ไม่พบผลการค้นหา
FTA Watch จัดแถลงข่าว "สารถึงหัวหน้า คสช.ก่อนเยือนญี่ปุ่น: 10 ปีบทเรียน JTEPA สู่ความตกลง CPTPP" ตามที่พลเอกประยุทธ์ เตรียมเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น 8-10 ต.ค.นี้

"ไทย = ถังขยะโลก ผลพวง JTEPA"

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และภาคีเครือข่าย จัดแถลงข่าว "สารถึงหัวหน้า คสช.ก่อนเยือนญี่ปุ่น: 10 ปีบทเรียน JTEPA สู่ความตกลง CPTPP" ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เตรียมเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 8-10 ต.ค.ที่จะถึง โดยการเยือนครั้งนี้ เป็นการขอให้ประเทศญี่ปุ่นช่วยไทย ได้เข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) 

โดยนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงประเด็น "ไทยถังขยะโลก-ผลพวง JTEPA" ว่า ทาง FTA Watch ได้ติดตามการตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจมาตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา เนื่องจากภายใต้ข้อตกลงที่มีขยะเป็นสินค้า อาทิ ขี้แร่ ขี้เถ้า เศษน้ำมัน และจำพวกขี้เถ้าที่มีโลหะหนัก รวมถึงพวกกากของเสีย ที่เป็นผลิตภัณฑ์เหลือจากอุตสาหกรรมเคมีหรือจากอุตสาหกรรม และตะกอนจากของเสีย ที่มีสารอันตรายเป็นส่วนผสม ล้วนเป็นสินค้าที่ถูกระบุในข้อตกลง 

ส่วนการค้าเสรีและการค้าขยะเสรีนั้น ต่างมีผลประโยชน์ทั้งสิ้นที่ผ่านกลไก โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่ประกาศชัดว่าให้หลีกเลี่ยงการใช้คำว่าเขตการค้าเสรี หรือ FTA เนื่องจากมีการต่อต้านในเกือบทุกประเทศ จึงเลี่ยงมาใช้คำว่า 'หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ' ซึ่งกลไกการค้าเสรีถือเป็นกลไกการค้าโลกที่ผลักดันโดยประเทศอุตสาหกรรม เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้

ยกตัวอย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีขยะเฉลี่ย 400 ล้านตันต่อปี จึงใช้กลไกการค้าเสรี เพื่อเลี่ยงข้อห้ามของอนุสัญญาบาเซลฯ ที่ค่าใช้จ่ายสูงและขั้นตอนต่างๆ ที่ใช้เวลานาน เพื่อแก้ปัญหาขยะล้นประเทศ ขณะเดียวกันยังใช้ช่องทางในการยกเลิกภาษีศุลกากร เพื่อลดการตรวจสอบ ขณะนี้ตรวจแค่ร้อยละ 10 ส่งออกตรวจได้ร้อยละ 20

อย่างไรก็ตาม ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ 4/2559 ได้เปิดช่องให้โรงงานไปตั้งในพื้นที่ต่างๆ และมีคำสั่งลดขั้นตอนการขออนุญาต ทั้งยังมีกฎหมายอำนวยความสะดวก ซึ่งเป็นกฎหมายที่นายทุนนำมาข่มขู่เจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบ ขณะที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้ประกาศลดหย่อน ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นบริษัทกำจัดขยะนานาชาติ

โดยทาง FTA Watch ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาขยะจากต่างประเทศ 1. ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจการบางประเภท 2. สอบสวนความถูกต้องและความเหมาะสมของใบอนุญาตการประกอบกิจการโรงงาน 3. ตรวจสอบความสามารถและศักยภาพของโรงงานเกี่ยวกับการกำจัดและรีไซเคิลของเสียทั่วประเทศ และ 4. เปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ อาทิ ข้อมูลบริษัทนำเข้า-ส่งออกของเสีย 

"CPTPP แก้กฎหมายพันธุ์พืชเพื่อยึดกุมทรัพยากรชีวภาพ"

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวในประเด็น "CPTPP แก้กฎหมายพันธุ์พืชเพื่อยึดกุมทรัพยากรชีวภาพ" โดยการตกลง CPTPP ระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นข้อตกลงด้านทรัพยากร ซึ่งเริ่มตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เจรจาทำความตกลง JTEPA แต่รัฐบาล คมช.จากการรัฐประหารปี 2549 ก็ลงนาม สนช. ทั้งสภามีคนได้รับความตกลงไปอ่านแค่ 21 คน จากเอกสารกว่า 1,000 หน้า 

รายละเอียดคำสัญญาของคณะเจรจา อาทิ ภาคเกษตรจะได้ประโยชน์ เพราะมีการลดภาษีถึงร้อยละ 80 ยกเว้นเรื่องข้าวที่ญี่ปุ่น รวมถึงคนไทยมากกว่า 135 อาชีพ สามารถไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตามปรากฎว่าปริมาณนำเข้ากล้วยหอมของประเทศญี่ปุ่น กลับนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ปริมาณนำเข้ากล้วยหอมจากประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงทุกปี 

ส่วนการแก้ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธ์ุพืช ได้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกร อาทิ เอื้อประโยชน์เมล็ดพันธุ์ สามารถหยิบฉวยพันธุ์พืชท้องถิ่นไปคัดเลือกแล้วขึ้นทะเบียนเป็นของตน ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น เมล็ดพันธุ์มีราคาแพงขึ้น และมีผลกระทบจากการถูกกีดกันการพัฒนาสมัยใหม่ที่มาจากสมุนไพร ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพในการพัฒนายาเพื่อทดแทนการนำเข้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 59,798 ล้านบาท/ปี ซึ่งรวมมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจ ประมาณ 122,717-223,116 ล้านบาทต่อปี

ด้านนางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch กล่าวปิดท้ายการแถลงข่าวว่า หวังว่าพลเอกประยุทธ์ และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล จะไม่ใช้นโยบายหาเสียงในระยะสั้น เพราะเพียงแค่ 11 ปีของข้อตกลงทางการค้า สะท้อนว่าอดีตรัฐบาล คมช.ไม่มีความกล้าหาญพอที่จะปฏิเสธเรื่องนี้ ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยกลายเป็นถังขยะโลก ขณะเดียวกัน ในช่วงเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง อยากเห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะมีกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ