ไม่พบผลการค้นหา
หอการค้าไทยเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ต.ค. ลดลงเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนความกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ปะทุหนัก ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการยังต่ำ ฟากสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลง เพราะกังวลนโยบายการค้า-ดอกเบี้ยสหรัฐฯ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาอยู่ที่ 81.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากผู้บริโภคยังกังวลปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่รุนแรงขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภครู้สึกว่ามีเงินในกระเป๋าลดลง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายรายการที่ยังต่ำอยู่ 

อีกทั้ง การส่งออกเดือน ก.ย.ติดลบร้อยละ 5.20 ขณะที่สถานการณ์นักท่องเที่ยวจีนยังไม่กลับมา ซึ่งหากค่าดัชนีความเชื่อมั่นเดือน พ.ย.ยังลดต่อเนื่องอาจมีผลทำให้ต้องปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยปีนี้ใหม่

อีกด้านหนึ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือน ต.ค. ที่ลดลงยังเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 68.4 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 69.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำอยู่ที่ 76.5 ปรับลดลงจาก 77.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 99.0 ปรับลดจาก 100 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตที่อยู่ 92.6 ปรับลดลงจาก 93

เนื่องจากยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ฟื้นตัวชัดเจน ประกอบกับปัจจัยลบทั้งภายในและภายนอก อาทิ ผู้บริโภครู้สึกว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวสูงขึ้นช่วงสงครามการค้า ทำให้กำลังซื้อลดลง ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาน้อยลงกว่าปกติ ส่งผลให้รายได้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องขยายตัวน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯกับจีนอาจจะรุนแรงมากขึ้น

"คงต้องรอดูค่าดัชนีในเดือน พ.ย.อีกครั้งว่าจะขยับขึ้นหรือไม่ หากยังลดลงต่อเนื่องจะมีผลต่อกำลังซื้อในช่วงปลายปี ซึ่งอาจต้องปรับมุมมองเศรษฐกิจไทยใหม่ แต่จากสัญญาณที่เห็นตอนนี้ยังไม่น่าห่วง เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มลดมาตั้งแต่เดือน ส.ค.จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีสัญญาณจะลดลงมากกว่านี้" นายธนวรรธน์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังรวมถึงประเด็นสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ หากปัญหาดังกล่าวมีทิศทางที่ดีจะส่งผลให้การค้า โดยเฉพาะการส่งออกของไทยเป็นไปตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้เป็นบวกไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 และนักท่องเที่ยวจากจีนจะกลับมาท่องเที่ยวในไทยทุกภาค ซึ่งอาจส่งผลให้ปีนี้ยอดนักท่องเที่ยวในไทยจะมีมากกว่า 38 ล้านคนได้

ทั้งนี้ ตลอดเดือน พ.ย. จะมีการปรับเปลี่ยนด้านเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ซึ่งเร็วๆนี้จะมีการประชุม G20 การประชุมเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้ากับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging economies) ซึ่งอาจจะมีการเจรจาระหว่างผู้นำสองประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น ดังนั้น จึงเป็นเดือนแห่งหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าประเมินว่า ยังไม่มีผลกระทบกับไทยโดยตรง ภาพรวมการส่งออกยังอยู่ในกรอบร้อยละ 8 และนักท่องเที่ยวจีนไม่น่าจะลดลงไปกว่าเดิม จึงไม่น่าเป็นปัญหาถาโถมความเชื่อมั่นทั้งปีมากนัก

ขณะที่การสำรวจเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จังหวัดที่ปรับตัวลดลงจะเป็นเมืองอุตสาหกรรมส่งออก โดยเฉพาะภาคใต้ ยางพารา รวมถึงภาคที่มีนักท่องเที่ยวจีนทั้งใต้และภาคตะวันออก เช่น พัทยา ลดลง จะมีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศด้วย ทั้งนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน และมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านในช่วงนี้ยังเป็นเพียงสงครามเชิงจิตวิทยาเท่านั้น ซึ่งไทยยังไม่มีปัจจัยลบราคาน้ำมันแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี ศูนย์พยากรณ์ฯ ยังคงประมาณการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.6 และหากผลการพูดคุยทั้ง 2 ผู้นำไปในทิศทางที่ดีปัจจัยอื่นปรับดีจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2562 น่าเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 2 โดยเฉลี่ยจะเติบโตร้อยละ 4.3-4.5

AFP-ตลาดหุ้น-เศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้า 'ลดลง' กังวลการค้าระหว่างประเทศ

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน พ.ย. 2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงมาอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว (Neutral) (ช่วงค่าดัชนี 120-160 ) โดยลดลงร้อยละ 7.23 มาอยู่ที่ระดับ 113.73 

อีกทั้งยังสำรวจพบว่านักลงทุนกังวลผลกระทบนโยบายทางการค้าและนโยบายทางการเงินของสหรัฐ ขณะที่มองว่าผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนและภาวะเศรษฐกิจในประเทศหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุน

โดยดัชนีกลุ่มนักลงทุนรายบุคคลปรับตัวลดลงจากการสำรวจครั้งก่อน มาอยู่ที่โซนทรงตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นเล็กน้อยยังคงอยู่ที่โซน ร้อนแรง (Bullish) ดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ เปลี่ยนแปลงเล็กน้อย อยู่ในโซนทรงตัว (Neutral)

ผลสำรวจ ยังระบุว่า หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERG) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือหมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ขณะที่ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

"ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เดือนตุลาคม มีทิศทางปรับตัวลดลงตามการปรับตัวลดลงของดัชนีดาวน์โจนส์ที่มีการปรับฐานลดลงประมาณร้อยละ 10 ขณะที่นักลงทุนกังวลผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ และ Bond Yield 10 ปี ที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าร้อยละ 3 รวมถึงการติดตามท่าทีของประธานาธิบดีสหรัฐต่อนโยบายการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐ โดยดัชนีฯลดลงต่ำสุดที่ 1,596 จุด ก่อนฟื้นตัวขึ้นมาเคลื่อนไหวบริเวณ 1,640-1,660 จุดในช่วงปลายเดือน" นายไพบูลย์ กล่าว

สำหรับผลสำรวจชี้ว่าทิศทางการลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และความเชื่อมั่นการเติบโตเศรษฐกิจของไทยที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP Growth) ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 4.5 แม้ว่าตัวเลขการส่งออกเดือน ก.ย. จะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.2 เป็นเดือนแรกก็ตาม โดยนักลงทุนยังคงติดตามความคืบหน้าการเจรจานโยบายทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นปัจจัยความเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนติดตาม 

นอกจากนี้ ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ ภาวะเศรษฐกิจจีนที่ทยอยออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ นโยบายลดภาษีบุคคลธรรมดา การออกมาตรการกองทุนพยุงหุ้นของสมาคมหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้องของจีน ภาวะเศรษฐกิจของยุโรปโดยเฉพาะกรณีคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ประกาศไม่เห็นชอบร่างงบประมาณของรัฐบาลอิตาลี ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลงแม้ว่ามาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ซึ่งจะจำกัดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านเข้าสู่ตลาดน้ำมันดิบโลกก็ตาม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :