ไม่พบผลการค้นหา
ทุกคนย่อมเคยทำพลาดโดยไม่ตั้งใจ แต่บางครั้งความเสียหายอาจสูงมาก เช่น การรักษาผิดพลาดของแพทย์จนมีผู้เสียชีวิต ไม่มีใครอยากให้เกิดการสูญเสีย แต่ทว่าเราจะมีวิธีการเยียวยาผู้เสียหายอย่างไร และควรจะประเมินเป็นตัวเงินเท่าไร?

การรักษาเป็นการแทรกแซงร่างกายและสิทธิเหนือคนไข้อย่างหนึ่ง เป็นการเอาสิ่งแปลกปลอม เช่น ยาหรือ คมมีดเข้าสู่ร่างกายคน ถึงแม้ผู้รักษามีประสงค์ดีอยากให้คนไข้หายจากโรค แต่มันอาจเกิดผลเสียอันไม่พึงปรารถนาตามมา และบางครั้งความเสียหายเหล่านั้นมันย้อนกลับมาไม่ได้อีกด้วย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดพลาดแล้วกระบวนการผลิตแพทย์จึงต้องมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ ต้องมีการควบคุมมาตรฐานความรู้และหัตถการจากแพทย์สภาและการออกใบประกอบโรคศิลป์เสมอ

ในทางกฎหมายแล้วการรักษาคือรูปแบบสัญญาชนิดหนึ่งระหว่างหมอกับคนไข้โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้หายจากโรค ดังนั้นถ้ามีความเสียหายอันไม่พึงประสงค์นอกเหนือจากจุดประสงค์การรักษา จึงถือได้ว่าเป็นการละเมิดสัญญา ผู้เสียหายจึงมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ หรือในกรณีที่เสียชีวิตแล้วญาติผู้เกี่ยวข้องจึงมีสิทธิเรียกร้องได้ ซึ่งตามเงื่อนไขความรับผิดการแพทย์โดยมีความผิดแบบเคร่งครัดนั้น แพทย์จะต้องชดใช้สินไหมเมื่อพิสูจน์ได้ว่า ความเสียหายเชื่อมต่อกับการกระทำได้โดยตรง และการกระทำของแพทย์เกิดจากความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ตามในบางกรณีแพทย์จะได้รับการยกเว้นรับผิดเมื่อพิสูจน์ได้ว่าการกระทำนั้นได้มาตรฐานวิชาชีพการรักษา

ในหลายกรณีของความขัดแย้งสามารถจบลงได้ด้วยการไกล่เกลี่ยยอมความกันระหว่างหมอและคนไข้ แต่หลายๆคดีเรื่องก็บานปลายจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลเพื่อพิจารณาความ สมมติถ้าท่านเป็นศาลท่านจะพิจารณาคำนวณตัวเลขออกมาเป็นค่าสินไหมทดแทนอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีเสียหายร้ายแรงถึงชีวิต

เป็นคำถามที่หาคำตอบไม่ง่ายและไม่ยากในเวลาเดียวกัน

การตีราคาตามคณิตศาสตร์ และมุมมองเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ

ถึงแม้มุมมองในทางศีลธรรมนั้นชีวิตไม่ควรถูกตีค่าหรือมูลค่าตามกลไกตลาดหรือวิธีใดๆ แต่ถ้าคิดแบบไม่ซับซ้อน การประเมินมูลค่าของชีวิตเพื่อหาค่าสินไหมทดแทนด้วยวิธีคิดทางคณิตศาสตร์และเศรษฐศาสตร์สามารถทำได้โดยไม่ยากเย็นมากนัก เช่น เราสามารถประเมินได้จากความสามารถในการหาเงินได้ของเขาที่เหลือแล้วคูณด้วยอัตราดอกเบี้ยเข้าไป เช่น สมมติให้ผู้ตายสามารถหารายได้ได้ 500,000 บาทต่อปี และเขามีเวลาทำงานเหลือ 20 ปี ในขณะที่ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 1% ค่าสินไหมทดแทนจะได้ประมาณ 11,1195,97 บาท หรือประเมินอีกวิธีหนึ่งโดยใช้ค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวของคนทั้งประเทศแทน เช่น สมมติรายได้เฉลี่ยคนไทยต่อหัวอยู่ที่ 100,000 บาทต่อปี อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 1% อัตราเติบโตของรายได้อยู่ที่ 1%และเขามีเวลาทำงานเหลือ 20 ปี ค่าสินไหมทดแทนที่คำนวณมาจะได้ประมาณ 2,481,044 บาท และยังมีวิธีคำนวณอื่นๆให้เลือกอีกหลายวิธี

จะเห็นได้ว่าการเลือกวิธีคำนวณต่างๆกันก็ส่งผลให้ได้ค่าสินไหมทดแทนที่ต่างกันด้วย และเป็นที่น่าสังเกตว่าถ้าเลือกวิธีการคำนวณด้วยแบบแรก ค่าสินไหมจะยิ่งสูงถ้าผู้ตายมีความสามารถในการหารายได้สูง เช่น สมมติเราเปลี่ยนตัวเลขจาก 500,000 เป็น 1,000,000 บาท ค่าสินไหมก็จะเพิ่มเป็น 22,239,194 บาท

หลักการของละเมิดแบบเคร่งครัดคือการโอนความเสียหายทั้งหมดจากเหยื่อไปให้ผู้กระทำผิดรับผิดชอบไปทั้งหมด แต่ทว่ารูปแบบที่ไม่ยืดหยุ่นมากเกินไปกลับส่งผลเสียต่อระบบการรักษาทั้งระบบ การสูญเสียของครอบครัวเหยื่อของการรักษาผิดพลาดเป็นสิ่งที่ต้องเยียวยา แต่การไล่บี้ผู้รักษาด้วยจำนวนตัวเงินที่สูงลิ่วก็อาจทำให้แพทย์ล้มละลายและครอบครัวเขาต้องถูกทำลายได้ด้วยเช่นกัน ถึงแม้จะมีผู้แนะนำทางออกด้วยการบังคับให้แพทย์ซื้อประกันคุ้มครองความเสียหายจากการรักษาผิดพลาด แต่ถ้าศาลมีแนวโน้มที่จะประเมินค่ารักษาในอัตราสูงเต็มที่แล้ว เบี้ยประกันจะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆจนหมอไม่อาจซื้อได้ หรือกรณีที่แย่กว่านั้น แพทย์จะมีแนวโน้มป้องกันตัวเองไว้ก่อนด้วยการหลีกเลี่ยงการรักษาที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตคนไข้สูง หรือสั่งจ่ายการตรวจราคาแพงที่ไม่จำเป็น เช่น CT Scan MRI ในจำนวนมากๆเพื่อเป็นหลักฐานป้องกันความผิดตัวเอง โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็ผลักภาระไปที่ผู้ป่วย

ในขณะเดียวกันจำนวนค่าปรับที่สูงลิ่วนี้ก็ยั่วยวนให้ทนายบางคนที่ต้องการส่วนแบ่งเปอร์เซนต์จากค่าสินไหมชี้แนะให้ผู้เสียหายหรือญาติฟ้องรองดำเนินคดีทางศาล จนจำนวนคดีเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็วจนค้างในศาลจำนวนมาก เสียงบประมาณค่าพิจารณาทางศาลและเสียเวลาโดยที่ผู้เสียหายไม่ได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน ผลที่ตามมาทั้งระบบคือ การสร้างความร้าวฉานระหว่างแพทย์และคนไข้ ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน

ต้องมีมุมมองอื่นเพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ของการเยียวยา

จุดประสงค์ของการเยียวยาจึงไม่ใช่เรื่องการไล่บี้เอาความผิดอย่างเดียว แน่นอนว่าชีวิตไม่ควรประเมินด้วยตัวเงิน แต่การชดใช้ด้วยตัวเงินมีจุดประสงค์เพื่อ ประการแรก แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งและแสดงความต้องการรับผิดชอบของผู้กระทำผิด ประการสอง เยียวยาความเสียหายอย่างรวดเร็วที่สุดเพื่อมิให้ญาติของผู้เสียหายต้องลำบาก ประการสาม บทลงโทษมีไว้เพื่อกระตุ้นให้ผู้รักษามีความระมัดระวังมากขึ้น โดยไม่มากและไม่น้อยเกินไป ผู้พิพากษาที่ดีจึงไม่ควรพิจารณาความตามโจทย์คณิตศาสตร์ในกระดาษอย่างเดียว โดยมิได้มองสภาพแวดล้อมของแต่ละคดีที่แตกต่างกัน

การตีค่าสินไหมทดแทนผู้เสียชีวิตจากความรับผิดทางการแพทย์จึงเป็นเรื่องซับซ้อน การมองคุณค่าชีวิตในรูปแบบตัวเงินมุมเดียวอาจไม่เพียงพอ และต้องพิจารณาประเด็นอื่น ผลได้ผลเสียทั้งต่อผู้เสียหาย ผู้กระทำความผิด และสังคมด้วย เพื่อให้จุดประสงค์ของการเยียวยาบรรลุผลคือ การแสดงความเสียใจของผู้กระทำผิด การเยียวยาอย่างทันท่วงทีและสมเหตุสมผลต่อญาติผู้เสียชีวิต กระตุ้นให้แพทย์มีความระมัดระวังต่อการรักษามากขึ้นในขณะเดียวกันก็ไม่บีบแพทย์เกินไปจนปฏิเสธการรักษา และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ลดการฟ้องร้องคดีความ รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และคนไข้ และความสมานฉันท์ในสังคม

ภาคภูมิ แสงกนกกุล
นักวิชาการผู้ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และวิจัยเรื่องความเหลื่อมล้ำในระบบสาธารณสุขไทย
1Article
0Video
21Blog