สำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สำรวจเสียงประชาชน ต่อ บุ๋ม ปนัดดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สำรวจเสียงประชาชน ต่อ บุ๋ม ปนัดดากรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method)ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียลทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (QuantitativeResearch) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ในการสำรวจข้อมูล วิเคราะห์และประมวลผล จำนวน 1,479 ตัวอย่าง
ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 3 - 6 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา เมื่อถามถึง ความพอใจต่อผลงานของ บุ๋ม ปนัดดา ที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ที่พอใจค่อนข้างมาก ถึง มากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.9 ระบุการรณรงค์ ความปลอดภัยให้เด็ก และ สตรี รองลงมาคือ ร้อยละ94.1 ระบุ รณรงค์ คดีข่มขืนให้ประหารชีวิต ร้อยละ 93.5 ระบุ ร่วมเป็น จิตอาสา ทำดีด้วยหัวใจ ร้อยละ 88.8 ระบุ จัดตั้ง องค์กรทำดี ร่วมกับ คนบันเทิง และร้อยละ 85.3 ระบุ ทูตวัฒนธรรมและท่องเที่ยว ตามลำดับ
ที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.0 ระบุความพอใจต่อ ส.ส.หญิงที่ทำประโยชน์ให้กับสังคม ว่ายังไม่มี ในขณะที่ร้อยละ 12.0 ระบุว่า มีที่น่าสนใจคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 98.4 ระบุ ความใสซื่อเป็นผู้หญิงน้ำดี ทำประโยชน์เพื่อสังคมของ บุ๋ม ปนัดดา ในขณะที่ร้อยละ 1.6 ระบุไม่ใช่ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 59.9 อยากสนับสนุนให้ บุ๋ม ปนัดดา เป็นส.ส. และรอง ๆ ลงไปคือ เป็น คนคอย อบรม ส.ส.หญิงให้เป็น ส.ส.น้ำดี ร้อยละ 28.8 เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม ร้อยละ 17.3 เป็นรัฐมนตรีร้อยละ 14.9 และ เป็น นายกรัฐมนตรีหญิง ร้อยละ 7.2
ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ จุดยืนการเมืองของประชาชนคนออนไลน์ พบว่ากลุ่มคนเคยเลือกพรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งครั้งล่าสุด ที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ เหลือสนับสนุนรัฐบาลเกินครึ่งเล็กน้อย คือเหลืออยู่ร้อยละ 54.9 และไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 25.5 เป็นพลังเงียบร้อยละ 19.6 ส่วนคนเคยเลือกพรรคอื่น ๆ เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา เหลือสนับสนุนรัฐบาลอยู่ร้อยละ 4.7 แต่ไปอยู่กลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลร้อยละ 58.7 และพลังเงียบร้อยละ 36.6
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า กรณีของ ดร.บุ๋ม ปนัดดา ถ้าลงเลือกตั้งน่าจะได้รับเลือกเป็น ส.ส.ถ้าขึ้นเป็นผู้สมัครบัญชีรายชื่อในอันดับแรก แต่ถ้าจะให้พรรคนั้นชนะจัดตั้งรัฐบาลได้น่าจะอยู่ในอันดับที่ 9 ส่วนสถานการณ์บ้านเมืองเวลานี้ส่งผลทำให้คนในโลกออนไลน์มีจุดยืนทางการเมืองที่น่าจะ“หนาวและหวาดเสียว” เพราะ คนเคยเลือกพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ใช่พรรคพลังประชารัฐ กระจายตัวออกไปอยู่ในกลุ่มไม่สนับสนุนรัฐบาลและพลังเงียบ
ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง ว่าจะปล่อยไว้แบบนี้หรือจะรอให้สถานการณ์สุกงอมเหมือนที่เคยปล่อย ๆ กันมา แต่ครั้งนี้ถ้าไม่ใช้นวัตกรรมทางการเมืองและคนรุ่นใหม่เข้ามากอบกู้สถานการณ์ คงจะยากที่จะผ่านพ้นอารมณ์ของประชาชนที่เคลือบแคลงสงสัยและกำลังขุ่นมัวกับความชอบธรรมของรัฐบาล