


อ้างอิง:

BBC - Pope John Paul letters reveal 'intense' friendship with woman

Brainpick - Why Love Hurts: The Sociology of How Our Institutions Rather Than Our Personal Psychological Failings Shape the Romantic Agony of Modern Life