ไม่พบผลการค้นหา
กสทช. ให้ DTN และ AWN ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1800 MHz วันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 61 พร้อมทั้งผ่านร่างหลักเกณฑ์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ พร้อมนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ส.ค. 2561) ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบผลการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ตามข้อกำหนดในข้อ 7 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1740-1785/1835-1880 MHz ซึ่งจะจัดให้มีการประมูลในวันอาทิตย์ที่ 19 ส.ค. 2561 

โดยมีผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูล 2 ราย ได้แก่ 1) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด หรือ DTN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และ 2) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN ซึ่งเป็นบริษัทย่อยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส 

หลังจากนี้ในวันที่ 17 ส.ค. 2561 สำนักงาน กสทช. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงกระบวนการประมูลและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงเช้า ส่วนในช่วงบ่ายจะนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ที่ใช้ในการประมูล และสาธิตการใช้งานซอฟต์แวร์การประมูล เพื่อทำความคุ้นเคยกับระบบที่ใช้ในการประมูล รวมถึงตอบข้อซักถามต่างๆ เกี่ยวกับการประมูล

บอร์ดเห็นชอบร่างเกณฑ์เรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์

นายฐากร กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ยังมีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นและประเด็นปัญหาต่างๆ หลังจากรับฟังความคิดเห็นแล้วจะนำเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อหารือ ก่อนจะนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง 

สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศฉบับดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่นำกลับมาใช้ประโยชน์ด้วยการจัดสรรใหม่ได้ โดยคลื่นที่จะเรียกคืนมี 3 กรณี ได้แก่ 1. คลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ 2. คลื่นความถี่ที่ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า 3. คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น

ทั้งนี้ การเรียกคืนดังกล่าวไม่รวมถึงคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่ใช้ให้บริการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อยู่ในขณะนี้ 

สำหรับการดำเนินการตามประกาศฉบับนี้ ก่อนที่จะเรียกคืนคลื่นความถี่ให้สำนักงาน กสทช. จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้งานคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยประกอบด้วยรายละเอียด 6 ประการ ได้แก่ 1. วัตถุประสงค์ แนวทางการเรียกคืนคลื่นความถี่ ย่านความถี่ จำนวนคลื่นความถี่ที่จะเรียกคืน 2. ผู้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3. สถานะการถือครอง การใช้งานคลื่นความถี่ 4. ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี 5. กรอบระยะเวลาในการเรียกคืนและนำไปจัดสรรใหม่ และ 6. ประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการเรียกคืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ 

จากนั้นนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ว่าที่ประชุมเห็นชอบหรือไม่อย่างไร เมื่อที่ประชุมเห็นชอบแล้ว สำนักงาน กสทช. จะทำหนังสือแจ้งหน่วยราชการเจ้าของคลื่นความถี่ภายใน 7 วันว่า สำนักงาน กสทช. จะเรียกคืนคลื่นความถี่ นับแต่วันที่ กสทช. มีมติ โดยหน่วยงานเจ้าของคลื่นต้องมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่นทั้งหมดหรือบางส่วน พร้อมแจ้งแนวทางการคืนคลื่นและนำส่งเอกสารประกอบ หรือหนังสือปฏิเสธการคืนคลื่นความถี่ ต่อ กสทช. ภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งมติจาก กสทช. เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร ว่าเห็นด้วยทั้งหมด หรือจะเรียกคืนได้เท่าไหร่ เพื่อเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง 

ส่วนการประเมินมูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่ และการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจ้างสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยของรัฐอย่างน้อย 3 แห่ง เป็นผู้ประเมินเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กสทช. ซึ่งการพิจารณาการจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กสทช. จะคำนึงถึงสิทธิของผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยพิจารณาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

1.ข้อมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และข้อมูลการติดตามตรวจสอบการใช้คลื่นความถี่

2.ความเหมาะสมในการจัดหาคลื่นความถี่อื่นมาทดแทน

3.ระยะเวลาในการทดแทน แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินระยะเวลาตามสิทธิที่ได้รับอนุญาตเดิม

ทั้งนี้ การพิจารณาจ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่จะมีผู้แทนจาก 7 หน่วยงาน ได้แก่ 1.เลขาธิการ กสทช. หรือรองเลขาธิการ กสทช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธาน 2.ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง 3.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด 5.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 6.ผู้แทนจากสำนักงบประมาณ และ7.ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมพิจารณา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :