ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการ ชี้ภาคประชาสังคมบางส่วน ต้องทบทวนตัวเองที่หนุนอำนาจรวมศูนย์ พร้อมยืนยันว่าประชารัฐไม่ใช่ประชาสังคม

สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสัมมนา “การสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยในบทเรียนและประสบการณ์ของภาคประชาสังคม” มีนักวิชาการนำเสนอหลายบทความที่เกี่ยวข้อง

โดยรองศาสตราจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอ “การเคลื่อนสู่การเมืองเชิงสถาบันที่ไร้ประชาชน?” ระบุว่า ภาคประชาชนเฟื่องฟูช่วงปี 2530 ถึง 2540 มีลักษณะเป็นสถาบันไม่เป็นทางการ และไม่ให้ความสำคัญกับสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ ทำให้การผลักดันประเด็นต่างๆไม่บรรลุผล

เพราะสถาบันทางการล้วนหลุดลอยหรือไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมถึงสถาบันศาลและองค์กรอิสระต่างๆหลังปี 2540 แม้มีตัวแทนภาคประชาชนเข้าไปทำงานในหน่วยงานทางการบ้างแต่ไม่สามารถกำหนดอะไรได้ โดยเสนอให้ออกแบบโครงสร้างสถาบันทางการที่สัมพันธ์กับภาคประชาชน ให้สถาบันไม่ทางการของภาคประชาชนมีนัยและความหมายต่อการเปลี่ยนแปลงสถาบันการเมืองทางการด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์นฤมล ทับจุมพล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอบทความ 2 ทศวรรษการเมืองภาคประชาสังคมในบริบทที่เปลี่ยนแปลง กับประชาธิปไตยและรัฐอำนาจนิยมแบบไทย โดยยืนยันว่ารัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด สัมพันธ์และส่งทอดกันหรือเป็นรัฐประหาร 2 พี่น้อง ที่ทำให้ไทยถดถอยจากระบบรัฐสภาสู่การปกครองแบบอำนาจนิยมอย่างชัดเจน 

โดยคนในภาคประชาสังคมที่สนับสนุนรัฐประหารเข้าไปมีบทบาทและตำแหน่งทางการ มีการขยายและสนับสนุนการใช้อำนาจพิเศษ มีรูปแบบการเมืองรวมศูนย์ ที่ฐานความชอบธรรมมาจากความรู้สึกส่วนตัว มีการจำกัดเสรีภาพ และการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารต่างๆไม่เกี่ยวข้องกับประชาชน ซึ่งภาคประชาสังคมต้องทบทวนตัวเองว่า มีส่วนสร้างหรือว่าฉุดรั้งประชาธิปไตยกันแน่

พร้อมย้ำว่า โครงการประชารัฐ ไม่ใช่ประชาสังคม แต่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีบทบาทสูง ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่พื้นที่ไม่ติดชายฝั่งอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไปอยู่ชายแดน เพราะต้องการแรงงานข้ามชาติราคาถูกสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น จึงเป็นคำถามว่า ใครจะเป็นผู้มีความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ใต้ทิศทางเช่นนี้ 

ด้านรองศาสตราจารย์ ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี นำเสนอ“การสร้างประชาธิปไตยชุมชน : บทเรียนการขับเคลื่อนขบวนสภาองค์กรชุมชน” โดยกล่าวถึงการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ตามพระราชบัญญัติปี 2551 ซึ่งเป็นสถาบันทางการว่า ปัจจุบันมีสภาใน 7,825 ตำบล มีกลุ่มองค์กรชุมชนที่จดแจ้ง 139,464 องค์กร สมาชิก 223,470 คนทุกภูมิภาคทั่วประเทศ บุคลากรมีจาก 3 กลุ่มคือ ตัวแทนองค์กรภาคสังคม , ผู้นำองค์กรปกครองท้องถิ่นและกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือแนวทางที่ดีในการสร้างประชาธิปไตยในระดับชุมชน มีพันธกิจทั้งระดมปัญหา รวมถึงผลักดันส่งเสริมและติดตามนโยบายสาธารณะระดับท้องถิ่นด้วย 

อย่างไรก็ตาม ส่วนนี้ยังอยู่ในภาวะ ที่จะพิจน์ว่าเป็นสภาองค์กรชุมชนของรัฐหรือของประชาชน เนื่องจากต้องประณีประนอมกับองค์กรทางการอื่นๆโดยเฉพาะการหวังพึ่งงบประมาณ ทำให้มีการทำงานเหมือนระบบราชการ เน้นงานโครงการตามวาระและจัดเวทีประชุมเท่านั้น พร้อมเสนอให้มุ่งเน้นปัญหาสาธารณะ , กลับสู่หรือฟื้นฟูความเข้มแข็งแบบชุมชนนิยมและสุดท้ายคือ ต้องมีลักษณะขบวนการที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยรากฐาน , ปฏิรูปการเมืองจากล่างสู่บนและเชื่อมประชาธิปไตยทางตรงเข้ากับประชาธิปไตยแบบตัวแทน

ส่วนรองศาสตราจารย์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอ “การเมืองบนท้องถนนบนเส้นทางการสร้างและจรรโลงประชาธิปไตยไทย” ว่า ประชาสังคมไทยแบ่งเป็น 2 สายคืองานเย็นกับงานร้อน ซึ่งงานเย็น คือ แนววัฒนธรรมชุมชนหรือชุมชนนิยม ที่มุ่งสร้างองค์กรชาวบ้าน แก้ปัญหาปากท้อง และจัดการทรัพยากร รวมถึงทางเลือกการพัฒนา โดยหวังถ่ายโอนอำยาจรัฐคืนสู่ชุมชน ซึ่งมีคุณค่าในการสร้างประชาธิปไตยระดับชุมชน ส่วนการเคลื่อนไหวที่นำอำนาจกลับไปรวมศูนย์ ต้องทบทวน

ส่วนงานร้อน คือ พื้นที่กรณีปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวการเมืองท้องถนนของชาวบ้าน แต่การผลักดันนโยยายหรือเข้าขื่อเสนอกฎหมายยังถูกจำกัด โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ไม่ให้ความสำคัญกับภาคประขาสังคมและจำกัดสิทธิ์การรวมตัวของประชาชนด้วย พร้อมเสนอให้ภาคประชาสังคม กลับสู่เส้นทางที่มุ่งถ่ายโอนอำนาจสู่คนข้างล่างอย่างแท้จริง