ไม่พบผลการค้นหา
'ถอยคนละก้าว' คำประกาศของ 'ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ทว่ากระบวนการทางกฎหมายยังคงเดินหน้าไล่จับ-อายัดตัวแกนนำคณะราษฎร 2563 อย่างต่อเนื่อง สะท้อนบทพิสูจน์ความจริงใจของผู้นำรัฐบาลในการเรียกคืนความสมานฉันท์ให้กับประเทศ

"พวกเราทุกคนต้องช่วยกันทำลายวงจรนี้ พวกเรา ต้องร่วมทำ ด้วยกันครับ ในเวลานี้ เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆ ตกลงไปสู่หายนะ และสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจะเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นๆ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ก็จะยิ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อนมากยิ่งขึ้น และการใช้ความรุนแรง จะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงที่มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้สอนเรามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งตอนจบของทุกครั้งก็คือความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศ"

ท่าที 'ถอยคนละก้าว' ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.)กลาโหม เกิดขึ้นประกาศชัดหลังแถลงผ่านทีวีพูล เมื่อเย็นวันที่ 21 ต.ค. 2563 ในห้วงที่กลุ่มผู้ชุมนุมกดดัน พล.อ.ประยุทธ์ อย่างหนัก ให้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

ท่าที 'ถอยคนละก้าว' ยังเกิดขึ้นหลังมวลชนคณะราษฎร 2563 ประกาศผ่านสื่อโซเชียลมีเดียในเครือข่ายให้เตรียมความพร้อมเวลา 14.00 น.ให้มารวมกันบริเวณสถานีรถไฟฟ้า ก่อนประกาศสถานที่ชุมนุมใหญ่ช่วง 15.30 น.บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมทั้งเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือลาออกผ่านตัวแทนของนายกรัฐมนตรี และขีดเส้นภายใน 3 วัน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องลาออกจากตำแหน่ง

หนึ่งในแกนนำที่ยื่นหนังสือกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกที่หน้าทำเนียบรัฐบาล กลับตกถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวทันทีหลังนำมวลชนบุกไปถึงหน้าทำเนียบฯ

เมื่อ มายด์ หรือ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย แกนนำคณะราษฎร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว ภายในร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พ.ต.ท.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ ผกก.กองบัญชาการสอบสวนกลาง ได้นำหมายจับของศาลมาอ่านรายละเอียด ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 9 ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยถูกควบคุมตัวไปที่ ตชด.ภาค1 จ.ปทุมธานีในคืนวันที่ 21 ต.ค. 2563

แม้ในเวลาต่อมา 'ภัสราวลี' จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากศาล โดยไม่ต้องใช้หลักประกัน

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีการดำเนินการคุกคามด้วยกระบวนการทางกฎหมายเกิดขึ้นกับเหล่าแกนนำคณะราษฎร

มายด์ ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผลประยุทธ์ คณะราษฎร ม็อบ ประวิตร 1016115010000000.jpg

22 ต.ค. 2563 หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ ลงนาม ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 ต.ค. 2563 และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 16 ต.ค. 2563 โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 22 ต.ค. 2563 (อ่าน ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร)

ขณะที่ก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ จะให้คำมั่นกับคนทั้งประเทศว่าจะ 'ถอยคนละก้าว' กระบวนการพรากอิสรภาพของแกนนำที่เรียกร้องประชาธิปไตยก็ยังเกิดขึ้นเรื่อยๆ

19 ต.ค. 2563 ศาลอุทธรณ์กลับคำสั่งศาลชั้นต้นให้ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และณัฐ ณัฐชนน ไพโรจน์ ได้รับการประกันตัว แต่ เพนกวิน และรุ้งก็ยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าอายัดตัวต่อทันที

เพนกวิน ได้ถูกตำรวจ สภ.เมืองร้อยเอ็ดมาอายัดตัวต่อทันที ตามข้อหามาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา จากการปราศรัยในการชุมนุม ที่ลานหน้าบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เพนกวิน และรุุ้งยังถูกอายัดตัวตามข้อหาร่วมชุมนุมยุยงปลุกปลั่น จากการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์และท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย.ที่ผ่านมา 

พริษฐ์ รุ้ง ปนัสยา เพนกวินหน้าศาลอาญา.jpg
  • ประกันตัว อานนท์ แต่ถูกอายัดตัวทันที

26 ต.ค. 2563 พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ขอฝากขัง อานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 เป็นครั้งที่ 2 หลังถูกจับกุมคดีความผิดเกี่ยวกับชุมนุมที่ลานประตูท่าแพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2563 และถูกจับกุมพร้อมคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 

โดยศาลได้อ่านคำสั่ง อนุญาตให้ฝากขังต่อไปครั้งที่ 2 แต่ทนายความ และนายประกันได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอานนท์ โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งศาลได้อนุญาตให้ประกันตัว แต่ อานนท์ก็ยังไม่ได้รับอิสรภาพ เพราะถูกพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม อายัดตัวต่อตามหมายจับในคดีชุมนุมวันที่ 19 ก.ย. 2563

  • 'ประยุทธ์' หนุนคณะทำงานหาทางออกม็อบ

26-27 ต.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อภิปรายทั่วไปตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ

พล.อ.ประยุุทธ์ แม้จะไม่ตอบรับข้อเสนอของ 'มวลชน' นอกรัฐสภา และ ฝ่ายค้านในรัฐสภา ให้ลาออกจากตำแหน่งโดยทันที

ทว่า 'พล.อ.ประยุทธ์' ก็เห็นด้วยกับแนวทางตั้งคณะทำงานเพื่่อสร้างความปรองดอง

"ผมเห็นด้วยตั้งคณะทำงานศึกษา หาทางออก เอาทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล รัฐสภา ผู้เห็นต่าง หรือผู้ที่อะไรก็แล้วแต่ ก็คุยให้รู้เรื่องแล้วกัน ไม่นั้นก็ว่ากันไปกันมาต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ ก็ไปหามาให้ได้แล้วกัน จะเจรจากับใคร ทุกคนเป็นหัวหน้าทั้งหมด ต้องหาสถานที่กว้างๆ หน่อย" 

"เรื่องการชุมนุม ผมรักลูกหลานทุกคน ผมรักนิสิตนักศึกษาทุกคน แต่เราควรสร้างความเข้าใจกันได้หรือไม่ ที่จะชี้นำในทางที่ถูกต้องทางที่สงบ ผมยอมรับฟัง ทุกคนคือเสียงหนึ่ง"

"การได้ชัยชนะกันท่ามกลางซากปรักหักพัง คุ้มค่ากันหรือไม่ มันจะไม่เหลืออะไรอีก สิ่งที่ท่าจะเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจ มันจะไม่เหลือน้อยนิด สงสารลูกหลาน เยาวชน ที่ท่านห่วงท่านรัก ท่านคิดถึงเขาบ้างหรือเปล่า ท่านจะเอามาขับเคลื่อนทางการเมืองไปด้วย"

ประยุทธ์ อภิปรายทั่วไป _รัฐสภา

การชุุมนุมยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าคณะราษฎร 2563 จะไร้แกนนำก็ตาม

30 ต.ค. 2563 'เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก-หมอลำแบงค์ ปติวัฒน์ แย้มสาหร่าย" ได้รับการปล่อยตัว หลังศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องที่พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ยื่นคำร้องขอฝากผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ซึ่งทั้งหมดจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิง

แต่เมื่อถึงเวลาปล่อยตัว กลับมีเพียง 'หมอลำแบงค์' เท่านั้นที่ได้รับการปล่อยตัว

ขณะที่ 'รุ้ง-เพนกวิน-ไมค์' กลับถูกตำรวจ สน.ประชาชื่น เข้าอายัดตัวต่อทันทีตามหมายจับของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี สภ.เมืองนนทบุรี และ สภ.พระนครศรีอยุธยา โดย สภ.เมืองอุบลราชธานี และ สภ.เมืองนนทบุรีได้ถอนหมายจับ เหลือเพียง สภ.พระนครศรีอยุธยา ที่ยังไม่ยอมถอนหมายจับ โดยอ้างว่าต้องดำเนินการสอบสวนผู้ต้องหาก่อน

ไมค์ ภาณุพงศ์ ปล่อยตัว สน.ประชาชื่นเพนกวิน พริษฐ์ ปล่อยตัว สน.ประชาชื่นรุ้ง  ปนัสยา b9gVoAA46gV.jpeg
  • ยกคำร้อง ตร.ขอคุมตัว - แต่ยังมีอีกหลายคดีรออายัดตัวแกนนำม็อบ

31 ต.ค. 2563 ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีคำสั่งยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่ขอควบคุมตัว รุ้ง-ไมค์-เพนกวิน โดยระบุว่าผู้ร้องสอบสวนเสร็จแล้ว ขั้นตอนที่เหลือทำได้ไม่ต้องควบคุมตัว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าจะมีการหลบหนีหรือไปก่อเหตุร้ายประการอื่น และผู้ต้องหาทั้งหมดยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล ไม่มีเหตุจำเป็นในการควบคุมตัว

ทันทีที่ศาลยกคำร้องของพนักงานสอบสวนที่จะควบคุมตัว 3 ผู้ต้องหานั้น

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็รายงานทันทีว่าในเวลา 11.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2563 ไมค์จะถูกพนักงานสอบสวน สภ.เพ เข้าจับกุมตัวในเหตุการณ์ชูป้ายต้อนรับนายกฯ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2563 ที่ จ.ระยอง

เวลา 20.45 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็รายงานว่า นาทีที่ รุ้ง-ปนัสยา กำลังพิมพ์ลายนิ้วมือโดยที่มือยังใส่สายน้ำเกลืออยู่ หลังพนักงานสอบสวน สน. ปทุมวัน แจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมมั่วสุม กรณีทวงความเป็นธรรมให้ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2563 และอ่านประกาศคณะราษฎร ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน  

ยังไม่นับรวมกรณีที่ นักศึกษาและประชาชน 4 รายได้รับหมายเรียกจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ ให้ไปรับทราบข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา116 จากกรณีร่วมอ่านแถลงการณ์ภาษาต่างๆ หน้าสถานทูตเยอรมัน ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 

กระบวนการปล่อยตัวแกนนำคณะราษฎร 2563 และถูกอายัดตัวจากคดีชุมนุมทางงการเมืองในอีกหลายข้อหา แม้จะเป็นการตัดกำลังมวลชนที่จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลไปในตัว

แต่ก็เป็นผลให้บรรดาแกนนำที่ขับเคลื่อนการชุมนุมไม่สามารถได้รับอิสรภาพได้

ย่อมสวนทางกับคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่บอกชัดว่าจะถอยคนละก้าว หรือแม้แต่การจะตั้งคณะทำงานปรองดองเพื่อหาทางออกจากวิกฤตการชุมนุม สะท้อนถึงความจริงใจของรัฐบาลในการจบปัญหาความขัดแย้งนอกรัฐสภา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง