ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบน พรุ่งนี้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฟ้าผ่า เตือนประชาชนเลี่ยงอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่

นายวันชัย ศักดิ์อุดมไชย อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยประกาศกรมอุตุฯ ฉบับที่ 10 เรื่องพายุฤดูร้อนบริเวณประเทศไทยตอนบนว่า ในวันพรุ่งนี้ (16 เม.ย.) บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่ 

ส่วนภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะได้รับผลกระทบด้วย ดังนั้น จึงขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง รวมถึงระวังอันตรายจากฟ้าผ่า สำหรับเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 16-17 เม.ย. 2561 จังหวัดที่จะได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน 

ภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร ตาก และเพชรบูรณ์ 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ และบุรีรัมย์ 

ภาคตะวันออก ได้แก่ นครนายก ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคกลาง ได้แก่ นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ทั้งนี้ เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ทำให้บริเวณดังกล่าวจะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฟ้าผ่าและลูกเห็บตกบางพื้นที่ 

สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 17-19 เม.ย. 2561 ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยบริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังไว้ด้วย จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ปภ.เตรียมรับมือพายุฤดูร้อนในพื้นที่เสี่ยง

ด้านนายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 13 - 15 เม.ย. 2561 มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัย 4 จังหวัด 8 อำเภอ 15 ตำบล 40 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 192 หลัง แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.เลย เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอเมืองเลย รวม 5 ตำบล 23 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 117 หลัง นครราชสีมา เกิดวาตภัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจักราช อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอโนนสูง และอำเภอประทาย รวม 7 ตำบล 12 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 54 หลัง สุรินทร์ เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอจอมพระ รวม 2 ตำบล 4 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 17 หลัง ภาคเหนือ 1 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เกิดวาตภัยในพื้นที่อำเภอดงเจริญ รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 4 หลัง 

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฤดูร้อนระหว่างวันที่ 15-18 เม.ย. ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศ โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้

พร้อมทั้ง แจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง ���พื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย