ไม่พบผลการค้นหา
สื่อต่างประเทศรายงาน ไทยเปิดพิพิธภัณฑ์ในค่ายทหารที่ จ.อุดรฯ ซึ่งถูกสงสัยว่าเป็น 'คุกลับ' ที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ ใช้ทรมานนักโทษคดีก่อการร้ายหลังเหตุการณ์ 11 ก.ย.2544 พร้อมระบุ เว็บไซต์ด้านการท่องเที่ยวไทยเล่าประวัติค่ายรามสูรพาดพิง 'เมียเช่า' และ 'ลูกผสม' ด้วย

เว็บไซต์สปุตนิกนิวส์ สื่อของรัสเซีย รายงานว่าหน่วยงานไทยเปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ 'ค่ายรามสูร' ในจังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ประชาชนที่สนใจเข้าชมประวัติศาสตร์ด้านการทหารและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่วมกันต่อสู้ในสงครามเวียดนาม ทั้งยังเป็นการเปิดเผยให้เกิดความกระจ่างว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยถูกใช้เป็นคุกลับของสำนักข่าวกรองกลาง (CIA) ของสหรัฐฯ สมัยทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

สื่อรัสเซียรายงานอ้างอิงข้อมูลของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ของไทย ระบุว่าการบูรณะค่ายรามสูรเพื่อทำเป็นพิพิธภัณฑ์ใช้งบประมาณราว 800,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หลังจากที่ค่ายดังกล่าวถูกทิ้งร้าง แม้ว่าครั้งหนึ่งจะเคยถูกใช้เป็นศูนย์วิทยุของกองทัพอเมริกันช่วงสงครามเวียดนาม

ก่อนหน้านี้ สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่าค่ายดังกล่าวอาจถูกซีไอเอใช้เป็นที่คุมขังและสอบสวนผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุวินาศกรรม 11 ก.ย.2544 ในสหรัฐฯ ทั้งยังมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ใช้วิธีซ้อมทรมานและละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้ที่ถูกคุมขัง 

ซีไอเอของสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีการตั้งคุกลับขึ้นในต่างประเทศช่วงที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามต่อต้านก่อการร้ายจริง และเรื่องดังกล่าวได้รับการยืนยันจากซีไอเออีกครั้งในปีนี้ หลังจากที่ 'จีนา แฮสเปล' อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซีไอเอที่เคยรับผิดชอบดูแลคุกลับในประเทศไทย ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้อำนวยการซีไอเอโดยนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน

https://thailandtourismdirectory.go.th/en/file/get/type/thumbnail/size/1000/file/20171228e0a6d7a0a0d34ad0bd3ed3fdd2660ed4153041.jpg

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยทุกสมัยตั้งแต่ยุค 2544 เป็นต้นมา ต่างก็ปฏิเสธว่าไม่เคยให้ซีไอเอสหรัฐฯ เข้ามาใช้พื้นที่ค่ายทหารเป็นคุกลับ และการเปิดพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูรจะช่วยให้สาธารณชนได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่โดยรอบได้ด้วยตัวเอง และทางการไทยยืนยันว่าไม่มีร่องรอยใดๆ บ่งชี้ว่าสถานที่ดังกล่าวเคยถูกใช้เป็นคุกลับ

สื่อต่างประเทศอีกแห่งหนึ่งที่รายงานข่าวนี้ คือ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ของออสเตรเลีย รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ พ.ท. รัชกฤษ แดงไธสงผบ.ร.13 พัน 1 ที่บอกเล่าบทบาทของค่ายรามสูรในอดีตแก่ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ โดย พ.ท. รัชกฤษ ระบุว่า ที่ผ่านมา พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้ประชาชนเข้าไป จึงเป็นเหตุให้มีข่าวลือว่าพื้นที่ดังกล่าวถูกใช้เป็นคุกลับ แต่การเปิดพิพิธภัณฑ์จะทำให้ผู้เข้าชมพื้นที่ได้เห็นด้วยตัวเองว่าบริเวณรอบศูนย์วิทยุมีเพียงเสาส่งสัญญาณและอุโมงค์ใต้ดินความยาวประมาณ 300 เมตรเท่านั้น

สื่อออสเตรเลียได้รายงานเพิ่มเติมถึงคำบรรยายเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูรในเว็บไซต์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย thailandtourismdirectory.go.th พูดถึงประวัติของค่ายรามสูรว่าเคยถูกใช้เป็นฐานทัพของกองทัพสหรัฐฯ ช่วงปี 2507-2509 เพื่อควบคุมการบินและปฏิบัติการสอดแนมกองทัพคอมมิวนิสต์ในประเทศแถบอินโดจีน และมีการว่าจ้างคนไทยให้เข้าไปทำงานในกองทัพ แต่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ 'เมียเช่า' (hired wives) และ 'ลูกผสม' (half caste) ซึ่งกลายเป็นประเด็นทางสังคมในพื้นที่ ทำให้ค่ายทหารอเมริกันถูกยกเลิกไป

ไมเคิล รัฟเฟิลส์ ผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการประจำภูมิภาคเอเชียของซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ ตั้งข้อสังเกตว่าคำบรรยายถึงค่ายรามสูรในเว็บไซต์ thailandtourismdirectory.go.th เป็นถ้อยคำที่ชวนให้ประหลาดใจ แต่ก็พอจะทำให้เห็นภาพว่าค่ายรามสูรถูกทิ้งร้างกลายเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาวได้อย่างไร โดยค่ายไม่ได้รับการบูรณะซ่อมแซมตั้งแต่ปี 2519 - 2540 

อย่างไรก็ตาม รัฟเฟิลส์ระบุว่า ทางการสหรัฐฯ ยอมรับว่ามีการตั้งคุกลับของซีไอเอจริง และไทยเป็นประเทศแรกที่มีการตั้งคุกลับดังกล่าว และจีนา แฮสเปล ผอ.ซีไอเอคนปัจจุบัน เข้ามาดูแลคุกลับที่ใช้รหัสว่า Cat's Eye ซึ่งเกิดเหตุซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยในคดีก่อการร้าย 3 ราย รวมถึง 'ฮัมบาลี' เครือข่ายก่อการร้ายอัลกออิดะห์ และอาบู ซูไบดาห์ ซึ่งถูกทรมานด้วยวิธีวอเตอร์บอร์ดดิงที่ทำให้ผู้ถูกทรมานรู้สึกเหมือนโดนกดน้ำ รวม 83 ครั้ง แต่นอกจากค่ายรามสูรแล้วยังมีค่ายทหารอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปราว 14 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งจุดที่ต้องสงสัยว่าเป็นคุกลับของซีไอเอ แต่ไม่เคยมีการยืนยันข้อมูลดังกล่าวจากทางการสหรัฐฯ และไทย

ภาพจาก: Thailand Tourism Directory

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: