ไม่พบผลการค้นหา
คุยกับสองสาวจากแอปฯ หาคู่ เมื่อคนหนึ่งได้คู่นอน แต่อีกคนได้เพื่อน ได้งาน ได้สามีจากแอปฯ เดียวกัน ขณะที่คนโสดชาวเอเชีย 46 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่เชื่อว่าความสัมพันธ์ที่จริงจังจะมาจากแอปฯ หาคู่ออนไลน์

ทัศนคติของคนโสดที่มีต่อการหาคู่ออนไลน์ยังคงเป็นไปในแง่ลบ เมื่อผลการวิจัยคนโสดในเอเชียปี 2561 โดย มีทเอ็นลันช์ (MeetNLunch) บริษัทจัดหาคู่ชั้นนำสำรวจคนโสดกว่า 1,300 คน จากประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และไทย ในช่วงอายุระหว่าง 26 ถึง 45 ปี พบว่า 74 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าการหาคู่ออนไลน์เป็นสาเหตุของวัฒนธรรมการนัดหมายเพื่อมีเพศสัมพันธ์ (hook up) และ 46 เปอร์เซ็นต์ เชื่อว่าการหาคู่ออนไลน์ ไม่สามารถนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนได้ ถึงอย่างนั้น 95 เปอร์เซ็นต์ของคนโสดยังคงต้องการความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตามในแบบสำรวจเดียวกันนี้ชี้ว่า 62 เปอร์เซ็นต์ของคนโสดชาวไทยใช้แอปฯ ออนไลน์เพื่อหาความสัมพันธ์ที่จริงจัง ทีม Voice On Being จึง ชวนสองสาวผู้ใช้ทินเดอร์ (Tinder) แอปฯ นัดเดตที่เป็นที่นิยมสำหรับคนเมืองคุยถึงประสบการณ์ที่แตกต่างจากการใช้แอปฯ นี้

เมื่อคนหนึ่งยืนยันว่าใช้ทินเดอร์เพื่อหาเพื่อนร่วมรัก (fwb - friends with benefits) ขณะที่อีกคนกลับได้แฟนที่กำลังจะเข้าสู่ประตูวิวาห์ด้วยกัน


“จริงๆ ก็อยากมีแฟนมากกว่า แต่มันก็หายากไปปะ”

เมย์ (นามสมมติ) นักศึกษาสาววัย 18 ปี ผู้ใช้ทินเดอร์หา fwb มองว่าแอปฯ ลักษณะนี้ก็อาจจะทำให้คนนัดมีเพศสัมพันธ์ง่ายขึ้นจริงๆ เพราะผู้ชายมีผู้หญิงจำนวนมากมาให้เลือกในแอปฯ

เมย์เล่าว่าในทีแรกเธอโหลดทินเดอร์มาเพื่อหาแฟน และเคยมีแฟนเพราะทินเดอร์ครั้งหนึ่งก่อนจะเลิกกันไป เธอรู้สึกว่าการหาคู่ผ่านแอปฯ นั้นหาไม่ได้จริง แม้จะแอดไลน์เพื่อพูดคุยกันต่อแล้วก็ตาม เพราะหลายๆ ครั้ง คนที่คุยกันอยู่ อยู่มาวันหนึ่งก็เงียบหายไปเสียเฉยๆ

“พอเราหาแฟนในทินเดอร์ ก็คุยกับคนนั้นอยู่ดีๆ ก็หายไปอะ แล้วพอเราหาคนคุยใหม่ก็คุยกันอยู่ดีๆ ก็หายไป มันเป็นอย่างนี้บ่อยมาก เราก็ไม่เข้าใจว่าเราผิดอะไร แล้วก็กลัวการเริ่มต้นใหม่ด้วย ไม่ชอบมากๆ การเริ่มต้นใหม่เนี่ย

“ตอนแรกเราก็หาแฟน แต่ก็รู้สึกว่าแฟนมันหายากไป แล้วก็ได้ยินเพื่อนมันพูดมาว่า แอปฯ นี้เป็นแอปฯ นัดมีอะไรกัน ก็เลยลองมาคิดๆ ดู ก็คิดว่า เฮ้ย มันก็จริงว่ะ ก็เลยหา fwb ถ้าหาคนคุยเฉยๆ แล้วจะคุยทำไมอะ”

การเลือกคนที่ถูกใจในทินเดอร์ของเมย์นั้น ดูจากรูปถ่ายเป็นหลัก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเขียนข้อมูลตัวเองในแอปฯ โดยเธอไม่ได้เลือกจากความหน้าตาดี แต่เลือกจากรสนิยมส่วนตัว เช่น เธอไม่สนใจฝรั่งแต่ชอบผู้ชายใส่แว่น และอาจนำชื่อในทินเดอร์ไปค้นหาในเฟซบุ๊กเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม

โดยส่วนตัวแล้วเมย์มองว่าผู้ชายในทินเดอร์ราว 70 เปอร์เซ็นต์ไม่จริงใจ แต่เธอก็ไม่ได้คิดว่าทินเดอร์มีไว้หาคู่นอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

“เพื่อนในกลุ่มก็มีคนเล่นอยู่ แต่อาจจะหาแฟน ไม่ได้หา fwb แต่ดูจากที่มันเล่นแล้ว หาแฟนส่วนใหญ่ก็คือโดนผู้ชายเท ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นพวกมีแฟนแล้ว แล้วแอบแฟนมาเล่น เราอยากไปฟ้องแฟนมันมากๆ”

เมย์เปิดใจว่าจริงๆ แล้วเธอก็อยากมีคนให้ความสำคัญ แต่หากมีแฟนแล้ว แฟนก็อาจจะให้ในสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ขณะที่ถ้าเป็น fwb เธอไม่ได้คาดหวังอะไรอยู่แล้ว แต่ละคนก็นิสัยไม่เหมือนกัน รู้สึกว่าแก้เบื่อ แก้เหงาได้ และยั่งยืนกว่า one night stand (การนัดมีเพศสัมพันธ์กันครั้งเดียวโดยไม่ผูกมัด) แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นแฟนกัน

เมื่อถามถึงทัศนคติที่มีต่อแอปฯ หาคู่อย่างทินเดอร์ เธอเล่าว่าการเล่นทินเดอร์ไม่ใช่เรื่องน่าอาย ไม่ได้ปกปิด เพื่อนทุกคนก็รู้ แค่ไม่อยากให้พ่อแม่รู้ หากมีแฟนจากทินเดอร์ก็ไม่อายที่จะให้คนอื่นรู้ แต่สำหรับเรื่อง fwb เธอเล่าให้เพื่อนสนิทฟังเท่านั้น เพราะในไทยไม่เป็นที่ยอมรับ

“ก็เคยคิดนะว่า fwb มันอาจจะพัฒนาความสัมพันธ์ได้ แต่มันก็ไม่ได้อยู่ดี เพราะว่าเราเข้ามาในสถานะนี้มันก็จะยาก อย่างเช่นเราอาจชอบเขา แต่เขาอาจจะคิดกับเราแค่นั้น บางคนว้าวมากๆ แต่ว่าเราเข้ามาในสถานะนี้ เคยมีแต่แบบตอนแรกเหมือนจะจริงจัง แล้วพักหลังก็ไม่แล้ว เหมือนเจอคนที่ชอบกว่า”

ถึงอย่างนั้นเธอก็ยังคาดหวังว่าจะมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง เธอเล่าว่าตอนที่เธอมีแฟน เธอก็ลบแอปฯ ทินเดอร์ไป เมื่อเลิกกันแล้วจึงกลับมาโหลดแอปฯ ใหม่ และยังไม่เบื่อหรือคิดจะเลิกเล่นเร็วๆ นี้

“จะเลิกเล่นทำไมอะ ในเมื่อยังไม่มีใครที่จริงจัง” เธอทิ้งท้าย


ได้เพื่อน ได้งาน ได้แต่งงาน

ขณะที่เมย์มองว่าความสัมพันธ์จากแอปฯ หาคู่ยากจะยั่งยืน จุฑามาศ ชัยวงศ์ (แพร) โปรแกรมเมอร์สาววัย 26 ปี กำลังจะแต่งงานกับคนรักที่พบกันผ่านทินเดอร์

แพรเล่าว่าเดิมทีเธอใช้แอปฯ นี้เพื่อหาเพื่อน โดยเหตุเกิดจากความเบื่อ แต่เธอมีวิธีการคัดกรองคนในแบบของเธอเพื่อหาเพื่อนที่มีความสนใจร่วมกัน ผิดจากภาพของการใช้แอปฯ เพื่อหาคู่นอนแบบที่คนส่วนใหญ่ตั้งแง่

“ช่วงนั้นเราเบื่อๆ ก็อยากหาคนที่ไปงานดนตรี หรืออ่านหนังสือแนวเดียวกันแค่นี้ ไม่ได้คิดจะหาอะไรเลย แล้วคนที่แมตช์ก็จะเป็นแนวอ่านหนังสือเหมือนกัน ก็เจอหลายๆ คนที่แมตช์กันแล้วแลกหนังสืออ่าน เจอกันตัวเป็นๆ แล้วแลกหนังสืออ่าน ไปดูวงดนตรีด้วยกัน โดยไม่มีอะไรกันเลย เป็นเพื่อนกันจริงๆ

"เราไม่ได้อินกับความรักมากเกินไป ส่วนใหญ่เราก็รักตัวเองมากที่สุดนั่นแหละ"

การหาเพื่อนในแอปฯ ทินเดอร์ทำให้แพรได้พบกับคนหลากหลายรูปแบบจากสายงานต่างๆ แบบที่ไม่น่าจะได้ทำความรู้จักกันในชีวิตจริง

“เราไม่ค่อยเจอคนไม่ดี เคยเจอบางคน แมตช์กับเราปุ๊บมาจ้างเราเขียนโปรแกรม เฮ้ย เธอเขียนโปรแกรมเหรอ เธอทำเว็บหรือเปล่าเนี่ย เราจ้างนะ เจอนักเขียนยังไม่ได้ตีพิมพ์ก็เอางานมาให้เราอ่านก่อนก็มี คนเขียนบทความ สารคดีอะไรพวกนี้ ก็ได้เจอเพื่อนหลายๆ แบบ เหมือนพอเราคุยแล้วเราจะรู้ว่าคนนี้มาแบบไหน มาแบบเป็นเพื่อน หรือมาแบบคิดเรื่องแฟน เราก็เลยเลือกคุย”

แม้ว่าจะเล่นทินเดอร์เพียงสามครั้งคือครั้งแรกในปี 2558 ตามด้วยปี 2560 และปี 2561 โดยแต่ละครั้งเธอใช้เวลาเล่นเพียงไม่ถึงสัปดาห์ แต่เธอกลับได้คู่แมตช์ที่มีคุณภาพตามต้องการ เธอเล่าว่า เลือกให้ความสนใจกับการอ่านข้อมูลที่อีกฝ่ายระบุไว้ว่าสนใจเรื่องใดตรงกันบ้าง และเพื่อนที่มีร่วมกันเป็นเพื่อนกลุ่มไหน

"ถ้าเพื่อนร่วมกันในมหาลัยเยอะก็ไม่เอา ถ้าเพื่อนฟังดนตรีร่วมกัน ก็โอเค ต้องดูว่าเพื่อนที่มีร่วมกันเยอะๆ เป็นเพื่อนประเภทไหน ถ้าคนจากมหาลัยเขาอาจจะเป็นแฟนกับเพื่อนเรา น้องเรามาก่อน เพื่อนที่สายดนตรีเยอะๆ ก็อาจจะไปงานดนตรีด้วยกันได้ มันแล้วแต่คนว่าดูยังไง บางคนก็ดูรูปแล้วค่อยแมตช์ แต่เราชอบอ่านประวัติ เพราะเราก็อยากรู้จักเขาแบบ มึงเป็นคนยังไงวะ บางทีแค่รูปมันก็ไม่พอ รูปมันอาจจะดูดี พออ่านแล้ว ไม่ใช่ว่ะ คงเข้ากันไมได้ มันก็กรองได้เยอะ"

คู่แมตช์ของเธอจึงมักเป็นคนชอบอ่านหนังสือหรือชอบฟังเพลงแนวเดียวกัน สำหรับแฟนคนปัจจุบันที่กำลังจะกลายมาเป็นสามีของเธอเร็วๆ นี้นั้น แพรเล่าว่าแรกเริ่มเธอก็คบกับเขาเป็นเพื่อนเช่นกัน แต่เผอิญคุยถูกคอ และความชอบเข้ากันได้ดี มีโอกาสพัฒนาความสัมพันธ์จึงลองเริ่มคบกันดู

"เจอกันตอนแรกก็คือเป็นเพื่อนกันนี่แหละ เล่นทินเดอร์ เราเลิกกับแฟน มันก็เพิ่งเลิกกับแฟนประมาณอาทิตย์หนึ่งเหมือนกัน เลยมาคุยปรึกษากัน ชวนไปคอนเสิร์ตแล้วมันก็ไป ก็ไปเจอกัน ก็คุยกันแล้วเป็นแฟนกัน แล้วคุยกันแบบมึง-กูด้วยนะ ไม่ได้คุยแบบ ตัวเอง-เธอ

"ทีนี้พอเราเจอกันบ่อยๆ ก็ได้คุยกันเยอะขึ้นก็พูดเล่นๆ ว่าลองคบกันดีปะวะ แล้วพอคบไปเรารู้สึกว่ามันก็โอเค มันเหมือนเราเป็นทั้งเพื่อนทั้งแฟนด้วย ก็เลยคบกันไปเลย คนอื่นเป็นเพื่อนหมดเลยนะเว้ย แต่คนนี้คุยถูกคอสุดแล้ว"

ในส่วนของค่านิยมในปัจจุบันที่ยังมองว่าคนในแอปฯ หาคู่นั้นไม่จริงจังกับความสัมพันธ์ แพรไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้นัก และหากมีคนถามก็ไม่ได้จำเป็นต้องปิดบังว่าพบกันจากแอปฯ หาคู่อย่างทินเดอร์

“มันแล้วแต่คนด้วยแหละเราว่า อย่างของเราพอคนนี้รู้สึกโอเคที่สุดแล้ว เราก็ไม่คุยกับใครอีกเลย แต่เราไม่ได้ไปบอกเขานะว่าต้องลบทินเดอร์ เราก็ลบไปเ��ง เดี๋ยวสักพักเขาก็ลบไปเอง”


แอปฯ เดียวกัน กับวิธีใช้งาน และผลลัพธ์ที่แตกต่าง

เมื่อนึกย้อนถึงเรื่องราวของทั้งสองสาวแล้วก็จะเห็นว่าด้วยแอปฯ เดียวกันนั้น การใช้งานและผู้คนที่พบเจอแตกต่างกันไป ตั้งแต่เจตนาตั้งต้นว่าต้องการหาเพื่อนหรือหาคู่นอน นอกจากนี้ที่สำคัญเลยคือแพรเลือกจะคัดกรองคนด้วยการคำนึงถึงความสนใจที่มีร่วมกันมากกว่ารูปถ่าย แต่เราก็สามารถเข้าใจเหตุผลที่เมย์ตัดสินคนจากรูปภาพเป็นหลักได้ เพราะตามผลสำรวจของมีทเอ็นลันช์นั้นก็ชี้ว่าในหมู่คนโสดชาวไทย มีผู้ชาย 17 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิง 13 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นที่ใส่ใจกับการกรอกรายละเอียดข้อมูลโปรไฟล์ในแอปฯ ให้ดูดี ทั้งที่ ผู้ชาย 70 เปอร์เซ็นต์ และผู้หญิง 61 เปอร์เซ็นต์ อ่านโปรไฟล์ของอีกฝ่ายอย่างละเอียด

เมื่อเราได้ถามถึงความเห็นของเมย์ผู้เล่นทินเดอร์เพื่อหา fwb ว่าเธอคิดอย่างไรกับคนที่ได้แต่งงานกับผู้ชายจากทินเดอร์เธอตอบเพียงว่า

“ก็ยินดีด้วย ก็อยากเจอแบบนั้นบ้าง แต่คงจะยากสำหรับเรา”

On Being
198Article
0Video
0Blog