ไม่พบผลการค้นหา
สมาคมประมงจังหวัดพังงา หารือสมาชิก เจ้าของเรือประมง แพปลา แม่ค้าและผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สรุป 8 มติที่ประชุมพร้อมยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี 9 โมงเช้า วันที่ 1 ส.ค. เดินเกมร่วมสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมประมง 22 จังหวัดชายทะเล ล่า 10,000 รายชื่อเสนอยกร่างกฎหมายประมงฉบับชาวประมง

นายบุญชู แพใหญ่ นายกสมาคมประมงจังหวัดพังงา พร้อมด้วย สมาชิกสมาคมเรือประมง เจ้าของเรือประมง แพปลา แม่ค้ารับซื้อปลาและผู้ประกอบธุรกิจประมง และประมงพื้นบ้าน ในพื้นที่ จ.พังงา เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 29 ก.ค. ที่ผ่านมา เพื่อหามติสรุปผลการยื่นหนังสือให้แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ที่ศาลาหมู่บ้านทับละมุ ต.ลำแก่น อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา

โดยชาวประมง จ.พังงาเตรียมรวมตัวเพื่อไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านผู้ว่าฯ พังงา เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง และขอคำตอบภายใน 7 วัน หากไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหา ชาวประมงทั่วประเทศ รวมทั้งสมาชิกสมาคมประมงทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะพร้อมใจกันจอดเรือหยุดทำการประมงประท้วงรัฐบาล และจะเดินทางไปยื่นถวายฎีกาต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ด้วย

สำหรับข้อเรียกร้องของชาวประมงที่จะให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไข มีดังนี้

1) ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขอให้ใช้ มาตรา 83 พ.ร.ก.ประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ช่วยให้ภาคการประมงประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยขอให้เปิดให้คนต่างด้าวที่อยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างผิดกฎหมายและเปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำบัตรซีบุ๊กได้ เพื่อให้คนเหล่านี้สามารถทำงานในเรือประมง ซึ่งมีความต้องการแรงงาน จำนวน 50,000 คน และให้มีมาตรการเปิดใช้ตลอดระยะเวลา 2 ปี 

2) การซื้อเรือคืน ขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งดำเนินการเรื่องการซื้อเรือคืนโดยเร็วที่สุด 

3) เรื่องปัญหาของกฎและระเบียบต่าง ๆ ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ที่ออกมาบังคับใช้กับผู้ประกอบการเรือประมงในช่วงระยะหลัง ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพฯ ทำให้เกิดปัญหา อีกทั้งยังเป็นกฎที่ออกมาเกินข้อกำหนดของอนุสัญญาต่าง ๆ 

4) ขอให้กรมเจ้าท่าเร่งรัดการแก้ไข ปรับปรุง กฎข้อบังคับการตรวจเรือที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นไปหลายเดือนแล้ว 

5) ขอให้กรมประมงแก้ไขปัญหากฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ของกรมประมงที่เป็นปัญหาต่อการปฏิบัติงานของชาวประมงในหลาย ๆ ฉบับ

6) ขอให้ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง หรือ Port In – Port Out (PIPO) แก้ไขปัญหาในการแจ้งเข้า – ออก เนื่องจากแต่ละหน่วยและเจ้าหน้าที่แต่ละศูนย์ปฏิบัติไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน แม้จะมีการร่วมกันจัดทำคู่มือแนวการปฏิบัติแล้วก็ตาม

7) ขอให้แก้ปัญหาค่าบริการรายเดือนของอุปกรณ์ที่ใช้ในระบบติดตามเรือ หรือ Vessel Monitoring System (VMS) ซึ่งชาวประมงต้องรับภาระในช่วงที่เรือจอด

8) สมาชิกชาวประมงทั่วประเทศ มีมติคัดค้านการที่รัฐบาลจะไปให้สัตยาบันเพื่อรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 (C.188) ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ. 2007

ทั้งนี้ สมาคมประมงทั่วประเทศทั้ง 22 จังหวัดชายทะเล จะมีหนังสือคัดค้าน และนำไปยื่นที่ทำเนียบรัฐบาลพร้อมกันใน 1 ส.ค. 2561 เวลา 09.00 น.

อีกทั้งยังมีมติให้ยกร่างกฎหมายประมงฉบับชาวประมง และสมาคมเรือประมง จ.พังงา ยังเชิญชวนชาวประมงและผู้เกี่ยวข้องใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนรวมตัวกันล่ารายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :