ไม่พบผลการค้นหา
ถึงชาตินิยมบนเวทีนางงามจะไม่ร้อนแรงเท่ากีฬา แต่ก็ไม่เคยหลีกเลี่ยงได้ คอลัมน์ประวัติศาสตร์ปากว่างวันนี้ ชวนแกะเปลือกชุดประจำชาติดูว่าอาเซียนร่วมรากวัฒนธรรมกันอย่างไร

ฉันไม่ใช่แฟนบอล แต่พอถึงการแข่งขันซีเกมส์ ฉันก็อดเชียร์บอลไทยไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงฉันจะไม่ใช่แฟนนาง แต่พอถึงฤดูกาลประกวด Miss Universe ฉันก็ต้องเชียร์นางงามไทย ถ้าบอกว่านี่เป็นเรื่อง “ชาตินิยม” แบบหนึ่ง ก็คงไม่ผิดนัก เพราะเอาเข้าจริงก็อยู่บนพื้นฐานง่ายๆ ว่าเราอยู่ประเทศไหน เราก็คงมีใจโน้มเอียงไปทางเพื่อนร่วมชาติ รู้สึกยินดีปรีดาถ้าตัวแทนบ้านเราจะเป็นผู้หญิงที่สวยที่สุดในจักรวาล

ถึงเรื่องชาตินิยมบนเวทีนางงามจะไม่ร้อนแรงเท่าการแข่งขันกีฬา แต่ฉันว่าในการประกวด Miss Universe ก็มีเรื่องทำนองนี้อยู่เหมือนกัน อย่างน้อยๆ ก็คือการพยายามใส่ความภาคภูมิใจลงไปใน “ชุดประจำชาติ” ต้นทุนทางประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ตำนาน ความเชื่อ ฯลฯ ถูกงัดมาใส่ในชุดแบบไม่มีใครยอมใคร

ซึ่งเรื่องนี้สนุกมาก เพราะถ้าดูให้ดีๆ ชุดประจำชาติแต่ละชุด กลับมีที่มาที่ไปสวนทางกับคำว่า “ชาตินิยม” เพราะมีการผสมกลมกลืนกันแบบไร้พรมแดน ยกตัวอย่าง เช่น ชุดเว่อร์วังมลังเมลืองของ “เมียนมา” ที่ใครจะรู้ว่าอาจเชื่อมโยงกับสยามบ้านเรา

ชุดอลังการดาวล้านดวงของเมียนมา อาจเชื่อมโยงกับวงมโหรีสมัยอยุธยา

เมียนมาเคยสร้างความตื่นตะลึงด้วยชุดหุ่นกระบอกที่ขนมาทั้งฉากเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้ชุดใหญ่โตอลังการไม่แพ้ปีก่อน เพราะได้แรงบันดาลใจจาก "วงไซน์ไวนย์" (Hsaing waing) (บ้างก็ออกเสียงว่า “แซงแวง”) หรือวงมโหรีท้องถิ่นพม่า

วงดนตรีนี้มีเอกลักษณ์เด่นที่เล่นทำนองโลดโผน เปลี่ยนจังหวะแบบทันทีทันใด และใช้เครื่องดนตรีประเภทฆ้องและกลองเป็นหลัก เด่นๆ คือ “ปัดไวนย์” (Pat waing) หรือกลองชุดหลายๆ ใบล้อมคอกเหมืองเปิงมาง และ “จีไวนย์” (Kyi waing) ฆ้องสัมฤทธิ์ขนาดเล็กในกรอบวงกลม ชุดประจำชาติของเมียนมาเลยนำเสนอค่อนข้างชัดเจน ด้วยการยกเอาปัดไวนย์มาทั้งชุด ตกแต่งด้วยไม้สัก กระเบื้องโมเสก เสริมลูกเล่นเริ่ดๆ ด้วยการประดับผ้าปักทอง

สิ่งที่น่าสนใจมันอยู่ตรงนี้จ้ะ เพราะแม้ต้นกำเนิดของวงไซน์ไวนย์จะไม่ชัดเจน แต่ “โรเบิร์ต การ์เฟียส” (Robert Garfias) นักดนตรีวิทยา และนักชาติพันธุ์วิทยาชาวอเมริกัน ก็บอกว่าวงมโหรีนี้มีหลักฐานชัดเจนที่สุดราวศตวรรษที่ 17 ตรงกับยุคราชวงศ์คองบอง สอดคล้องกับสงครามรบๆ พุ่งๆ ระหว่างกรุงศรีอยุธยาในช่วงนั้น นักดนตรีวิทยารายนี้บอกว่ามีความเป็นไปได้ ที่วงไซน์ไวนย์อาจรับรูปแบบกลอง-ฆ้อง และสไตล์การเล่นมาจากวงมโหรีของไทย ถึงตอนนี้จะฟังยังไงก็ไม่ค่อยคล้ายกันก็เหอะ


“เมขลาล่อแก้ว” ไทยมี กัมพูชาก็มี

เขียนถึงชุดประจำชาติทั้งที จะไม่เขียนถึงชุดบ้านเราก็กระไรอยู่ เพราะปีนี้ตัวแทนไทย “มารีญา พูลเลิศลาภ” คุมธีมด้วยเรื่อง “เมขลาล่อแก้ว” มีลูกเล่นชิคๆ เพราะไม่ได้ให้มารีญาเป็นนางเมขลา แต่รับบทเป็น “รามสูร” แล้วชักเชิดหุ่นเมขลาอีกที เรียกได้ว่าเล่นกับตัวเอง 2 บทในคนเดียว

บ้านเราค่อนข้างคุ้นเคยกับ “นางมณีเมขลา” จากทศชาติชาดกเรื่อง “พระมหาชนก” มีหลักฐานว่าผู้คนในสมัยอยุธยาเคารพนับถือนางในฐานะเทพธิดาผู้ดูแลท้องทะเล เช่น ใน “จดหมายเหตุโกศาปานไปฝรั่งเศส” ช่วงเรือสำเภาผจญคลื่นลม ยังมีการกล่าวอ้างบนบานถึงนางมณีเมขลาขอให้รอดปลอดภัย โดยความเชื่อยังต่อยอดสู่การแสดงทางนาฏศิลป์ นิยมแสดงระบำรามสูร-เมขลา เป็นการแสดงเบิกโรงตั้งแต่สมัยอยุธยา ขณะที่ในกัมพูชาออกชื่อเทพธิดาองค์นี้ว่า “เนียงเมคลา” (Neang Mekhala) มีการแสดงตามพื้นตำนานนี้เหมือนกัน โดยใช้สำหรับพิธีขอฝน แถมเรื่อง “มุนีเมคลา” ในกัมพูชายังเป็นเรื่องยอดนิยม ตีพิมพ์ทั้งในรูปแบบนิทาน หนังสืออ่านนอกเวลา เรียกได้ว่าผูกพันกับคนกัมพูชามากๆ 

ถ้าจะพูดคำเดิมๆ ก็อย่าเบื่อเลยละกัน ว่าประเทศแถบๆ บ้านเรา แลกรับปรับเปลี่ยนกันจนไม่มีพรมแดนด้านวิถีชีวิตวัฒนธรรม

และถึงจะบอกว่าการประกวดนางงามมีความเป็นชาตินิยมอยู่ไม่น้อย แต่ครั้งนี้ฉันก็ยังได้เห็น Comment จากเพื่อนบ้านประมาณว่า “Best of luck to miss Thailand. Fan from the Philippines bring home the crown to south east asia!”

รู้สึกว่าการเชียร์นางงามสนุกขึ้นเยอะ...





วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog