ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังคงยืดเยื้อระหว่างจีนกับฮ่องกง ดูเหมือนว่าล่าสุดประเด็นนี้จะส่งผลกระทบในระดับนานาชาติ เมื่อชาวจีนใช้ขนาดเศรษฐกิจของประเทศเป็นอาวุธในการปิดเสียงชาวต่างชาติไม่ให้สนับสนุนฮ่องกง โดยธุรกิจในวงการต่างๆ ของสหรัฐฯ ทั้งบาสเก็ตบอล เกม และเทคโนโลยี ต่างดูเหมือนว่าจะยอมก้มหัวให้กับจุดยืนทางอธิปไตยของประเทศจีนเพื่อแลกกับกำไรทางธุรกิจ แต่ในทางกลับกันก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้บริโภคชาวอเมริกันเช่นกัน
หนึ่งทวีต สะเทือนวงการบาสฯ

สมาคมบาสเกตบอลแห่งชาติสหรัฐฯ หรือเอ็นบีเอ (National Basketball Association: NBA) กำลังอยู่ในช่วงควบคุมสถานการณ์เพื่อลดความเสียหายทางธุรกิจ หลังจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ที่ดาริล มอเรย์ ผู้จัดการทีมฮุสตันร็อกเก็ตส์ (Houston Rockets) ได้ทวีตรูปภาพที่แสดงข้อความว่า 'สู้เพื่อเสรีภาพ ยืนหยัดข้างฮ่องกง' (Fight for freedom stand with Hong Kong) สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับแฟนบาสเก็ตบอลชาวจีน เนื่องจากฮุสตันเป็นทีมที่ชาวจีนนิยมมากที่สุด จากการที่เหยาหมิง ประธานสมาคมบาสเกตบอลจีน หรือซีบีเอ (Chinese Basketball Association: CBA) และอดีตนักบาสฯ ชาวจีนเคยเล่นอยู่ในทีมนี้ตั้งแต่ปี 2002 กระทั่งรีไทร์ไปในปี 2011

แม้มอเรย์จะลบทวีตดังกล่าว และออกมาทวีตใหม่ในวันที่ 7 ตุลาคมว่าไม่ได้ต้องการสร้างความไม่พอใจให้แฟนๆ ชาวจีน และทวีตดังกล่าวก็เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่เกี่ยวข้องกับทีมฮุสตันหรือวงการเอ็นบีเอแต่อย่างใด

ทว่าเรื่องยังคงไม่จบลงง่ายๆ ชาวจีนยังคงเรียกร้องให้มอเรย์ออกมาขอโทษ กลับกันอดัม ซิลเวอร์ ประธานเอ็นบีเอ ออกมากล่าวว่าเอ็นบีเอสนับสนุนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของมอเรย์

"เอ็นบีเอจะไม่เอาตัวเองไปเป็นผู้กำกับว่าผู้เล่น พนักงาน หรือเจ้าของทีมคนใดสามารถพูดเรื่องใดได้หรือไม่ได้ เราทำแบบนั้นไม่ได้" ซิลเวอร์กล่าว

AFP - David Silver NBA
  • เดวิด ซิลเวอร์ ประธานเอ็นบีเอ

ขณะที่ทางสหรัฐฯ มองว่าปัจเจกมีเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง ทางด้านจีนกลับมองเรื่องนี้ว่าเป็นการล่วงล้ำอธิปไตยของประเทศจีน เนื่องจากจีนยืนกรานว่าฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนที่แบ่งแยกมิได้ภายใต้แนวคิดหนึ่งประเทศสองระบบ

เรื่องไม่จบเพียงแค่ความเห็นของชาวจีนเท่านั้น แต่กลุ่มธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็พากันแบนเอ็นบีเอ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือซีซีทีวี (China Central Television: CCTV) ได้ระงับการถ่ายทอดการแข่งขันพรีซีซันของเอ็นบีเอทั้งหมด บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเทนเซนต์ ผู้ถ่ายทอดออนไลน์การแข่งขันเอ็นบีเอ และบริษัทสมาร์ตโฟนวีโว่ ก็ประกาศตัดขาดความสัมพันธ์กับเอ็นบีเอ และเหตุการณ์ลุกลามกระทั่งกระทบกับหุ้นของไนกี้ (Nike) แบรนด์อุปกรณ์กีฬาที่เป็นผู้สนับสนุนหลักของเอ็นบีเอ ทำให้เกิดการเทขายหุ้นไนกี้ด้วย

นอกจากนี้ เหยาหมิง ประธานซีบีเอ ลีกบาสเกตบอลจีนก็ประกาศว่าซีบีเอจะไม่ร่วมงานกับทีมฮุสตัน เว็บไซต์เถาเป่า (Taobao) แพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่ในเครืออาลีบาบา (Alibaba) ก็ลบสินค้าของที่ระลึกทีมฮุสตันทั้งหมดออกจากเว็บไซต์ด้วย

ประเทศจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาสำหรับเอ็นบีเอ โดยนิตยสารฟอร์บส์ชี้ว่าเอ็นบีเอไชนา ซึ่งดำเนินธุรกิจของเอ็นบีเอในจีนนั้น มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 122,000 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านหนึ่งบรรดานักการเมืองและแฟนเอ็นบีของสหรัฐฯ ต่างก็ไม่ต้องการให้เอ็นบีเอเสียสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อแลกกับเม็ดเงินจากจีน ทางด้านโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าเอ็นบีเอต้องไปจัดการเรื่องนี้กันเอง


ทางไหนก็เสีย เกมเมอร์สหรัฐฯ
พากันบอยคอตต์ เมื่อบริษัทเกมเข้าข้างจีน

วงการเกมเองก็เข้ามาพัวพันกับข้อพิพาทระหว่างฮ่องกงกับจีนเช่นกัน เนื่องจากเมื่อสุดสัปดาห์ต้นเดือนนี้ ชังอึ๊งไหว หรือที่รู้จักในชื่อบลิตซ์ชัง (Blitzchung) นักกีฬาอีสปอร์ตชาวฮ่องกง ของเกมฮาร์ทสโตน (Heartstone) ได้กล่าวให้สัมภาษณ์หลังจบการแข่งขันในรายการการแข่งขันเกมฮาร์ทสโตนแกรนด์มาสเตอร์ส (Hearthstone Grandmasters)

ในการถ่ายทอดสดออนไลน์อย่างเป็นทางการในไต้หวันนี้ เขาปรากฏตัวโดยสวมหน้ากากแก๊สอย่างผู้ประท้วง และกล่าวเป็นภาษาจีนว่า "ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติแห่งยุคสมัยของเรา" ซึ่งเป็นสโลแกนของการชุมนุมประท้วงในฮ่องกง

คลิปทางการของเหตุการณ์ดังกล่าวถูกลบ และในวันที่ 6 ตุลาคม บลิซซาร์ด (Blizzard) บริษัทผู้ให้บริการเกมฮาร์ทสโตน ก็ออกมาประกาศว่าบลิตซ์ชังทำผิดกฎการแข่งขันในรายการนี้ เนื่องจากกระทำการที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ คุกคามกลุ่มบุคคล หรือนำความเสื่อมเสียสู่บลิซซาร์ด มีบทลงโทษถอดออกจากการแข่งขันพร้อมริบเงินรางวัลทั้งหมดทันที พร้อมห้ามเข้าร่วมการแข่งขันอีสปอร์ตของเกมฮาร์ทสโตนเป็นเวลา 12 เดือน นอกจากนี้ ทางบริษัทยังชี้ว่าจะเลิกจ้างพิธีกรในเหตุการณ์ด้วย แม้ทั้งคู่จะพากันหลบอยู่ใต้โต๊ะขณะบลิตซ์ชังกล่าวสนับสนุนฮ่องกง และตัดเข้าโฆษณาในทันทีก็ตาม

ทั้งนี้ นอกจากฮาร์ทสโตนแล้ว บลิซซาร์ดยังเป็นผู้ให้บริการเกมดังอีกหลายเกม เช่น โอเวอร์วอตช์ (Overwatch) เวิล์ดออฟวอร์คราฟต์ (World of Warcraft) และโดต้าทู (DotA 2)

บลิตซ์ชัง กล่าวว่าไม่รู้สึกแปลกใจที่ถูกแบนจากการแข่งขัน และไม่รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่ทำเลยแม้แต่น้อย

"ผมรู้ว่าผมทำอะไรลงไปในการถ่ายทอดสด มันอาจก่อปัญหาให้ผมแม้กระทั่งความปลอดภัยในชีวิตจริง แต่ผมคิดว่ามันเป็นหน้าที่ของผมที่จะต้องพูดอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้" เขากล่าว

อ้างอิงจากบลิตซ์ชัง เงินรางวัลที่สูญเสียไปนั้นอยู่ที่ประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 3 แสนบาท)

การแบนในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อเกมเมอร์ในสหรัฐฯ โดยทั้งในทวิตเตอร์และในเรดดิต (reddit) ชุมชนออนไลน์ซึ่งเป็นที่นิยมในสหรัฐฯ เกมเมอร์ต่างพากันโพสต์รูปยืนยันการบอกเลิกรับบริการรายเดือนในเกมต่างๆ ของบลิซซาร์ด

ผู้ใช้เรดดิตรายหนึ่ง ระบุว่าเล่นเกมฮาร์ทสโตนมาตั้งแต่ปี 2014 โดยจ่ายเงินให้เกมนี้ไปราว 200 ปอนด์ (ราว 7,600 บาท) แต่จะเลิกเล่นหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

"โหวตด้วยกระเป๋าตังค์ของพวกนาย มันเป็นภาษาเดียวที่พวกเขาฟังออก" ผู้ใช้เรดดิตรายหนึ่งระบุ

นอกจากนี้ พนักงานของบลิซซาร์ดราว 30 คน ก็ได้รวมตัวกันถือร่มประท้วงในเวลางานหน้าสำนักงานบลิซซาร์ดในแคลิฟอร์เนีย พนักงานคนหนึ่งกลาวว่าสิ่งที่บลิซซาร์ดทำกับผู้เล่นนั้นเลวร้ายมากแต่ไม่น่าแปลกใจ

"บลิซซาร์ดทำเงินจำนวนมากในจีน แต่ตอนนี้บริษัทกำลังอยู่ในจุดกระอักกระอ่วนที่ไม่สามารถปฏิบัติตามค่านิยมของตัวเองได้แล้ว" เขากล่าว


เมื่อแอปเปิลปิดปากตัวเองและคนอื่น หลังจีนกดดัน

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ชี้ว่าในอัพเดทไอโอส 13.1.1 ของแอปเปิลและไอแพดในภูมิภาคฮ่องกงและมาเก๊านั้น ธงชาติของไต้หวันได้หายไป โดยสันนิษฐานว่าเป็นเพราะแอปเปิลถูกกดดันจากจีน เนื่องจากจีนไม่ปฏิเสธไม่ยอมรับว่าไต้หวันเป็นประเทศ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของประเทศจีนเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีการยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดหรือข้อผิดพลาดทางเทคนิคหรือไม่

ในเดือนเดียวกัน เอชเคแมป (HKmap) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแผนที่ในฮ่องกงถูกถอดออกจากแอปสโตร์ของแอปเปิล โดยแอปฯ นี้เป็นที่นิยมในฮ่องกง และสามารถใช้มาร์กตำแหน่งของตำรวจและจุดที่มีการปิดถนนในช่วงประท้วงโดยผู้ใช้แอปฯ เป็นผู้ให้ข้อมูล

เอชเคแมปถูกถอดจากสโตร์ในวันที่ 2 ตุลาคม โดยให้เหตุผลว่าเป็นแอปฯ ที่มีเนื้อหาเอื้อและสนับสนุนกิจกรรมผิดกฎหมาย ก่อนที่จะกลับสู่สโตร์อีกครั้งในวันที่ 4 ตุลาคม

capture-hkmap
  • HKmap ใช้ติดตามความเคลื่อนไหวของตำรวจและผู้ชุมนุมในฮ่องกงได้

วันที่ 9 ตุลาคม ไชนาเดลีย์ (China Daily) สำนักข่าวที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ระบุว่าแอปนี้เอื้อให้ผู้ก่อจราจลในฮ่องกงก่อเหตุรุนแรงได้ และวิพากษ์วิจารณ์ที่แอปเปิลปล่อยให้แอปฯ นี้อยู่บนสโตร์

“ธุรกิจก็คือธุรกิจ การเมืองก็คือการเมือง แอปเปิลต้องคิดถึงผลกระทบของการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดและขาดความยั้งคิด” ไชนาเดลีย์ระบุ

หลังจากนั้นแอปเปิลก็ถอดแอปฯ เอชเคแมปออกจากสโตร์อีกครั้งในวันที่ 10 ตุลาคม แม้ทางเอชเคแมปจะระบุว่าแอปฯ นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ชาวฮ่องกงปลอดภัยสามารถหลีกเลี่ยงจุดที่เกิดปัญหาได้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทางแอปเปิลได้แถลงยืนยันว่าแอปฯ เอชเคแมปทำผิดแนวทางของแอปเปิลและกฎหมายของจีน โดยแอปเปิลได้ตรวจสอบร่วมกับสำนักงานความมั่นคงไซเบอร์และอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของฮ่องกง พบว่าแอปฯ นี้ถูกใช้ในการซุ่มโจมตีตำรวจและคุกคามความปลอดภัยสาธารณะ

นอกจากนี้ ในวันที่ 9 ตุลาคม แอปเปิลยังลบแอปพลิเคชันข่าวของควอร์ตซ์ (Quartz) ออกจากแอปป์สโตร์ โดยควอร์ตซ์มีการรายงานข่าวสถานกาณณ์การประท้วงในฮ่องกง รวมถึงให้ข้อมูลเรื่องวีพีเอ็น (VPN) ที่ทำให้ชาวจีนและฮ่องกงสามารถเข้าถึงเว็บไซต์นอกประเทศที่จีนแบนได้ ทางแอปเปิลระบุเพียงว่าแอปฯ ควอร์ตซ์มีเนื้อหาที่ผิดกฎหมายในประเทศจีน

ทั้งนี้ แอปเปิลถอดแอปฯ ดังกล่าวออกจากสโตร์ หลังพีเพิลส์เดลีย์ (People Daily) สำนักข่าวทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานว่าแอปเปิลให้การรับรองแอปฯ ที่ช่วยเหลือผู้ก่อจราจลในฮ่องกง และทวงถามว่าแอปเปิลเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดหรือไม่

ที่มา: Forbes / Reuters / SCMP / Kyodo News / CNN / CNBC / Business Insider / Guardian / Kotaku / Verge / TechCrunh / 9to5mac

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: